|

โละทิ้งเทศกิจ...เลิกคิดเสียเถอะ !
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ใครต่อใครมักจะเชื่อว่าหน่วยเทศกิจจะยุ่งเกี่ยวเฉพาะแม่ค้าหาบเร่แต่ในข้อเท็จจริงพวกเขามีอำนาจมหาศาล เทศกิจรุกเข้าสู่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่โดยมีอำนาจและความชอบธรรม กลายเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่มีพลังพอๆ กับตำรวจหรือข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ที่ร้ายเทศกิจบางคนทำตัวเป็นมาเฟียสูบเลือดนักธุรกิจ จนเริ่มมีเสียงพูดว่า น่าจะถึงยุคสิ้นสุดหน่วยงานนี้ได้แล้ว แต่เอาเข้าจริงเทศกิจกลับจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นทุกวัน
การสมัครเพื่อหาตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เที่ยวล่าสุดซึ่งทราบผลไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นเรื่องที่หลายฝ่ายยกมาหาเสียงกัน ตั้งแต่ยังไม่ได้เรียงเบอร์ตัวผู้สมัคร จนรู้ผล ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นปัญหาใหญ่ๆที่มองเห็นกันได้ชัดเจนอย่างเรื่องของ
จราจร ระบบขนส่งมวลชนและสิ่งแวดล้อม
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและมีน้ำหนักในการใช้หาเสียงเป็นอย่างมาก ถ้าผู้เสนอมีแนวทางที่ดีในการนำเสนอ ซึ่งผู้เสนอปัญหาเหล่านี้ก็เป็นทั้งผู้สมัครตัวเต็งและตัวประกอบอดทนอีกกว่า 20 คนเพราะเที่ยวที่ผ่านมามีผู้ร่วมสมัครกันถึง 29 คน
เรื่องหนึ่งที่มีการพูดผ่านหูกันบ้างประปราย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สมัครรายเล็กๆคือเรื่อง “การดำเนินงานของสำนักเทศกิจ” ซึ่งมีบางส่วนเสนอทั้งแนวทำงานและการยุบทิ้งด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปรวมทั้งการเสนอความคิดเห็นต่อเทศกิจของผู้สมัครเหล่านั้น
เรื่องของเทศกิจเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการพูดถึงกันกว้างขวางนัก เพราะแม้จะมีการพูดกันมาตั้งแต่ครั้งเมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการใส่ใจว่าเทศกิจควรจะมีสถานะและการทำงานต่อไปอย่างไรให้ถูกใจประชาชนและคุ้มกับงบประมาณของกทม.ได้ดีและมากกว่านี้
เพราะแม้แต่ในครั้งที่ ดร.ทักษิณ เสนอให้ยุบเทศกิจราวปลายเดือนตุลาคม 2538 ก็มีกระแสออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะยังไม่ทันถึงกำหนดสรุปผลว่าจะยุบให้เทศกิจไปช่วยงานจราจรตามที่ดร.ทักษิณเสนอและดูแลอยู่ในขณะนั้นหรือไม่ เรื่องก็เงียบหายไป โดยในครั้งนั้น ดร.ทักษิณได้ให้เหตุผลในการที่จะยุบหน่วยงานเทศกิจที่ตั้งขึ้นมาในสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมืองอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนก่อนหน้าตนว่า
“เทศกิจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเพราะขณะที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณค่าจ้างจำนวนมาก แต่เทศกิจกลับก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนที่ทำมาหากินอย่างสุจริตเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เทศกิจบางรายจะเข้าไปเรียกเก็บเงินจากพ่อค้าแม่ค้าจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และสร้างความร่ำรวยกันเป็นทีม” (นสพ.วัฎจักร.24/10/2538)
