ภัทร มารีน่า การพักผ่อนที่ลงตัวกับงานของ “วิโรจน์ นวลแข”


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

หัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนทุกระดับรายได้มานานจนดูจะแน่นไปเสียแล้วสำหรับหาดทราบที่มีพื้นที่จำกัด แถมกิจกรรมที่มีอยู่นอกจากการเล่นน้ำทะเลกับการพักผ่อนนอนเล่นก็กำลังจะทำให้หัวหินเสื่อมความนิยมไปได้หากไม่มีการขยายพื้นที่เที่ยวเล่นหรือเสริมกิจกรรมอื่นเข้าไป

คนที่ชอบแล่นเรือไปตามกระแสคลื่นลมในทะเลอย่าง “วิโรจน์ นวลแข” ที่คลุกคลีอยู่กับหัวหินมานาน เพราะมีบ้านพักอยู่ที่บ้านไข่มุก คอนโดมิเนียมที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่พักของคนในระดับเศรษฐีของเมืองไทย กิจกรรมที่ทำที่นี่เองที่ทำให้วิโรจน์ล่องไปตามกระแสคลื่น ขึ้นตะวันออกออกตะวันตกลงใต้ จนมาพบกับที่ที่เขาคิดว่าจะกลายเป็นแหล่งที่สร้างกิจกรรมให้กับคนไทยได้สนุกกับทะเลมากกว่าการเล่นลมชมวิว

บริเวณปากน้ำปราณบุรีหรือปลายสุดของแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลลงสู่อ่าวไทยที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันท์ พื้นที่ที่วิโรจน์แล่นเรือมาพบและเห็นว่าสมบูรณ์ดีที่สุดสำหรับปากแม่น้ำธรรมชาติที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯเพียงเส้นรัศมีไม่เกิน 200 กิโลกเมตรและเขากำลังพัฒนาให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งรวมของกิจกรรมทางน้ำเพื่อการพักผ่อนสำหรับผู้รักกิจกรรมทางน้ำ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

“ผมมาเจอที่นี่ เพราะผมอยู่หัวหินมานานและดูทำเลที่ปราณบุรีนี้ไว้นานแล้ว จนกระทั่งเห็นว่าชาวบ้านเห็นด้วยและคิดว่าช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ผมถึงลงมือทำ โดยซื้อที่ดินจากชาวบ้านหร้อมกับมองแล้วว่าเราจะไม่มีปัญหากับพวกพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มที่ไม่ชอบเพราะที่นี่มีปากน้ำที่เป็นธรรมชาติเหมาะสำหรับการเล่นเรือ ไม่ต้องทำเขื่อนกันคลื่นลมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับปากน้ำ เพียงแค่อาศัยขุดลอกสันทรายเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งก็จะได้ประโยชน์ทั้งกับโครงการและเรือประมงที่มีอยู่นับ 300 ลำ”

ตามความคิดของวิโรจน์ นวลแขที่ใช้ชีวิตในวันหยุดเป็นจำนวนมากที่นี่นอกเหนือจากการทำงานในตำแหน่งที่มีอยู่เกือบ 10 บริษัทอาทิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัทล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) กรรมการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็คือการพัฒนาที่แห่งนี้ให้เป็น “มารีน่าเพลส” ที่สมบูรณ์โดยที่ตรงนี้จะเป็นเมืองที่ให้ทุกอย่างเกี่ยวกับกีฬาทางน้ำต่างจากการท่องเที่ยวที่หัวหินที่ไม่มีเอนเตอร์เทนเมนต์ใดๆนอกจากการเล่นน้ำทะเล

“ที่นี่ไม่เพียงจะเป็นแหล่งกีฬาทางน้ำและกิจกรรมการเดินเรือที่ครบวงจรยังจะมีตั้งแต่โรงหนัง โรงละคร ดนตรีสด อาหารดีๆเปิดโต้รุ่งให้ทุกคนที่มาทางเรือใช้เป็นที่แวะพัก เติมน้ำเติมของเปลี่ยนอะไหล่และเข้าไปเที่ยวเมือง แต่จะไม่เหมือนพัทยาที่เน้นพวกเรือเล็กมีเรือใหญ่บ้างก็ไม่เป็นศูนย์หรือที่ภูเก็ตก็ยังมีสภาพที่กระจัดกระจายและที่สำคัญจะไม่ใช้การสร้างคอนโดสูงๆ แล้วเรียกเป็นมารีน่า แต่เราใช้แม่แบบการพัฒนาโครงการจากหลายๆที่ ตั้งแต่ฝรั่งเศสตอนใต้ที่เราเรียกพอร์ทพรีโม่จากนิวซีแลนด์และรอบๆบ้านเราทั้งในสิงคโปร์และมาเลเซียเพื่อดึงกลุ่มนักเล่นเรือใบจากต่างชาติเข้ามาเล่นด้วย”

วิโรจน์เล่าว่า เดิมนักเล่นเรือจากต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยได้ลึกสุดแค่เกาะสมุยแล้วกลับเพราะถ้าเข้ามาลึกกว่านี้ก็จะไม่มีที่จอดเรือจะมีก็แต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีใครอยากเข้าไปเพราะไม่มีที่จอด แต่ถ้าที่ปากน้ำปราณมีมารีน่าเพลสที่สมบูรณ์จริงๆไว้รองรับเรือเหล่านี้ ก็เชื่อว่าจะช่วยดึงต่างชาติเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยได้มากขึ้น โดยเอาเรือมาจอดทิ้งไว้ที่นี่แล้วนั่งรถไปเที่ยวในเมือง

