|
COBRA GOLD ปฏิบัติการสะท้านฟ้า
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
“ท่านผู้บังคับบัญชาและท่านผู้มีเกียรติทุกท่านขอต้อนรับด้วยความอบอุ่นสู่หาดเทพา ในการสาธิตการดำเนินกลยุทธ์ร่วม/ผสมและในโอกาสนี้ ขอต้อนรับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพณฯ อัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยด้วยความจริงใจ”
สิ้นเสียงห้าวหาญผ่านเครื่องกระจายเสียงเชิญชมการสาธิตฝึกยกพลขึ้นบกภายใต้รหัส “คอบร้า โกลด์” (COBRA BOLD) ครั้งที่ 15 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพื่อนพันธมิตรสหรัฐฯ นำมาร่วมฝึกกับของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศและนาวิกโยธิน องค์ประกอบสำคัญของการฝึกร่วม/ผสมที่สามารถปฏิบัติการโจมตีได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง อันแสดงให้เห็นถึงการบรรลุจุดสุดยอดในการฝึกอาวุธและความชำนาญของกองทัพไทยและกองทัพสหรัฐฯ ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผนอย่างประสานสอดคล้องตลอดจนความพรั่งพร้อมของกำลังรบและความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน
ในการสาธิตการฝึกนี้ได้ชมการจัดกำลังรบที่ใช้กำลังพลฝ่ายไทยถึง 10,000 คน เรือ 17 ลำอากาศยาน 27 เครื่อง ฝ่ายสหรัฐฯ 9,000 คนเรือ 13 ลำ อากาศยาน 41 เครื่องเพื่อปฏิบัติการในส่วนต่างๆได้แก่ส่วนจัดเตรียมสนามรบ ส่วนปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ส่วนปฏิบัติการส่งกำลังทางอากาศเข้าปฏิบัติการรบภายใต้สถานการณ์ที่สมมติขึ้นเพื่อยึดที่หมายของกองกำลังฝึก/ร่วมบริเวณหาดเทพา
ทางด้านเนินขาขวามือสมมติให้เป็นที่หมายของกองกำลังร่วม/ผสม ส่วนบริเวณโล่งเป็นเขตทิ้งลงของกำลังทางอากาศและเป็นจุดกำหนดการบินหาข่าวด้วยเครื่องบินแบบอีพี-3 “ORION”
ของสหรัฐฯ บินเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการจากทางทิศเหนือ
ในขณะเดียวกันเครื่องบินแบบพี 3 “Orion” จากกองทัพเรือไทยเคลื่อนที่ติดตามมา โดยได้รับมอบภารกิจที่แตกต่างกันออกไปเพื่อค้นหาส่วนแยกปฏิบัติการในทะเลของฝ่ายข้าศึก
และเพื่อประกันความสำเร็จในภารกิจของเครื่อง P-3 เครื่องบินคุ้มกันแบบ F 16 “FALCONS” ที่มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง ติดตั้งไว้ด้วยจรวดอากาศ-สู้-อากาศ AIM 9 “SIDEWINDER” เป็นจรวดที่มีความเหมาะสมต่อภารกิจในการครองอากาศก็เข้ามาเสริม
ขณะที่กำลังชมอยู่เพลินๆ เครื่องบิน F/A-18 A “HORNET” ของนาวิกโยธินอเมริกาซึ่งสมมติเป็นเครื่องบินสกัดกั้นของฝ่ายตรงข้าม เข้าทำการรบกวนการปฏิบัติของฝ่ายพันธมิตร
หลังจากฝ่ายพันธมิตรครองอากาศได้แล้ว ทางบริเวณแนวขอบฟ้าเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-1-B “LANCER” กำลังโจมตีที่หมาย เครื่องบินแบบนี้สามารถบรรทุกระเบิดน้ำหนัก 42,000 ปอนด์ได้สบายด้วยพิกัดความเร็วสองเท่าความเร็วเหนือเสียงและบินในขณะปล่อยอาวุธนำวิถีได้ในระดับความสูง 1,000 เมตรนับเป็นเครื่องบินรบลำมหึมาที่แม้จะแค่โฉบผ่านไปอย่างช้าๆก็ส่งเสียงคำรามกึกก้องน่านน้ำไทยจนนายทหารสหรัฐฯ บางคนต้องยกมืออุดหูขณะที่พญาอินทรีเหล็ก B-18 บินเหนือศีรษะ
ทางทะเลก็จะเห็นหน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือในชื่อ “SEAL” กำลังดำเนินกลยุทธ์เข้าสู่ฝั่ง โดยเรือยางความเร็วสูง “CRRC” ติดท้ายขนาด 55 แรงม้า
ขณะที่บนท้องฟ้าจะเห็นเฮลิคอปเตอร์แบบ CH 53 ลำเลียงชุดปฏิบัติการพิเศษผสมจากหน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ ทำการโดดร่มในลักษณะกระโดดสูงแต่เปิดร่มในระดับต่ำสู่ที่หมายเพื่อแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธีที่เรียกว่า “HALO”
นอกจากการปฏิบัติการรบแล้ว ทางราชนาวีสหรัฐฯยังนำเฮลิคอปเตอร์ “SEAHAWK” มาปฏิบัติการบินสนับสนุนภารกิจปฏิบัติการจิตวิทยา โดยการโปรยใบปลิวเหนือพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆกับบินกระจายเสียงมุ่งหวังให้กำลังฝ่ายตรงข้ามเสียขวัญหรือยอมจำนน
การสาธิตฝึกยกพลขึ้นบก (COBRA GOLD) ครั้งที่ 15 นี้มีการปฏิบัติการร่วมกันล้วนน่าชมกว่า 20 รายการนอกเหนือจากภารกิจที่เรียกว่า “การครองอากาศ” และการโจมตีทางอากาศ (AIR STRIKE) แล้วยังมีการปฏิบัติการยุทธเคลื่อนที่ทางอากาศเพื่อการสนับสนุนโดยเครื่องบินL-39 “ALBATROSS” ตอนนี้ทำหน้าที่ตอบสนองตามคำขอให้การสนับสนุนทางอากาศในขณะที่ในทะเลจะเห็นกำลังรบยกพลขึ้นบก เคลื่อนที่เข้าฝั่งซึ่งเป็นช่วงวิกฤต เครื่องบินโจมตีแบบ A-7 “COR SAIRS” ของทหารเรือไทยเปิดโจมตีด้วยอาวุธปืนกลอากาศต่อเป้าหมาย
บัดนี้เครื่องบิน AV-8 B “HARRIERS” ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะสามารถขึ้น-ลงในแนวดิ่งปฏิบัติงานบนเรือยกพลขึ้นบก มีกำลังไว้ใช้แม้ในยามจำกัดเรือบรรทุกเครื่องบินหรือสนามบินบินเข้าหาเป้าหมายมาแสดงวันนี้เรียกเสียงปรบขมือจากผู้ชมด้วยการผงกหัว ทำความเคารพวี ไอ พีที่นั่งชมอยู่ก่อนเชิดหัวบินกลับฐาน
แม้การสาธิตการปฏิบัติการร่วมกันในครั้งนี้จะไม่มีการใช้กระสุนจริง แต่ก็แสดงได้สมจริงอาจเป็นประจักษ์พยานให้มั่นใจถึงขีดความสามารถและสมรรถนะของอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองกำลังทั้งสองประเทศตลอดจนความพร้อมในการปฏิบัติการยุทธร่วม/ผสมและที่สำคัญยิ่งย่อมเป็นสิ่งยืนยันในความสัมพันธ์อันดีของสองประเทศสืบต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|