|
ยุทธการลอกคราบนกยักษ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
เชื่อไหมว่าวันนี้คุณสามารถทำธุรกิจสายการบินได้โดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของเครื่องบินแม้แต่ลำเดียวหรือแม้แต่อะไหล่และหน่วยซ่อมบำรุง เพราะไอร่าอิคเนอร์และเอเออาร์ของเขาจะช่วยคุณเอง
สายการบินของคุณกำลังต้องการเครื่องโบอิ้ง 747 ไปเสริมเที่ยวบินสู่ยุโรปในช่วงซัมเมอร์หรือเปล่า? ลองปรึกษาอิคเนอร์ดู เขาอาจจะมีเครื่องบินสักลำหรือกำลังจะมีเครื่องบินที่จะหมดสัญญาเช่าพอดี หรือว่าต้องการอะไหล่ เอเออาร์ของอิคเนอร์ก็มีเหมือนกัน
ช่วง 12 เดือนล่าสุดกำไรสุทธิของเอเออาร์พุ่งพรวด 55% เป็น 14.5 ล้านดอลลาร์จากรายได้ประมาณ 500 ล้านเหรียญแม้แต่ช่วงที่ลูกค้าของเขากระอักจากพิษราคาเชื้อเพลิงถีบตัวสูงขึ้นและสงครามราคาเอเออาร์ของอิคเนอร์ก็ยังฟันกำไรได้ตามปกติ
วันๆอิคเนอร์ยุ่งอยู่กับการโทรศัพท์เรื่องซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนและให้เช่าเครื่องบินจนแทบจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น เขาบอกว่านี่เป็นธุรกิจที่สิทธิในการซื้อถือเป็นสิ่งสำคัญสุดยอด
3 ปีก่อนผู้จัดการสายการบินคนหนึ่งมาเลียบๆเคียงๆในสำนักงานของเอเออาร์เพื่อหาซื้อเกียร์ลงจอดมือสองแล้วเขาก็ได้สิ่งที่ต้องการไปในราคาเพียง 3 ล้านดอลลาร์หรือครึ่งหนึ่งของราคาเกียร์ใหม่ถอดด้าม
ปัจจุบัน อิคเนอร์แปลงสภาพเอเออาร์จากเทรดเดอร์เข้าสู่ธุรกิจบริหารคลังสินค้าหลังจากที่พบว่าสายการบินมากมายกำลังเจริญรอยตามเซาธ์เวสต์แอร์ไลน์ และซัปพลายเออร์อิสระที่ต่างประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการหั่นต้นทุน
วิธีการก็คือ เอเออาร์จะซื้ออะไหล่สำรองในโกดังของลุฟท์ฮันซ่าและซาบีน่า เพื่อมาเก็บไว้ในโกดังของตัวเอง จากนั้นก็หาสายการบินที่ต้องการซื้ออะไหล่มารับช่วงต่อ บริการของเอเออาร์ทำให้แผนกยกเครื่องยนต์เครื่องบินของเจเนอรัล อิเล็กทริกในเวลล์ทุ่นค่าใช้จ่ายด้านอะไหล่ลงได้ถึงปีละ 1 ล้านดอลลาร์และยังประหยัดเวลาในการหาซัปพลายเออร์ลงไปได้อีกครึ่งหนึ่ง
และเมื่อไม่นานมานี้ เอเออาร์ก็เพิ่งเซ็นสัญญาระยะ 2 ปีมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์กับนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์เพื่อป้อนอะไหล่และเปลี่ยนชิ้นส่วนบางชิ้นในฝูงบินดีซี-9 ที่สายการบินเพิ่งซื้อเข้ามา
อิคเนอร์บอกว่าธุรกิจนี้ยังมีช่องทางอีกมาก ตลาดอะไหล่เครื่องบินมีมูลค่าถึง 25,000 ล้านดอลลาร์และ 80% ตกเป็นของสายการบินอย่างไรก็ดีมีการประเมินว่าแต่ละปีสายการบินใช้อะไหล่เพียง 6,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น และหากมีการลดอะไหล่ในโกดังลง 25% จะทำให้สายการบินประหยัดต้นทุนลงได้ถึงเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมนี้ที่เมื่อปีที่แล้วมีกำไรเพียง 1,500 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