สำหรับผู้ที่สนใจเช่าที่จอดเรือ ทางภัทรมารีน่าจะคิดค่าเช่าต่อเดือนแตกต่างกันไปตามขนาดเรือและประเภทของที่จอดเรือดังนี้ จอดในน้ำค่าเช่าตั้งแต่ 12,000-20,000 บาทจอดบนบกในร่ม 13,000 บาทต่อเดือน จอดบนบกแต่ไม่อยู่ในร่มประมาณ 3,850 บาทและอัตราค่าเช่าพิเศษสำหรับเรือ “FARR PLATU” 1,200 บาทต่อเดือนแต่สนใจเป็นเจ้าของที่จอดเรือในโครงการ อัตราซื้อสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่จอดเรือราคาจะแตกต่างกันไปตามขนาดของท่าเทียบเรือ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 5 แสนถึง 3 ล้านบาท

วิโรจน์ยังได้ร่วมกับวิศวกรเรือชาวนิวซีแลนด์ออกแบบเรือ “FARR PLATU” ซึ่งได้ชื่อมาจากชื่อของวิศวกร “บลู๊ซ ฟาร์ร” ออกแบบกับชื่อ “ปลาทู” ที่คนไทยนิยมกินจิ้มน้ำพริกนั่นเอง โดยเน้นให้เป็นเรือใบที่มีขนาดและน้ำหนักเหมาะกับรูปร่างของคนไทย

ในส่วนของโครงการได้แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ส่วนคือส่วนของโครงการภัทรมารีน่าปราณบุรี ใช้เป็นสถานที่จอดเรือใบและเรือยอช์ต ให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงเรือก่อสร้างบนเนื้อที่ 32 ไร่จอดเรือในน้ำได้ 107 ลำบนบก 150 ลำจะแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2539

ส่วนที่ 2 โครงการภัทรยอร์ชคลับ ปราณบุรีและโรงเรียนการสอนการแล่นใบ เป็นส่วนที่ประกอบด้วยอาคารสโมสร ภัตตาคาร ที่พักตากอากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆเช่น ห้องพัก ห้องประชุม ห้องเรียน ห้องฝึกอบรม การเล่นกีฬาและร้านค้า ในพื้นที่ 10 ไร่ ตรงที่ดินบริเวณปากแม่น้ำที่มีทั้งหมดประมาณ 70 ไร่ ส่วนบริเวณลึกเข้าไปทางแม่น้ำซึ่งเป็นท่าเก็บเรือยอช์ตมีพื้นที่รวม 100 กว่าไร่นอกเหนือจากพื้นที่ติดกันที่เตรียมไว้อีก 200 ไร่เผื่อการขยายโครงการเป็นระยะๆโดยพื้นที่ทั้งหมดจะอาศัยแม่น้ำในการเชื่อมต่อกัน

เมื่อปากน้ำปราณมีความน่าสนใจสำหรับกิจกรรมกีฬาแล่นเรือใบ ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ของไทยมากขึ้น อย่างนี้แล้วหัวหินจะเป็นอย่างไร วิโรจน์ยืนยันว่า

“หัวหินจะยังคงใช้เป็นแหล่งพักผ่อน เพราะที่นี่เรามีเป้าหมายหลักสำหรับให้คนไทยเล่นเรือใบ จะปลูกฝังตั้งแต่เด็กจนโตเพราะคนส่วนใหญ่มาพักที่หัวหินนอกจากเล่นน้ำแล้วทั้งวันก็ไม่มีอะไรทำ ถ้าเล่นเรือเป็น ใช้เรือเร็วจากหัวหินมาที่นี่จะใช้เวลาเพียง 15 นาทีเด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็จะมีกิจกรรมที่จะไม่ทำให้เขาคลุกอยู่แต่ในห้องทั้งวัน”

การที่คนไทยยังไม่มีความนิยมกิจกรรมเหล่านี้ทำให้จุดหนึ่งที่วิโรจน์ต้องเน้นมาก คือการเริ่มปลูกฝังจากเด็กๆการให้พ่อแม่เห็นด้วยที่จะส่งลูกเข้าร่วมกิจกรรม การจัดฝึกอบรมหรือจัดแข่งขันทีละรุ่นๆซึ่งนี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้วิโรจน์ต้องค่อยๆพัฒนาโครงการนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยเงินหมุนเวียนในโครงการประมาณ 300 ล้านบาทซึ่งถือเป็นงบการเงินเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไซต์งานของบริษัทที่มีทุนประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทของภัทรเรียลเอสเตทซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ

ถึงตอนนี้คงไม่ผิดที่จะบอกว่า “กีฬาทำให้วิโรจน์มีวันนี้” และวันนี้จึงเป็นวันที่วิโรจน์ได้ทำความฝันของตัวเองให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด ในการสร้างศูนย์กีฬาทางน้ำให้เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นจากความสนใจทะเลแค่การเล่นน้ำแล้วเลิกพร้อมทั้งได้สร้างกิจกรรมสำหรับการพักผ่อนที่ลงตัวให้กับตัวเขาเองด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.