ลูกพระอาทิตย์ฮิต ชอปปิ้งทางไปรษณีย์


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมาการชอปปิ้งผ่านทางไปรษณีย์หรือ MAIL-ORDER SHOPPING เรียกได้ว่าค่อนข้างบูมในแดนอาทิตย์อุทัย เห็นได้จากตัวเลขยอดขายที่พุ่งขึ้นเป็นเลข 2 หลักต่อปีจนถึงช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่ค่อยๆตกลงหลังเกิดภาวะล่มสบายของเศรษฐกิจถดถอยกระนั้นอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ยังคงสามารถสร้างรายได้ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยล่าสุดคือปี 1994 ยอดขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2 ล้านล้านเยนหรือ 19,000 ล้านดอลลาร์

เหล่าลูกค้าชาวซามูไรที่สั่งสินค้าแบบเมล-ออร์เดอร์ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปีโดยสินค้าที่ขายดีที่สุดคือเสื้อผ้าตามด้วยเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีชิ้นส่วนประกอบต่างๆจนถึงผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะขายผ่านทางแคตาล็อก ใบแทรกในหนังสือพิมพ์ โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสารและทางทีวี

ในสหรัฐฯและยุโรปลูกค้าจะใช้วิธีจ่ายเงินล่วงหน้าผ่านทางเครดิตการ์ด หรือไม่ก็ส่งเป็นเช็ค แต่สำหรับที่ญี่ปุ่นวิธีการดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมมากที่ฮิตก็คือการจ่ายเงินการจ่ายเงินสดเมื่อสินค้ามาถึง หรือไม่ก็จ่ายตามเอกสารบัญชีแสดงรายการสินค้าและราคาที่ซื้อขาย ซึ่งผู้ขายจะเป็นผู้จัดทำและส่งให้ผู้ซื้อเนื่องจากผู้บริโภคญี่ปุ่น มักรู้สึกกังวลต่อการจ่ายเงินล่วงหน้า แม้ภายหลังจากรับสินค้าแล้วก็ตาม ส่วนการไม่ยอมจ่ายเงินเป็นปัญหาที่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างทางสังคมถือว่าเป็นหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้การชอปปิ้งผ่านทางไปรษณีย์โตขึ้นตามประเพณีปฏิบัติ ผู้หญิงซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการซื้อของใช้ในครัวเรือน มาตอนนี้ต้องรับภาระหนักขึ้นไหนจะเรื่องงาน เรื่องเรียน ดังนั้นจึงแทบไม่มีเวลาเหลือสำหรับการชอปปิ้ง พวกเธอจึงหันมาดูแคตาล็อกสั่งซื้อสินค้าแทนเพื่อประหยัดเวลา

ปัจจุบัน มุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อการชอปปิ้งประเภทนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่พวกเขามองว่าสินค้าที่ขายผ่านทางไปรษณีย์นั้นเป็นสินค้าชั้นเลว แต่ทว่าบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยการสร้างจรรยาบรรณทางธุรกิจ โดยใช้วิธีจัดตั้งระบบการส่งคืนสินค้าและยอมรับจัดการกับปัญหาการร้องเรียนของลูกค้าทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น

การสรรค์สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรกสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจระบบการส่งสินค้าถึงบ้านสามารถครอบคลุมได้ทั่วเกาะ โดยสินค้าจะมาถึงประตูบ้านลูกค้าภายในระยะเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนลูกค้าเพียงแค่แจ้งชื่อหมายเลขโทรศัพท์ และที่อยู่เท่านั้น หลังจากนั้น ประวัติการซื้อสินค้าก็จะปรากฎขึ้นบนหน้าจอ รวมทั้งสต็อกออร์เดอร์สินค้าก็จะปรากฎขึ้นเช่นกัน

ในญี่ปุ่น ไม่มีการตั้งข้อจำกัดในเรื่องการทำธุรกิจดังกล่าว ทุกคนสามารถตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจเมล-ออร์เดอร์ได้รวมทั้งต่างชาติก็ไม่ยกเว้นอย่างไรก็ตามได้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมเช่นกัน อย่างเช่นสั่งปรับบริษัทที่โฆษณาสินค้าเท็จหรือเกินความเป็นจริง

ธุรกิจที่ว่ามีแนวโน้มจะไปได้สวยในอนาคต เหตุผลหลักข้อหนึ่งก็เพราะคนญี่ปุ่นที่สูงอายุเริ่มมีจำนวนมากขึ้นและเนื่องเพราะกำลังวังชาในการเคลื่อนไหว เริ่มหดน้อยถอยลงทำให้การเดินทางออกจากบ้านกลายเป็นเรื่องยากลำยาก พวกเขาจึงหันมาสนใจการซื้อสินค้าโดยใช้วิธีดังกล่าวและกลายเป็นแรงผลักดันหลักเร่งให้ธุรกิจขยายตัวขึ้น ทั้งยังจะมีบทบาทเป็นนักชอปปิ้งผ่านทางเมล-ออร์เดอร์ที่สำคัญในอนาคต แต่พวกเขาจะไม่ซื้อสินค้าหากยังไม่ได้เห็นหรือสัมผัสตัวสินค้ารวมทั้งนำไปเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ บรรดาคนพิการก็จะเป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่หันมาใช้บริการมากขึ้นเนื่องจากความไว้วางใจในอุตสาหกรรมดังกล่าวเริ่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกเหนือจากการใช้สื่อแบบที่เห็นทั่วไปในปัจจุบันการริเริ่มใช้สื่อประเภทมัลติมีเดียก็กำลังกลายเป็นที่นิยมในการโปรโมตการชอปปิ้งผ่านทางเมล-ออร์เดอร์ ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าผ่านจอคอมพิวเตอร์ ทั้งยังสามารถจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการชอปปิ้งผ่านระบบมัลติมีเดียออนไลน์นี้จะเป็นหนทางนำไปสู่การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพราะการออกแคตาล็อกทำให้บริษัทต้องเสียเงินไปกับค่ากระดาษค่าพิมพ์รวมทั้งต้นทุนค่าส่งการส่งสินค้าที่ถูกลงย่อมหมายความว่ายอดขายจะกระโดดขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ส่วนแบ่งของการชอปปิ้งทางไปรษณีย์ในอุตสาหกรรมค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวในท้ายที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.