|

กองทุนรักษาหุ้นไม้บรรทัดสำหรับผู้ว่าฯวิจิตร
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ข่าวคราวอื้อฉาวเกี่ยวกับผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการถือหุ้นและลงทุนหุ้นในสถาบันการเงิน ทำให้ผู้คนมากมายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเหมาะสม” “จรรยาบรรณ” ของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล นโยบายการเงินการคลังของไทยซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวคราวที่ออกมาในลักษณะนี้ได้กระทบกระเทือนต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้เอง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ กลต. ก็ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่ “กองทุนรักษาหุ้น” หรือ BLIND TRUST เพื่อป้องกันข้อครหารวมถึงการหาประโยชน์ของผู้บริหารระดับสูง ที่รับผิดชอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินการคลัง มีการลงทุนในหุ้นหรือมีหุ้นในครอบครองขณะดำรงตำแหน่ง
ดร.ประสารกล่าวถึงสาเหตุที่เสนอแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนรักษาหุ้นก็เนื่องมาจากประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ ทางกระทรวงการคลังและตลาดหลักทรัพย์จะมีการจัดตั้งและให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริหารกองทุนส่วนบุคคลหรือ PRIVATE FUND ได้
“ผมก็คิดว่าถ้าอนุญาตให้ตั้งกองทุนส่วนบุคคลได้เราก็น่าจะเสนอเรื่องกองทุนรักษาหุ้นเข้าไปด้วยเพราะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์มากอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับภาพพจน์ของผู้บริหารเวลาขึ้นดำรงตำแหน่งแล้วมีข่าวพัวพันหุ้น กองทุนรักษาหุ้นนี้จะช่วยได้มาก ส่วนแนวคิดนี้จะได้รับอนุมัติหรือไม่คงต้องรอดูเดือน ก.ค. นี้ก่อน ตอนนี้ยังเป็นแค่แนวคิดที่ผมเสนอ ยังไม่ได้เป็นรูปธรรมอะไร แต่คิดว่าน่าจะได้รับความสนใจนะ อาจจะเกิดควบคู่กับกองทุนส่วนบุคคลก็ได้”
เนื่องจากการบริหารกองทุนส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่อาจจะนำข้อมูลของผู้ลงทุนไปใช้หรือแสวงหาผลประโยชน์ได้ถ้าไม่มีการจัดตั้งกองทุนรักษาหุ้นก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามมา
สำหรับแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนรักษาหุ้นในไทยนั้น ดร.ประสารบอกว่าควรจะมีโครงสร้างการจัดตั้งเหมือนกองทุนรักษาหุ้นของสหรัฐอเมริกา เพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศตลอดรวมไปถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนว่า ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้จะต้องนำหุ้นและสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนฝากไว้กับกองทุนรักษาหุ้นโดยจะมีการเก็บข้อมูลที่ถือก่อนรับตำแหน่งและรวบรวมเก็บไว้ที่กองทุนเพียงแห่งเดียว
“ที่จริงผมคิดว่าไม่ใช่เป็นความผิดของผู้บริหารที่จะมีหุ้นในครอบครองโดยชอบก่อนเข้ารับตำแหน่งและขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งก็ไม่ควรที่จะมีการบังคับคนเหล่านั้นขายหุ้น” ดร.ประสารกล่าว
ส่วนหน้าที่และบทบาทของกองทุนรักษาหุ้นนั้น ดร.ประสารบอกว่าจะต้องเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาหุ้นของผู้บริหารที่นำมาฝากไว้ ทั้งนี้จะมีข้อมูลที่เป็นเอกสารที่พร้อมจะทำการตรวจสอบได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด
นอกจากนั้นกองทุนรักษาหุ้นจะมีหน้าที่ในการบริหารและรักษาผลประโยชน์ให้กับหุ้นที่นำมาฝาก โดยผู้บริหารจะได้รับผลตอบแทนจากการบริหารของกองทุนซึ่งดร.ประสารก็บอกด้วยว่าผลตอบแทนที่จะเกิดดอกออกผลนั้นจะต้องไม่สูงจนเกินไป จนก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ของผู้บริหารนั้นๆ ทั้งนี้ผลตอบแทนของกองทุนรักษาหุ้นควรจะใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรือถ้ามีผลตอบแทนที่สูงผิดปกติ ก็จะมีคณะกรรมาธิการเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าวทันที
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้บริหารเหล่านั้นได้ผลตอบแทนตามความเหมาะสมก็จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดที่ว่าด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งจะต้องไม่มีการซื้อหรือขายหุ้นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความสุจริตใจ
รองเลขาธิการ ก.ล.ต.ได้ย้ำว่า เพราะบทเรียนที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารด้านการเงิน การคลังของไทยจนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวไม่ว่าจะเป็นวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกรณีรับหุ้นบงล.นครหลวงเครดิต จำนวน 44,000 หุ้นในราคาพาร์ 10 บาทหรือแม้แต่คุณเสรี จินตนเสรีกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเองก็อยู่ในข่ายนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะปล่อยให้ผ่านไป โดยไม่มีการดำเนินการใดๆเพราะเรื่องราวเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันการเงินต่างๆทั้งในและต่างประเทศ การมีกองทุนรักษาหุ้นและต้องถือเป็นเรื่องจริงจังที่จะต้องดำเนินการตามกฎและมีการดูแลอย่างเข้มงวดรัดกุม
ในเรื่องรูปแบบของการจัดตั้งกองทุนรักษาหุ้น ดร.ประสารบอกว่าต้องมีการเสนอรายละเอียดในด้านต่างๆรวมทั้งข้อกำหนดที่ชัดเจนเช่นว่า ผู้บริหารตามข้อกำหนดนั้น คือผู้บริหารในระดับใด ระบบการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร โดยจะดูแบบจากของสหรัฐฯซึ่งระบบตรวจสอบแบบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตามรายละเอียดเหล่านี้ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามถึงระบบการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารในสหรัฐฯ ดร.ประสารกล่าวว่าของสหรัฐฯนั้นจะเป็นระบบการถ่วงดุลที่ถือว่าแข็งแกร่งมากและจะมีขั้นตอนการดำเนินงานที่รัดกุมโดยเฉพาะการตรวจสอบจากรัฐสภา นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการที่ดูแลจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง...เข้มแข็งมากแค่ไหน
“ก็มากพอที่ผู้บริหารอย่างประธานาธิบดีก็ไม่สามารถที่จะแย้งได้ ซึ่งทำให้กองทุนรักษาหุ้นเป็นที่ยอมรับของประชาชนและยังยืนยันถึงความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของประเทศด้วย โดยผู้ที่จะมาดูแลกองทุนรักษาหุ้นนั้นมีทั้งมาจากผู้ที่เป็นวุฒิสมาชิกจากสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ตรวจสอบบัญชี แต่บุคคลเหล่านี้จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมาธิการที่ดูแลเรื่องนี้ก่อน” ดร.ประสารกล่าว
ดร.ประสารยังได้กล่าวถึงนโยบายหลักที่จะพัฒนา ก.ล.ต.ในปีนี้ด้วยว่า จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในตลาดทุนให้สมบูรณ์ขึ้น สร้างกรอบกฎหมายข้อบังคับที่สำคัญในตลาดทุนของประเทศพัฒนาธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ซึ่งนโยบายเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นนโยบายที่จะยกระดับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้มีความทันสมัยทั้งในเชิงเทคนิค และรูปแบบดำเนินการและยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อตลาดทุนในต่างประเทศด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|