เช่นเดียวกัน ในช่วงเดือนก่อนหน้านี้ที่การหาเสียงผู้ว่าเฟื่องฟูไม่มีใครกล่าวถึงปัญหาหรือวิธีการดำเนินงานกับเทศกิจมากนัก ผู้เข้าร่วมชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ บางรายก็ยังไม่คิดถึงเรื่องของเทศกิจด้วยซ้ำเพราะมัวยุ่งอยู่กับการชี้แจงนโยบายที่ตนได้เตรียมไว้เสียมากกว่าแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ยากเมื่อเอ่ยถามถึงเทศกิจผู้สมัครทุกคนก็ล้วนพุ่งเป้าไปที่เทศกิจในฐานะคู่กรณีกับพ่อค้าแม่ขายเสียทั้งสิ้นอย่างเช่นรายนี้
ดร.พิจิตต รัตตกุลให้ความเห็นเกี่ยวกับเทศกิจว่าไม่มีความคิดที่จะให้ยุบทิ้งเพราะเทศกิจเป็นหน่วยงานที่ยังคงประโยชน์และสามารถช่วยงานกทม. ได้หลายอย่างโดยเฉพาะการที่จะใช้เทศกิจในมาตรา 58 คือการควบคุมพื้นที่และแหล่งก่อเกิดมลพิษ ซึ่งกทม.ต้องการเทศกิจให้เข้ามาช่วยงานในส่วนนี้เพราะกทม. ไม่มีกำลังคนมากพอหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเทศกิจที่มีอยู่กว่า 1,000 คนถ้าต้องเข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วยก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยไป
“กทม.มีพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตรเทศกิจที่มีอยู่ถ้าจะให้เข้ามาดูแลควบคุมมลพิษ เราก็จะต้องเพิ่มจำนวนคนเข้าไปอีก เพราะต้องดูทั้งมลพิษที่เกิดจากรถยนต์ ขยะหรือแม้แต่การก่อสร้างที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นด้วย”
ส่วนปัญหาของเทศกิจที่ถูกมองว่ามีการรีดไถที่รุกเข้าไปโดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้าง ดร.พิจิตต เชื่อว่าปัญหาน่าจะเกิดจากการมอบหมายงาน ซึ่งแม้จะมีเจ้าหน้าที่ที่บริสุทธิ์แต่ก็ย่อมมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาบ้าง ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้บริหารที่มีอำนาจ โดยเฉพาะการบริหารบุคคลซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
เพราะฉะนั้นเป้าหมายแรกสำหรับการจัดการกับเทศกิจของดร.พิจิตต ก็คือการจัดองค์กรและการบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อการทำงานตามหน้าที่ได้ชัดเจน
“หน้าที่ของเทศกิจจริงๆคือดูแลเรื่องความสะอาด ส่วนในด้านการควบคุมดูแลระเบียบของการก่อสร้างในเขตกทม. ขณะนี้ เทศกิจคงยังไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนแม้เขาจะมีสิทธิ์เข้าไปตรวจดูได้ตามกฎหมายแต่ปัญหาที่เกิดอาจมาจากหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายไม่ชัดเจนเท่าที่ควร เมื่อเราจะเพิ่มหน้าที่ก็ควรจะทำความเข้าใจให้ชัดขึ้นอย่างเช่นกรณีที่จะให้เจ้าหน้าที่เทศกิจมาช่วยดูแลเรื่องแหล่งก่อเกิดมลพิษ เราก็จะต้องทำความเข้าใจในภารกิจแล้วกำหนดขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจนให้เขาเสียก่อน”
