ไดโนเสาร์บุกโอซากา


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ข่าวการเซ็นสัญญาสร้างยูนิเวอร์แซล สตูดิโอธีมปาร์คในโอซากาของเอ็มซีเอไม่เพียงเป็นข่าวดีของบริษัทท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆในเมืองนี้เท่านั้น แต่ยังตอกย้ำให้คนทั่วไปรู้ว่าโอซากาสามารถสร้างชื่อเสียงในเชิงธุรกิจได้จริง

เพราะทันทีที่รู้ว่าเอ็มซีเอจับเข่าคุยกับเมืองซาไกเรื่องการสร้างธีมปาร์คเมื่อ 4 ปีก่อนเมืองต่างๆทั่วแดนซากุระต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อเบนความสนใจของเอ็มซีเอมายังตนด้วยการเสนอวิสัยทัศน์สุดยิ่งใหญ่ในทำเลทองแถมท้ายด้วยมาตรการล่อใจด้านการเงินอีกมากมายเท่าที่จะคิดหากันมาได้

แต่ดีที่โอซากามีข้าราชการหัวการค้าที่ชื่อ ไคสุเกะ โมริตะที่แอบทราบข่าวความล้มเหลวของเมืองซาไกจากเพื่อนสนิทนาม แฟรงค์ สตาเน็ค กรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็มซีเอ เอ็นเตอร์ไพรซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้นำทีมงานเอ็มซีเอในการหาทำเลสร้างธีมปาร์คในญี่ปุ่น

โมริตะมองเห็นโอกาสอันสวยสดงดงามทันที หลังจากที่โอซากาเพิ่งเสร็จสิ้นโครงการอะควอเลียมระดับเวิลด์คลาสที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 5.2 ล้านรายเพียงชั่วปีแรกที่เปิด

“ผมสามารถบอกได้ถึงทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทรัพยากร ตลาด โครงสร้างพื้นฐานและวิธีโน้มน้าวให้รัฐบาลท้องถิ่นอนุมัติโครงการ” โมริตะเล่า

และโมริตะนี่เองที่กล่อมให้รัฐบาลท้องถิ่นของโอซากาทบทวนโครงการพัฒนาท่าเรือในแถบโคโนฮาน่าเพื่อโปรโมตเป็นเขตอุตสาหกรรมภายใน 3 เดือนเขาสามารถรวบรวมข้อมูลที่บ่งชี้ว่าธีมปาร์คจะช่วยสร้างงานและโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจตลอดจนยกระดับภาพพจน์เชิงอุตสาหกรรมของโอซากาได้มหาศาลเพียงใด “ผมแสดงให้เห็นว่าโอซากาจะได้อะไรบ้างหากเอ็มซีเอเข้ามาตั้งธีมปาร์ค”

ขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของโครงการนี้ทำให้รัฐบาลกลางญี่ปุ่น ซึ่งหมายรวมหมดถึงกระทรวงอุตสาหกรรม,ไปรษณีย์และโทรคมนาคม, คมนาคม,การก่อสร้างและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม จำต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยงานนี้ตกเป็นความรับผิดชอบของโมริตะอีกครั้ง เริ่มจากในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการ ตามมาด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่โอซากา ยูนิเวอร์แซล โปรโมชัน (โอพียู) ที่ตั้งขึ้นมาในเดือนธันวาคม 1994 เพื่อดูแลการระดมทุนและทำข้อตกลงมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 20 ปี

การก่อสร้างยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ เจแปน (ยูเอสเจ) ซึ่งจะเป็นธีมปาร์คแห่งแรกของเอ็มซีเอนอกสหรัฐฯจะเริ่มขึ้นในปี 1998 และเปิดดำเนินการในปี 2001 ทั้งนี้เอ็มซีเอและแรงค์ ออร์แกไนเซชั่นของอังกฤษซึ่งถือหุ้น 50% ในธีมปาร์คของเอ็มซีเอในฟลอริด้า จะถือหุ้นในยูเอสเจฝ่ายละ 17% ที่เหลือเป็นของกลุ่มกิจการของบรรดาบริษัทในโอซาก้า

ยูเอสเจจะอยู่บนพื้นที่ 54 เฮกตาร์และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาที่มีชื่อว่า “ยูนิเวอร์แซล ซิตี้ โอซาก้า” ในอาณาบริเวณ 160 เฮกตาร์ ซึ่งจะประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร ชอปปิ้งมอลล์และธุรกิจใหม่ๆอีกมากมาย

รอน เบนชั่น กรุ๊ป ซีอีโอของยูนิเวอร์แซล เรกครีเอชั่น กรุ๊ป (ยูเอสอาร์จี) กล่าวว่าธีมปาร์คแห่งใหม่ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยตลอดกาลทั้งในด้านทีวีและภาพยนตร์ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทโปรดักชันจากญี่ปุ่นและทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ธีมปาร์คแห่งนี้จะสร้างและดำเนินการโดยยูเอสเจซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีโมริตะเป็นกรรมการผู้จัดการและรัฐบาลท้องถิ่นของโอซากาถือหุ้น 25% ส่วนทางยูเอสอาร์จีจะควบคุมในด้านครีเอทีฟและมีส่วนร่วมในการบริหารสถานที่ นอกจากนั้นยังได้สตีเว่น สปีลเบิร์ก

พ่อมดฮอลลีวูดมาช่วยงานด้านครีเอทีฟในการนำบางฉากในหนังดังอย่าง JURASSIC PARK และ ET มาดัดแปลงสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยวในธีมปาร์ค

ผู้บริหารหลายรายของเอ็มซีเอมองว่าการสร้างธีมปาร์คในโอซาก้าในช่วงเวลานี้เป็นโอกาสเหมาะอย่างยิ่งเพราะกว่าจะถึงวันที่เปิดให้บริการเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นที่เคยแตกพล่านพ่นพิษเรื้อรังมาหลายปี ก็จะถึงคราวฟ้าหลังฝนให้ไพร่ฟ้าหน้าใสได้เบิกบานกันบ้าง

ทั้งนี้ แม้การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้จะอิงอยู่บนพื้นฐานดีมานด์บนเกาะญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารโครงการมองข้ามโอซากาในฐานะที่เป็นที่ตั้งสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ของญี่ปุ่นที่เปิดดำเนินการไม่มีหยุดพักตลอด 24 ชั่วโมงและถือเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดสู่เอเชีย

ไม่เช่นนั้นเมเยอร์คงไม่ปิดท้ายโดยคาดหวังสวยหรูว่าแต่ละปีจะมีผู้มาเที่ยวชมธีมปาร์คแห่งนี้ประมาณ 8-9 ล้านคนคิดเป็นรายได้ราว 500 ล้านดอลลาร์ซึ่งถ้าเป็นจริงตามที่เขาว่า รับรองไม่กี่ปีโครงการนี้คืนทุนแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.