ผู้ค้าปลีกฮ่องกงบุกแดนซามูไร


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังเสร็จจากทัวร์ชอปปิ้งที่ฮ่องกงมาหมาดๆ ยูคิโกะ มัตซูโอกะ สาวออฟฟิศวัย 26 จากแดนอาทิตย์อุทัยก็พบว่าในกระเป๋าเดินทางของตนเต็มไปด้วยเสื้อผ้ายี่ห้อสินค้าของฮ่องกง มิใช่ยี่ห้อยอดนิยมอย่างกุชชี่หรือเฮอร์เมส โดยเธอหมดเงิน 1,200 ดอลลาร์ไปกับแจ็กเกต 2 ตัวและกระโปรงหนึ่งชุดยี่ห้อ JESSICA และสูทอีกหนึ่งตัวยี่ห้อ EPISODE เหตุผลที่เธอเลือกซื้อยี่ห้อของฮ่องกงเพราะชอบการออกแบบที่เรียบง่ายที่สำคัญราคาก็สมเหตุสมผล

ผู้ค้าปลีกฮ่องกงเชื่อว่ามีชาวญี่ปุ่นอีกมากที่คิดเหมือนกับมัตซูโอกะและหลายรายก็เริ่มบุกเจาะตลาดซามูไรเป็นการใหญ่ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องประดับอย่างเช่น TOPPY INTERNATIONAL และ ESPRIT ASIA รวมทั้งร้านซูเปอร์มาร์เกตอย่าง DIARY FARM ได้เข้าตั้งร้านในญี่ปุ่นด้วยหวังที่จะสร้างฐานที่มั่นในระยะยาว

สิ่งที่ผู้ค้าปลีกฮ่องกงกำลังทำอยู่ก็เหมือนกับการเสี่ยงโชคอย่างหนึ่งเพราะอันที่จริงไม่มีผู้ค้าปลีกเอเชียรายไหนที่เตรียมการทำธุรกิจในตลาดญี่ปุ่นในระยะยาว แต่ทว่าตอนนี้ยี่ห้อสินค้าฮ่องกงเรียกได้ว่ากำลังฮอตสุดในแดนอาทิตย์อุทัย เนื่องจากบรรดาผู้ค้าปลีกหน้าใหม่ได้รับแรงช่วยจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกลงรวมถึงการผ่อนคลายกฎในธุรกิจค้าปลีกซึ่งทำให้การเปิดและบริหารร้านที่นี่เป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น

อาจไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจเลยที่ว่าผู้ค้าปลีกฮ่องกงสามารถทำธุรกิจให้รุ่งได้ในญี่ปุ่นทั้งนี้เพราะพวกเขามีประสบการณ์ในการพยายามก้าวเป็นเจ้าในการแข่งขันบวกกับความเคยชินกับบรรยากาศการทำธุรกิจที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่สูงลิ่วในประเทศของตัวเองเหมือนกับที่ญี่ปุ่นและตอนนี้พวกเขาก็กำลังพยายามที่จะแสวงหาประโยชน์จากการแข่งขัน ด้วยการลงทุนกับบรรดาผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นที่เริ่มมีความรู้สึกใหม่คือหันมาคิดถึงเรื่องราคา

ห้างสรรพสินค้าโทบุเป็นหนึ่งในห้างของญี่ปุ่นรายแรกๆที่ขายสินค้าของฮ่องกงในปี 1993 โทบุได้เริ่มนำเสื้อผ้าจากฮ่องกงหลากหลายยี่ห้อไม่ว่าจะเป็น EPISODE, EXCURSION, JESSICA, JESSELLE และ COLOR 18 เข้ามาไว้ในสต็อก และปัจจุบันเสื้อผ้ายี่ห้อเหล่านี้ที่ผลิตโดย TOPPY INTERNATIONAL ทั้งหมดก็ได้มีโอกาสขึ้นมาตั้งโชว์ใกล้กับเสื้อผ้ายี่ห้อดังจากแดนอินทรีอย่างเช่น DKNY, MAX MARA และ CALVIN KLEIN แต่ทว่าราคากลับถูกกว่าถึงครึ่งโดยยอดขายของทั้ง 5 ยี่ห้อข้างต้นเพิ่มราว 10-20% ต่อปี