สำหรับดร.พิจิตต ซึ่งเชื่อว่าเทศกิจจะดีได้ด้วยเหตุผลข้างต้นแล้วด้านนายอากร ฮุนตระกูลผู้เข้าร่วมชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ครั้งล่าสุด ให้ทัศนะในเรื่องนี้ไว้ว่า ตราบใดที่กทม. ยังมีเรื่องผิดพลาดให้ต้องดูแลเทศกิจก็จะยังมีหน้าที่ดูแลต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหาบเร่แผงลอย การจราจรหรือเรื่องอื่นๆที่เทศกิจได้รับมอบหมายให้มีอำนาจดูแลเข้าร่องเข้ารอยโดยไม่มีอะไรให้ต้องคอยจำผิด ถึงตอนนั้นแล้วหน้าที่ที่เหลือของเทศกิจก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรจึงค่อยเป็นเวลาที่จะมาศึกษารายละเอียดกันต่อว่าเทศกิจจะยังมีประโยชน์อีกหรือไม่ถ้ามีก็ต้องรักษาไว้ แต่ถ้าไม่มีหน้าที่แล้วยุบทิ้งเสียก็คงไม่น่าเป็นปัญหาอะไรขึ้นมาได้
ที่สำคัญคงไม่ต้องสงสัยสำหรับความเห็นของพลตรีจำลอง ศรีเมืองและ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยาเกี่ยวกับเทศกิจนั่นก็คือ สิ่งที่ยังต้องมีต่อไปในฐานะที่คนแรกเป็นผู้ริเริ่มและอีกคนเป็นผู้สานต่องานกันมาแต่ต้น โดยเหตุผลหลักและหน้าที่ของเทศกิจก็คือคอยสอดส่องดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ กทม.นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามการทำงานของเทศกิจในสายตาของประชาชนบางส่วนกลับมองว่า สิ่งที่เทศกิจทำอยู่ทุกวันนี้ในฐานะผู้ที่มีอำนาจอยู่มากมายนับได้ถึง 27 ข้อตามอำนาจหน้าที่ของกทม.ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ล้วนเป็นจุดที่ชาวบ้านและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าเป็นแหล่งรายได้อีกแหล่งของกทม.และอาจจะเลยไปถึงรายได้นอกเหนือจากรายได้ประจำของเจ้าหน้าที่บางส่วนด้วย
โดยเฉพาะการที่เทศกิจรุกเข้าไปดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในวงการธุรกิจก่อสร้างซึ่งผู้รับเหมาด้านก่อสร้างฐานรากรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า อยากจะให้มีการยกเลิกเทศกิจเพราะสิ่งที่เขาได้ประสบปัญหาอย่างมากกับเทศกิจในงานที่ทำอยู่ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีคือการต้องอาศัยเงินเป็นตัวแก้ปัญหา
“เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการขุดดินก็จะมีเหตุมาอ้างว่า ขออนุญาตเปิดหน้าดินหรือเปล่ามีใบอนุญาตไหมถ้ามีใบอนุญาตก็ยังมีปัญหาต่ออีกเรื่องคือส่งเสียงรบกวน ไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่เพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำงานก็ควรจะให้ค่าน้ำร้อนน้ำชากับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ออกมาตรวจความเรียบร้อยในช่วงตี 1 ตี 2 ไปเสียก่อน” ผู้รับเหมารายหนึ่งเล่าให้ฟัง
ฟังดูแล้วผู้รับเหมาเองก็ดูจะมีความผิดอยู่บ้างฐานไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ข้ออ้างทางผู้รับเหมาก็คือถ้ารอใบอนุญาตจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นในการรอเพราะกว่าใบอนุญาตของฝ่ายโยธาฯจะออกก็กินเวลานานและแน่นอนในกรณีนี้ใช่ว่าผู้รับเหมาจะเป็นฝ่ายถูก
