|
เอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าจะเขียนถึง CD ระดับออดิโอไฟล์แผ่นทอง 2 แผ่นคู่ของ Mobile Fidelity รหัส UDCD เพื่อรำลึกนักร้องชายหญิงอมตะของโลกดนตรีแจ๊สคงไม่ผิดกติกากรอบหน้านี้นะ แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้จักทั้งคู่ก็ตาม
เอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์
หลุยส์ อาร์มสตรอง
คนแรกอำลาโลกนี้ไปในวัย 78 เมื่อเดือนก่อนหลังจากผมได้เป็นเจ้าของอัลบั้มนี้ไม่กี่ชั่วโมง คนหลังเดินทางล่วงหน้าไปก่อนนานแล้ว
“โลกแห่งดนตรีแจ๊ส และอเมริการู้สึกเจ็บปวดต่อการสูญเสียนักร้องที่มีความสามารถ คนที่มีการเอื้อนเสียงอันมหัศจรรย์ แน่นอนว่าเสียงของเธอจะอยู่ในความทรงจำของคนอเมริกันตลอดไปไม่ว่าจะมีคนกี่รุ่นผ่านมาก็ตามที”
บิล คลินตันประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวทันทีที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของเอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์
เอลล่าเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายนปี 1918 ในนิวปอร์ทเวลล์ รัฐเวอร์จิเนียครั้งแรกที่เอลล่าก้าวขึ้นสู่เวทีแสดงนั้นเธอมีอายุเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้นว่ากันว่าเป็นเพราะพระเจ้านั่นเองที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาได้ถึงตรงนี้ เพราะตัวเธอเองนั้นขึ้นเวทีประกวดในฐานะของนักเต้น ซึ่งการเป็นนักเต้นรำกับคณะละคอนนี่เองที่เป็นความใฝ่ฝันในวัยเด็กของเธอ
ในอปอลโล เธียเตอร์ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียงมากในนิวยอร์คขณะนั้นคนดูทำให้เธอปอดกระเส่า มันทำให้เธอดิ้นไม่ออก มีแต่อาการสั่นดิกๆของขาเท่านั้นที่เกิดขึ้น เอลล่ากล่าวภายหลังว่า ตอนนั้นเธอรู้สึกแต่เพียงว่าเธอจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้อาย เธอก็เลยตัดสินใจร้องเพลงๆหนึ่งซึ่งเธอเคยได้ยินแม่ของเธอเปิดให้ฟัง
เพลงนั้นเป็นเพลงของคอนนี่ บอสเวลล์
ผลปรากฏว่าคนดูชอบกันมาก แม้ว่าเธอจะไม่ได้รางวัลในฐานะนักเต้นแต่เธอก็ชนะเลิศในฐานะนักร้องขวัญใจคนดูพร้อมกับกำเงินจำนวน 25 ดอลลาร์กลับบ้านมาด้วย
การร้องเพลงบนเวทีอย่างฟลุ๊คๆครั้งนั้นบังเอิญมีนักดนตรีของวงสวิงแจ๊ซแบนด์ของซิค เว็บผู้ยิ่งใหญ่อยู่ด้วย
นักดนตรีท่านนั้นเสนอให้ซิค เว็บจ้างเธอเอาไว้ในวง
วันที่ 2 พฤษภาคม 1938 เพลงแรกของเธอก็ออกมาในชื่อ A-tisket A-tisket ความสำเร็จก็ประดังเข้ามาหาทันที ซิค เว็บไม่ได้อยู่ดูความสำเร็จของเธอนานนักเพราะเสียชีวิตด้วยวัณโรคในปีถัดมา เอลล่าก็เลยขึ้นมาเป็นผู้นำของวงต่อไป เธอผลิตงานชั้นเยี่ยมออกมาอาทิเช่น I’ll chase the blue away. A little bit later on. Four or five times ฯลฯ ในปัจจุบันงานเหล่านี้เป็นที่ต้องการของนักสะสมอย่างมากทีเดียว
ปี 1940 งานเพลงประเภทบีบ็อบก็เริ่มเกิดขึ้นมาและเป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐด้วยจังหวะใหม่ๆที่เข้ามาและฮาร์โมนี่ที่เปลี่ยนไป วงหลายวงที่ปรับตัวไม่ทันตายจากไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ยากเกินความสามารถของเอลล่า เธอปรับสไตล์การร้องให้เข้ากับบีบ็อบได้อย่างรวดเร็ว และยังพัฒนาสไตล์การร้องของเธอเองที่เรียกกันว่า scat singing อีกด้วย
นั่นคือการอิมโพรไวซ์เสียงร้องของเธอไปขณะที่นักดนตรีกำลังโซโล่อยู่ด้วย
แม้ว่าเทคนิคนี้จะไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ผู้คนยกย่องก็คือเธอทำให้มันสมบูรณ์แบบขึ้นมา
ตั้งแต่ปี 1946 เธอเริ่มออกทัวร์อเมริกาพร้อมกับมีวงฟิลฮาร์โมนิค คัมพานีตามด้วยการทัวร์นอกประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ถือว่าเป็นยุคทองของเอลล่ามีงานดีๆมากมาย
รวมทั้งงานที่ชื่อ songsbook ซึ่งเป็นงานที่เธอร่วมกับศิลปินดังๆ อาทิ ดุ๊ค เอลลิงตัน และ โคล พอร์ตเตอร์ งานชิ้นนี้นั้นในปี 1993 มีการรวบรวมกันมาออกเป็น CD set ขนาด 16 แผ่นติดกันด้วย
