|
หมากฝรั่งลด (รส) บุหรี่
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ในบรรดาคอนซูเมอร์โปรดักส์ประเภทต่างๆในสหรัฐฯ หมากฝรั่งรสมินต์ดูจะมีโอกาสสูญพันธุ์มากกว่าใครเพื่อน ค่าที่ราคาเฉียด 50 เซ็นต์แต่กลับเคี้ยวได้ไม่กี่ทีก็หมดรส แต่แปลกที่สมิธไคลน์บีแซมกลับตัดสินใจลงเดิมพันในตลาดนี้ ทว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ใช่แค่หมากฝรั่งธรรมดาแต่เป็นหมากฝรั่งอดบุหรี่ชื่อยั่วน้ำลายสิงห์อมควันว่า “นิโคแลตต์” ซึ่งออกวางตลาดตามร้านขายยาในสหรัฐฯ ในฐานะยาสามัญประจำบ้านตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน
“กลุ่มเป้าหมายของเราคือพวกสิงห์อมควันที่มีอยู่ทั่วทุกแห่ง” จอห์น เอส. ซีกเลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่สมิธไคลน์กล่าว โดยสมิธไคลน์เดินแผนแรกด้วยแคมเปญช่วยเหลือผู้ที่อยากหันหลังให้บุหรี่มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์มีทั้งโฆษณาทางทีวีและหากปลายปีนี้คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ออกใบรับรองให้พลชาสเตอร์นิโคตินช่วยลดบุหรี่ของบริษัทเป็นยาสามัญประจำบ้านตามที่สมิธไคลน์คาดหวังไว้จริงบริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำแห่งนี้ก็จะนำพลาสเตอรี่ว่าไปโฆษณาทางจอตู้ร่วมกับนิโคแลตต์ด้วย
ทางด้านกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่ต่างเอาใจช่วยให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ของสมิธไคลน์ชนะใจสิงห์อมควันที่ต้องการเลิกบุหรี่ซึ่งถือเป็นงานที่ยากพอดู ดังจะเห็นได้จากยอดขายพลาสเตอร์เลิกบุหรี่ที่ร่วงจาก 300 ล้านดอลลาร์ในปี 1992 มาอยู่ที่ 136 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากมีผู้ไม่ประสงค์ดีโฆษณาชวนเชื่อว่าผู้ใช้อาจเลิกบุหรี่ได้จริงแต่จะหันมาติดพลาสเตอร์เหล่านี้แทน แถมแพทย์ยังไม่ให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่ประกอบการใช้ด้วย
อย่างไรก็ดี ตามรายงานของสมาคมปอดแห่งอเมริกากล่าวว่า ในบรรดาผู้สูบบุหรี่ 46 ล้านคนในสหรัฐฯนั้นมีถึง 70% ที่แสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการเลิกพฤติกรรมการอมควันทั้งยังบอกอีกว่าผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยอดบุหรี่ประสบความสำเร็จมากว่าผู้ที่อดด้วยตัวเองถึง 2 เท่า แต่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ต้องการไปขอความช่วยเหลือจากแพทย์
สมิธไคลน์จึงหวังว่าจะจับคอบุหรี่เหล่านี้ได้อย่างน้อยสัก 23 ล้านคนโดยเริ่มแรกบริษัทจะวางตลาดนิโคแลตต์ขนาด 108 ชิ้นใช้ได้ 2 สัปดาห์ในราคา 50 ดอลลาร์หรือถูกกว่าหมากฝรั่งเลิกบุหรี่ยี่ห้ออื่นที่ต้องมีใบสั่งซื้อจากหมอถึง 75% ซึ่งจะทำให้ยอดขายนิโคแลตต์พุ่งพรวดขึ้น 4 เท่าเป็น 330 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า
แต่ปัญหาก็คือ ถ้านิโคแลตต์ล้มเหลวเหมือนพลาสเตอร์เลิกบุหรี่ล่ะ? สมิธไคลน์เตรียมการณ์ไว้เรียบร้อยแล้วโดยการพ่วงนิโคแลตต์เข้ากับโครงการให้การศึกษาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ ซึ่งมีทั้งการเผยแพร่ทางทีวี ออดิโอเทปและคู่มือแนะนำ ทั้งนี้ผู้สูบบุหรี่จะต้องส่งรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบไปให้ จากนั้นบริษัทก็จะจัดส่งคำแนะนำพร้อมหมายเลขโทรฟรีเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม สมิธไคลน์ยังเจาะเข้าไปให้คำแนะนำในเว็บตามสมัยนิยม ผู้ที่สนใจเปิดเข้าไปอ่านได้จากแอดเดรสดังนี้ http:\\www.nicorette.com.
ทั้งนี้ คุณสมบัติของนิโคแลตต์คือ มีนิโคนิตอยู่ 2-4 มิลลิกรัมพอๆกับในบุหรี่ 1 มวนช่วยอาการ “อยาก” บุหรี่ได้ แต่ว่านิโคตินในนิโคแลตต์จะซึมเข้าสู่เส้นเลือดโดยตรงไม่สร้างความรู้สึกพึงใจเหมือนกับการสูบบุหรี่ที่นิโคตินจะพลุ่งพล่านขึ้นสู่สมองภายในชั่วเวลาที่หัวใจเต้น 5 ครั้ง
นอกจากสมิธไคลน์แล้วแมคนีล คอนซูเมอร์ โปรดักท์เป็นอีกรายที่คิดจะลองของในตลาดนี้ด้วยการส่งสเปรย์นิโคตินชนิดใหม่ชื่อว่า “นิคาทรอล” ลงสู้ศึก โดยผู้ใช้จะสามารถสูดนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้เพียง 0.5 มิลลิกรัมทุกครั้งที่หายใจสูดนิคาทรอลเข้าไป 1 อึก ทว่าผู้ซื้อจะต้องมีใบสั่งของแพทย์ไปยืนยันกับทางร้านขายยาถึงจะได้ลิ้มลองสเปรย์ยี่ห้อนี้ เอฟดีเอยังออกมากำชับว่าหากใช้สเปรย์นี้เกิน 40 มิลลิกรัมจะเป็นอันตราย และถ้าใช้ติดต่อกันเกิน 3 เดือนอาจเกิดอาการติดและเนื้อเยื่อในจมูกอักเสบได้
แต่ขณะที่เอฟดีเอและบริษัทเวชภัณฑ์ขวนขวายส่งผลิตภัณฑ์เลิกบุหรี่ลงตลาดกันอย่างคึกคัก ทางด้านผลิตบุหรี่กลับพยายามพลิกแพลงสถานการณ์หลบหลีกข้อกล่าวหาและกระแสต่อต้าน ตัวอย่างที่เห็นตำตาที่สุดคือ อาร์เจอาร์ นาบิสโกเจ้าของบุหรี่วินสตันและคาเมลที่เปิดตัวบุหรี่ไร้ควัน “อีคลิปส์” ไปแล้วอย่างหน้าชื่นตาบาน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|