|
นักรบเขียวในชุดสูท
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
เจเรมี่ เลกเก็ตต์ต่างจากพวกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือพวกกรีนพีชทั่วไปตรงที่เขาไม่ได้ใช้เรือแคนนูกับไม้พายเป็นอาวุธ ขับเรือโจนทะยานเข้าไปขวางลำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสในน่านน้ำตาฮิติ แต่ผู้อำนวยการกลุ่มกรีนพีช อินเตอร์เนชั่นแนลคนนี้กลับใช้ข้อมูลตัวเลขเป็นอาวุธในการชักจูงให้บรรดาผู้บริหารบริษัทประกันเชื่อว่าสภาวะเรือนกระจกกำลังจะทำให้อุตสาหกรรมของพวกเขาถึงกาลวิบัติ ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จเสียด้วย
จนถึงตอนนี้บริษัทประกันยุโรปและเอเชีย 50 แห่งได้ลงนามในข้อตกลงกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อร่วมกันพิจารณาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากการทำธุรกิจในเวลาเดียวกัน ธนาคารนับโหลก็ร่วมลงนามในข้อตกลงของยูเอ็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าบริษัททั้งหลายที่ธนาคารปล่อยกู้ไปจะเอาเงินที่ได้ไปปู้ยี่ปู้ยำสภาพแวดล้อมเข้าให้ ซึ่งนับเป็นการบีบให้อุตสาหกรรมต้นเหตุของปัญหาสภาพแวดล้อมต้องหันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เจเรมี่ เลกเก็ตต์คือคนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงทัศนคติและจิตสำนึกของเรา” รอล์ฟ เกอร์ลิ่ง มหาเศรษฐีเจ้าของเกอร์ลิ่ง กรุ๊ป ออฟ อินชัวรันส์ในเยอรมนีกล่าว
ถึงคำถามเรื่องโลกจะอุ่นขึ้นหรือไม่จะยังมีการถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ตะวันตก แต่มีฉันทามติออกมาแล้วในปีที่ผ่านมาโดยองค์กรที่ยูเอ็นให้การสนับสนุนอยู่คือ INTER GOVERNMENTAL PANEL ON CLIMATE CHANGE ประกาศออกมาแล้วว่าในปี 2100 อุณหภูมิทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1-3.5 เซนติเกรดเนื่องจากผลของคาร์บอนไดออกไซด์และสารอื่นๆในชั้นบรรยากาศที่ขับเอาความร้อนเอาไว้ นักวิทยาศาสต์กลุ่มหนึ่งถึงกับเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะก่อให้เกิดเหตุการณ์ความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศบ่อยขึ้นอาทิพายุเฮอร์ริเคนและน้ำท่วม
ในอดีตบรรดาอุตสาหกรรมต่างๆถูกประณามว่าเป็นสาเหตุของปัญหาเรือนกระจกแต่เลกเกตต์ก็อาสามาแก้ไขสถานการณ์ในทันท่วงที ซึ่งหลายคนบอกว่าเขาเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดเพราะเขาคืออดีตที่ปรึกษาอุตสาหกรรมน้ำมันและผู้บรรยายในวิทยาลัย LONDON’S IMPERIAL COLLEGE OF SCIENCE, TECHNOLOG Y&MEDICINE อีกแห่งหนึ่งด้วย
แทนที่เลกเก็ตต์จะไปเจรจากับอุตสาหกรรมต้นเหตุโดยตรง เลกเก็ตต์กลับดอดไปคุยกับบรรดาบริษัทประกันแทนโดยยกตัวอย่างกรณีพายุเฮอร์ริเคนแอนดรูว์ในปี 1992 ที่ทำให้อุตสาหกรรมประกันขาดทุนไปถึง 17,000 ล้านดอลลาร์และอีก 8 รายถึงกับหมดตัว หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆเลกเก็ตต์กล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันอาจถึงขั้นอวสาน
แม้ว่าตัวบริษัทประกันจะไม่เคยทิ้งน้ำมันลงในทะเลหรือปล่อยก๊าซพิษออกมา แต่บริษัทเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมต่างๆที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่บริษัทประกันรับปากกับเลกเก็ตต์คือ จะช่วยในแง่ผลิตภัณฑ์ประกันและส่งเสริมรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อมและปฏิเสธที่จะขายประกันแก่บริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยอมซื้อหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อเปิดวิวาทะเรื่องนี้
ก้าวต่อไปของเลกเก็ตต์คือการชักชวนให้นายหน้าค้าประกันและนายธนาคารร่วมกันจัดการกับปัญหาเรือนกระจกอย่างที่เขาบอกว่า “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่คนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่นักอุตสาหกรรมใช่” นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้ช่วยกันรณรงค์เรื่อง “การปฏิวัติพลังแสงอาทิตย์” โดยแนะให้ธนาคารต่างๆปล่อยกู้แก่นักกิจการที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและส่งเสริมกิจการที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|