อีกเจ้าที่พุ่งเข้ามาเต็มตัวคือ ESPRIT ASIA โดยตั้งร้านบูติกในเมืองมิตซูโกชิในปีทีแล้วและตอนนี้ก็ขยายร้านไปถึง 6 แห่งส่วนรายล่าสุดคือ THEME ที่จับมือกับ PARCO ของประเทศเจ้าถิ่นในเดือนตุลาคมที่แล้วเพื่อขายเสื้อผ้าสตรีในร้าน 3 แห่งในกรุงโตเกียวและนาโกย่า

ความเคลื่อนไหวที่กล่าวมาข้างต้นกำลังสร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดค้าปลีกของต่างชาติในญี่ปุ่นที่ครั้งหนึ่งในตอนแรกเริ่มเดิมทีได้สงวนไว้ให้กับร้านจากตะวันตก โดยพวกที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าปลีกที่มีความชำนาญเป็นพิเศษอย่างเช่นยี่ห้อ GAP และ EDDIE BAUER ร้านขายเทป TOWER RECORD, HMV และ VIRGIN MEGASTORE หรืออย่าง BODY SHOP และ TOYS ‘R’ US

อย่างไรก็ตามใช่ว่าผู้ค้าปลีกฮ่องกงจะประสบความสำเร็จเสียทุกราย ตัวอย่างเช่นจิออร์ดาโนผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าของฮ่องกงซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรายแรกที่เข้ามาตั้งร้านในญี่ปุ่นแบบฉายเดี่ยวแต่โชคไม่เข้าข้างชื่อของจิออร์ดาโนไม่ติดหูคนญี่ปุ่นเอาเสียเลย ทำให้ต้องปิดร้านลงใน 2 ปีถัดมา ตอนนี้บริษัทเลยจำกัดตัวเองอยู่แค่การผลิตที-เชิ้ตให้กับโอยาม่าร้านขายเสื้อผ้าบุรุษราคาถูก

สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องประดับญี่ปุ่นไม่มีเหมือนอย่างที่ฮ่องกงมีก็คือความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนเนื่องจากเสื้อผ้าของฮ่องกงส่วนใหญ่ผลิตในจีนซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำอีกทั้งยังผลิต ออกแบบและดำเนินการด้านการตลาดด้วยตัวเอง ข้อได้เปรียบอีกหนึ่งข้อที่ฮ่องกงเหนือแต้มกว่าผู้ผลิตยุโรปและอเมริกันคือ ความเข้าใจในเรื่องของเซนส์แฟชั่นที่ผู้หญิงตะวันออกนิยมคือสีของเสื้อผ้าจะไม่เด่นจนโอเวอร์ทั้งยังรู้จักใช้วัตถุดิบอย่างเช่นผ้าไหมที่ถูกกับรสนิยมของสาวญี่ปุ่น

ไม่เพียงแต่เสื้อผ้าเท่านั้นที่บุกเข้ามาร้านซูเปอร์มาร์เกตของฮ่องกงเองก็กำลังเดินรอยเดียวกับร้านเสื้อผ้า อย่างเช่น DAIRY FARM ได้ร่วมทุนกับ SEIYU ของเจ้าถิ่นในปีที่แล้วในชื่อใหม่ว่า DFI SEIYU และตอนนี้มีร้านซูเปอร์มาร์เกต 5 ร้านรอบๆโตเกียว ทั้งยังตั้งเป้าจะเปิดให้ได้ 100 แห่งใน 5 ปีแต่ก็ยังต้องแข่งขันกับไดอิและอิโต-โยกาโดะ ร้านซูเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ในประเทศ

แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างเนื่องจากการเปิดตลาดย่อมหมายถึงคู่แข่งที่มากหน้าหลายตาขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ค้าปลีกต่างชาติจะยังคงกระโจนเข้ามาเพื่อแสวงหาโชค ดังที่เท็ตซูโอะ นีวาที่ปรึกษาอาวุโสแห่งแอลทีซีบีอาร์ คอนซัลติ้งกล่าวไว้ว่า “หากคิดประสบความสำเร็จในเอเชีย คุณจำเป็นต้องครอบครองจีน ญี่ปุ่นและอินเดียให้ได้เสียก่อน”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.