แต่ก็ว่ากันว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัวของบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้าง เทศกิจแต่ละเขตจะมีกำหนดราคาไว้สำหรับค่าขุด ขน ถมดินไว้ด้วยเช่น เขตบางกะปิจะมีราคาไร่ละ 4,000 บาทสำหรับการขุดหน้าดินซึ่งถือว่าเป็นเขตที่แพงที่สุดในขณะนี้ส่วนเขตอื่นๆก็จะมีราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันและราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2,000 บาทต่อไร่และถ้าเป็นการขุดเจาะดินเพื่อก่อสร้างฐานรากของอาคารขนาดใหญ่ก็จะอยู่ในระดับราคาไร่ละ 5,000 บาทต่อเดือนไม่มีส่วนลด
ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนบางส่วนผู้รับเหมาจะว่าจ้างผู้ขนดิน ซึ่งในส่วนของค่าขนดิน ผู้รับเหมาบางรายได้เล่าถึงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ว่านอกจากจะต้องจ่ายค่าดินคิวละประมาณ 100 บาทซึ่งใช้รถบรรทุกสิบล้อในการขนส่งช่วง 4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้าได้สูงสุดคืนละ 5 เที่ยวจะต้องจ่ายค่าเปิดหน้าดิน ค่าขุด ค่าขนมาตลอดเส้นทางซึ่งไม่รวมหัวคิวของตำรวจ ค่าจิปาถะรายทางแล้วก็ยังได้รับความสนใจจากเทศกิจที่เข้ามาช่วยดูแลทำหน้าที่คอยตักเตือนว่าของตกหล่นไม่มีสิ่งปิดบัง
พร้อมกันนี้ผู้รับเหมารายนี้ยังกล่าวด้วยว่า ผู้คนในวงการก่อสร้างจะรู้ดีอยู่ในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ว่าถือเป็นส่วนที่ไม่มีใบเสร็จที่ต้องคำนวณอยู่ในต้นทุน ซึ่งแม้จะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องกันทั้ง 2 ฝ่ายแต่ก็ให้เหตุผลว่า
“ยอมจ่ายไปซะ ไม่งั้นก็เสียเวลาทำมาหากิน ผมเคยรับเหมาทำฐานรากแถวช่องนนทรีตรงถนนตัดใหม่ รถขนดินจะต้องวิ่งผ่านเขตยานนาวากับสาธร ก็ต้องจ่ายให้กับเทศกิจทั้งสองเขตแล้วแต่ผ่านมากน้อยแค่ไหนก็เล่นมาเฝ้ากันตี1 ตี 2 ถ้าไม่ยอมจ่ายเงินก็เหมือนโดนแกล้ง ทำงานไม่ได้ มีบางทีไปรับเหมาบางเขตถ้ารู้จักกับผู้อำนวยการเขตก็พูดจาตกลงกันง่ายแต่ก็ยังต้องจ่ายเงินอยู่นะ ที่เคยเจอหนักๆก็โดนโยธาฯ ให้ซ่อมถนนใหม่ต้องวิ่งหาคนช่วยเรียกว่าต้องระวังบางทีเจอหนักต้องเสียนับแสนบาทและผมก็เชื่อว่าเทศกิจทำงานเป็นทีม รวยเป็นทีม”
ฟังดูไม่ใช่เทศกิจที่ผิดฝ่ายเดียวซึ่งผู้รับเหมารายเดียวกันนี้ก็บอกว่า เขายอมรับและรู้ว่าการถมดินมีระเบียบอยู่ว่าต้องขออนุญาตแต่บางทีกว่าจะได้ใบอนุญาตก็เกินกว่าที่ทางสำนักงานโยธาฯของกทม.กำหนดว่าจะออกให้ได้หรือแม้แต่บางทีที่ได้ใบอนุญาตมาแล้วก็ยังต้องยอมจ่ายค่าเบี้ยหวัดรายเดือนต่อไปเพื่อความสะดวกของงานเพราะจะมีค่าวางของเกะกะ ซึ่งรวมถึงสำนักงานขายชั่วคราวในไซต์งาน(ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน) หรือรั้วรอบขอบชิดของไซต์งานที่ในสายตาของผู้รับเหมาบอกว่าดูเรียบร้อยดีแล้ว แต่ยังไม่เป็นระเบียบในสายตาของเทศกิจก็ถึงกับทำให้ผู้รับเหมาบางรายที่เจอปัญหาเดียวกันเอ่ยปากว่า
“เทศกิจไม่เห็นมีอะไรดี ไม่เข้าใจว่าสร้างเทศกิจมาทำไม ยุบทิ้งไปดีกว่าแต่คงยากเพราะเท่าที่ผ่านมา เทศกิจดูจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นทุกวัน”
สุพจน์ ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจกล่าวว่า ตนยืนยันได้ว่าตั้งแต่ตั้งสำนักเทศกิจขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงที่ชาลี สินธุนาวาผู้อำนวยการสำนักเทศกิจคนปัจจุบัน เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2537 นั้นเทศกิจมีการพัฒนาและการปฏิบัติที่ดีขึ้นมากและไม่เคยเจอข้อร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่หาว่าเทศกิจไปกระทำการผิดกฎแต่อย่างใด