สำหรับเอเออาร์นั้น เมื่อแรกก้าวสู่ธุรกิจนี้ในช่วงปลายทศวรรษที่แล้วในฐานะเทรดเดอร์ มีส่วนต่างกำไรสุทธิ 6% แต่วันนี้ เอเออาร์ยอมให้ตัวเลขดังกล่าวหดเหลือเพียง 3% เพื่อแลกกับข้อตกลงบริหารคลังสินค้าระยะยาว แต่ตอนที่ธุรกิจสายการบินตกต่ำในช่วงต้นทศวรรษนี้ รายได้ของเอเออาร์ลดลงจาก 467 ล้านดอลลาร์มาอยู่ที่ 383 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาแค่ 2 ปี
ความสำเร็จของเอเออาร์มาจากประสบการณ์วัยหนุ่มของอิคเนอร์โดยแท้ ตอนนั้นเขายังมักน้อยหาช่องซื้ออะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาขายให้กับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยด้วยกันจนกลางทศวรรษ 1950 อิคเนอร์จึงเข้าสู่ธุรกิจเครื่องบินแต่ก็ยังจับแค่ชิ้นส่วนเล็กๆอย่างวิทยุประจำเครื่องในเครื่องบินทหาร โดยขณะนั้นเครื่องบินเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินกองเกินของกลาโหม
ปี 1955 อิคเนอร์ก่อตั้งอัลเลน แอร์คราฟท์ เรดิโอ (อัลเลนคือชื่อกลางของเขา) จากวิทยุ เขาขยายไปสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกสำหรับการบินชนิดอื่นที่ใหญ่ขึ้นไป ก่อนจะยกระดับไปค้าขายเครื่องบินทั้งลำ
ณ วันนี้อิคเนอร์มองเห็นแนวโน้มของการรวมตัวในหมู่สายการบินมากขึ้นโดยเฉพาะสายการบินในยุโรปและละตินอเมริกา นำโอกาสใหม่ๆให้แก่เทรดเดอร์อย่างเอเออาร์เพราะหลังการผนวกมักจะมีการมองหาซัปพลายเออร์อิสระเพื่อเซฟต้นทุน
เขายกตัวอย่างเฮิร์บ เคลเลเฮอร์ (นายใหญ่เซาธ์เวสต์)ที่ริเริ่มแนวทางดังกล่าวขึ้นมาตอนนี้เขามีเครื่องบินเพียงลำเดียวคือโบอิ้ง 737 และไม่มีปัญหาเรื่องเคาน์เตอร์ขายตั๋วเหมืนกับสายการบินอื่นๆเซาธ์เวสต์ยังไม่มีหน่วยเทคนิคของตัวเอง สิ่งที่เคลเลเฮอร์ทำคือ บินรับ-ส่งผู้โดยสารจากสถานที่หนึ่งไปยับงอีกสถานที่หนึ่งเท่านั้น เขาอาจจะประสบความสำเร็จเพราะเป็นสายการบินที่เพิ่งตั้งไข่ไม่ใช่หน้าเก่าอย่างเดลต้า,ยูไนเต็ดหรืออเมริกัน แอร์ไลน์ที่ไม่อาจทำเช่นนั้นได้ เพราะติดอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานนับแต่ที่พวกเขาก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แถมยังมีสหภาพพนักงานที่คอยขัดขวางไม่ให้ทำในสิ่งที่เคลเลเฮอร์ทำ
สายการบินในวันนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีเครื่องบินของตัวเองแม้แต่สักลำดังจะเห็นได้จาก 65% ของเครื่องบินทั้งหมดที่ให้บริการอยู่ทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องที่เช่ามาทั้งสิ้นและอิคเนอร์ก็อยู่ในธุรกิจนี้เมื่อเร็วๆนี้ เขาเพิ่งซื้อเครื่องโบอิ้ง 737 มา 200 ลำและกำลังเตรียมจะปล่อยออกไปเขาอาจหาทางขายมันให้กับสายการบินหน้าใหม่หมาดๆหรือให้สายการบินที่ต้องการขยายเส้นทางบินเช่า แต่ถึงจะล้มเหลวทั้ง 2 อย่างอิคเนอร์ก็ยังมีทางดิ้นต่อไป
“ความหมายของเครื่องบินก็คือ ชิ้นส่วนกองมโหฬารที่จับมาประกอบกันเพื่อให้บินได้และนี่แหละคือประตูหลังของเรา” อิคเนอร์กล่าวก่อนลา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|