ขณะที่งานที่ออกกับออสการ์ ปีเตอร์สันก็เป็นงานที่น่าสะสมไว้ด้วย
เช่นเดียวกับงานร่วมกับหลุยส์ อาร์มสตรองที่แปรมาเป็น CD ทอง 2 แผ่นคู่ชุด Ella and Louis again ของ Mobile Fidelity Sound Lab ที่นำหน้าปกของแผ่นแรกมาลงให้ดูนี้ด้วย
2 สุดยอดเสียงร้องชายหญิงที่เป็นอมตะ กับอีก 1 เสียงทรัมเป็ตที่เป็นตำนาน
ไม่มีอะไรที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์กันอีกแล้ว เมื่อนำมาสเตอร์ที่อัดเสียงในช่วงปี 1957 โด่งดังมากสมัยเป็น LP แปรมาเป็น CD ในระบบ AAD ถึงจะแพงแต่ก็คุ้ม
ดอน เฮคแมน นักเขียนเรื่องแจ๊สในลอสเองเจอลีสไทม์ กล่าวถึงเอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์เอาไว้ว่าเธอนั้นอยู่ในชั้นเดียวกับบิลลี่ ฮอลิเดย์, ซาร่า วอห์นและคาร์เมน แม็คเร
ในบรรดาสุดยอดเหล่านี้ เอลล่าเป็นนักร้องที่นักแต่งเพลงทั้งหลายรักมากที่สุด
ดอน เฮคแมนยังกล่าวด้วยว่า เสียงร้องของเอลล่าเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแบบอย่างให้แก่นักร้องเกือบทั้งหมดในสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นนักร้องระดับอภิมหาอมตะอย่างเช่นแฟร้งค์ ซิเนตร้าหรือในแนวแจ๊ซอย่างเช่นโทนี่ เบนเน็ท
ตั้งแต่ช่วงปี 1960 ชื่อเสียงของเอลล่าเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเธอตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่แสดงของเธอจากแจ๊ซคลับ มาอยู่ในคลับหรูราคาแพงและร้องเพลงในโรงแรมแทน ว่ากันว่ามันออกจะทำให้คนที่ติดตามเธอมาตลอดถึงกับช็อคเพราะเป็นการผิดขนบของแจ๊ซมาสเตอร์ที่ดี
หลายคนก็เลยตั้งฉายาเธอว่านักร้องเพลงซึ่งเห็นแก่เงินมากที่สุดแทน
เอลล่าไม่ยี่หระ...ยังคงผลิตงานดีๆออกมาอย่างต่อเนื่อง
ผลของความสำเร็จของเอลล่านั้นมีนับไม่ถ้วน แม้ว่าสื่อมวลชนรุ่นเก่าๆจะไม่ค่อยชอบนักก็ตามที เธอคว้ารางวัลแกรมมี่ถึง 10 รางวัล ขณะที่นิตยสารดาวน์บีทประกาศให้เธอเป็นนักร้องหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะชนะเลิศโพลอวอร์ดของนิตยสารถึง 18 ปีติดต่อกัน
ตั้งแต่ปี 1985 เอลล่าเริ่มสุขภาพไม่ดี ตลอดทัวร์คอนเสิร์ทในปีนั้นเธอต้องทนร้องเพลงทั้งๆที่ต้องต่อสู้กับโรคน้ำท่วมปอด ปี 1986 รับการผ่าตัดหัวใจในเดือนกันยายนทำให้ต้องยกเลิกทัวร์ทั้งหมด
แต่กลางปี 1987 เธอก็กลับมาร้องเพลงได้อีกโดยเฉพาะเทศกาลเพลงมอนทรีล แจ๊ส เฟสติวัลและเธอก็ได้รับการโหวตให้เป็นนักร้องที่ดีที่สุด
กระทั่งปี 1993 โรคเบาหวานก็มาเยี่ยมเยียนเอลล่าอย่างรุนแรงเป็นแผลเรื้อรังที่ขา ทำให้เธอเดินไม่สะดวกและเดินไม่ได้ในเวลาต่อมา จนหมอต้องตัดขาท่อนล่างของเธอออก
และเมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 1996 เอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์ก็อำลาโลกนี้ไปตลอดกาล
ตลอดชีวิตของเอลล่า ออกอัลบั้มมากกว่า 250 อัลบั้ม เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักร้องหญิงจำนวนมากรุ่นหลังของเธอไม่ว่าจะเป็นสไตล์แจ๊ซหรือสไตล์ป๊อป
“เธอเป็นนักร้องที่ดีที่สุดในโลกนี้”
โทนี่ เบนเน็ท กล่าวเมื่อถูกถามถึงความรู้สึก
“เธอเป็นครูที่สอนให้เราทุกคนรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นการร้องเพลงมันเหมือนกับว่าทุกครั้งที่เธอร้องเพลงอยู่นั้น เธอเป็นวิญญาณรูปแบบหนึ่งไม่ใช่มนุษย์”
สำหรับอัลบั้มแผ่นทองคู่ ‘Ella and Louis again’ ของ Mobile Fidelity Sound Lab รหัสUNCD 2-651 ที่เธอร้องคู่กับหลุยส์ อาร์มสตรองเมื่อปี 1957 วิจิตร บุญชู บรรณาธิการนิตยสารว้อทไฮ-ไฟ คอลัมนิสต์ผู้จัดการรายวัน และผู้จัดรายการของโครงการวิทยุผู้จัดการ เมื่อได้ฟังแล้วกล่าวสั้นๆเพียงว่า...
“เป็นอัลบั้มโมโนที่บันทึกได้ดีที่สุด”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|