“ผมว่าการที่กล่าวว่าเทศกิจมีปัญหากับประชาชน หรือแม้แต่ในวงการธุรกิจก่อสร้างนั้น เมื่อไม่มีหลักฐานมายืนยันกันทางผู้บริหาร กทม.เองก็คงไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ และถ้าพูดกันตามจริง ทำไมคนในวงการธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีองค์กรที่รวมตัวกันอยู่มากมายไม่ออกมาเรียกร้องทั้งที่รู้อยู่ว่าเรื่องแบบนี้มีขั้นตอนเรียกร้องกันอย่างไรได้ แต่ทำไมองค์กรเหล่านั้นไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของเทศกิจที่ผิดๆเหล่านี้ถ้าเป็นจริงอย่างที่พูด”
ไม่เฉพาะปัญหากับวงการก่อสร้างถึงขั้นที่ผู้ประกอบการบางรายบอกว่า “ถ้าเป็นกับเทศกิจผมต้องอาศัยเงินเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อเคลียร์ปัญหา” ในระดับแม่ค้าพ่อค้าก็คงไม่ต้องพูดอะไร เพราะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานนั้น ทางรองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจเองก็ยังงงว่า
“ถ้าพูดไปก็จะเหมือนกล่าวหากันอย่างว่ารับเงินอะไรต่างๆนานาถ้ามีจริงทางสำนักเองก็อยากลงโทษทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต แต่ถึงเวลาจริงๆก็ไม่มีใครกล้าชี้ตัว”
สุพจน์ยังกล่าวกับ “ผู้จัดการ” ว่าในความเป็นจริงแล้ว สำหรับ กทม.ภาพของเทศกิจที่ออกมาสำหรับทุกองค์กรที่ขึ้นกับกทม. เทศกิจเป็นหน่วยงานที่มีระเบียบวินัยดีที่สุด ส่วนปัญหาที่ถูกกล่าวถึงต่างๆนานาถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เสนอก็คงจะไม่มีเหตุการณ์อะไรทำนองไม่ดีเกิดขึ้นและเท่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ตนย้ายจากผู้อำนวยการเขตมารับตำแหน่งก็ยังไม่เคยปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่เทศกิจคนไหน เคยโดนทำโทษเพราะเรื่องสินบนและยืนยันได้ว่าตนไม่เคยรู้เห็นว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้
ดังนี้แล้ว หากจะพิจารณากันให้ถ่องแท้จากเหตุผลของทั้งสองฝ่ายเห็นทีจะบอกได้เพียงว่าเข้าตำรา “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” เสียเป็นแน่แท้ เพราะถ้าต่างคนต่างทำในสิ่งที่ถูกต้องก็จะไม่มีใครใช้อำนาจนอกเหนือหน้าที่เรียกร้องสิ่งใดจากใครได้
แล้วคู่กรณีคู่ใหม่ในวงการอย่างผู้รับเหมากับเทศกิจก็คงจะไม่เกิดขึ้นให้เห็นทั้งนี้ฝ่ายผู้รับเหมาก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนให้ถูกต้องในขณะที่ฝ่ายเทศกิจก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ซื่อตรงอย่าอาศัยช่องโหว่เป็นทางหาลำไพ่พิเศษ และที่แน่ๆอีกอย่างทั้งสองฝ่ายควรจะหันไปเตรียมรับมาตรการของผู้ว่าคนใหม่ได้แล้วว่าการป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างจะต้องเข้มงวดมากขึ้น ส่วนเทศกิจก็ควรจะเตรียมสำหรับงานที่อาจจะมีมาให้รับผิดชอบเพิ่มขึ้นเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|