ทุนการเงินยึดเวทีสภา


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2539 ดูเหมือนจะถูกกลบด้วยประเด็นเร้าใจที่นายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชาสร้างวีระกรรมชิงปิดอภิปรายจนเป็นที่โจษจันท์แล้ว อันที่จริงยังมีประเด็นสำคัญแฝงเร้นซึ่งไม่ควรถูกมองข้าม

ประเด็นที่ว่านี้ คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สุรเกียรติ์ เสถียรไทยในวันสุดท้าย โดยขุนพลจากฝ่ายค้านที่เลือกสรรแล้วว่าเชี่ยวชาญเรื่องการเงินการคลังที่สุด ศุภชัย พาณิชภักดิ์-ไตรรงค์ สุวรรณคีรี-พิเชษฐ์ พันธ์วิชาติกุล จากพรรคประชาธิปัตย์

ปรากฏว่าเนื้อหาของการอภิปรายส่วนใหญ่พาดพิงถึงธนาคารแห่งประเทศไทยสถาบันที่เป็นเสาหลักสำคัญทางเศรษฐกิจไทยด้วยเนื้อหาที่เผ็ดร้อนรุนแรงและยาวนานเป็นประวัติการณ์จนมีการพูดกันว่าระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยใครกันแน่ที่เป็นเป้าหมายหลักของบรรดา สส.ฝ่ายค้าน

6 ใน 9 หัวข้อที่ศุภชัยลุกขึ้นอภิปรายเป็นความรับผิดชอบของแบงก์ชาติโดยตรง ได้แก่นโยบายดอกเบี้ยการควบคุมสินเชื่อธนาคาร, การไหลเข้าของเงินเก็งกำไรจากต่างประเทศ, การควบคุมเงินเฟ้อ, ปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้แพงสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก, การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ไม่นับประเด็นปัญหาธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแบงก์ชาติโดยตรงซึ่งอภิปรายไปก่อนหน้านี้แล้ว

ไตรรงค์ สุวรรณคีรี วิพากษ์อย่างออกรส “(รัฐมนตรีคลัง) นึกอะไรออกก็มาตรการมา จิปาถะเลอะเทอะ เพราะท่านสุรเกียรติไปให้ความสนิทสนมต่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมากเกินไป ซึ่งแบงก์ชาติก็ชอบเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตนเองมีอำนาจ นี่เป็นลักษณะกิเลสมนุษย์ธรรมดา...”

นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพลังของกลุ่มทุนการเงินที่ฝังรากลึกมานานในสังคมไทยนับแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบการเงินแบบปิดทำหน้าที่ป้องกันคู่แข่งขันอย่างสัมฤทธิ์ผล ขณะเดียวกันก็เอื้อต่อการแผ่อิทธิพลในระบบเศรษฐกิจไทยที่ผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล

แต่ไหนแต่ไรมาบทบาทของกลุ่มทุนการเงิน “ซึมลึก” ไม่เอิกเกริกซ่อนสาระไว้ภายใต้หน้าฉากที่ราบเรียบเสมือนคลื่นไต้น้ำ ทว่าบทบาทเหล่านี้กำลังเริ่มเผยตัวออกสู่สาธารณะชนมากขึ้น –สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภาเที่ยวนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มทุนการเงินได้สร้างบรรทัดฐานที่เข้มแข็งในระบบการเงินไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้เริ่มทยอยเข้าสู่สนามการเมือง

ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ลาออกจากแบงก์ชาติลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 8 ปีก่อน ช่วงที่สอบตกก็เป็นกรรมการแบงค์ทหารไทย

รุ่นลายครามก็เช่น บุญชู โรจนเสถียร อดีตกรรมการผู้จัดการแบงก์กรุงเทพ ผู้ขัดตาทัพก่อนชาตรี โสภณพนิชจะปีกแข็ง อำนวย วีรวรรณ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพฯ ปัจจุบันหัวหน้าพรรคนำไทย

มาถึงรุ่นล่าสุด ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการแบงก์ไทยพาณิชย์ ลาออกไปเป็นรัฐมนตรีคลังสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพคนสุดท้ายที่ไม่ใช่โสภณพนิช มารับตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมช่วงท้ายของรัฐบาลชุดก่อนฯลฯ

บังเอิญพรรคการเมืองที่ผูกพันธมิตรกับกลุ่มทุนการเงินได้นั้นส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้านในยุคนี้

ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทยขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังอย่างโดดเดี่ยว เขาไม่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนการเงินผิดกับรัฐมนตรีคลังคนก่อน ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ที่ทำอะไรก็ดูง่ายไปหมดออกมาตรการแต่ละครั้งตลาดการเงินขานรับอย่างราบรื่น

ดร.สุรเกียรติถูกปฏิกิริยาในเชิงลบทันทีที่รับตำแหน่ง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทรุดกว่า 70 จุดเมื่อออกมาตรการต่างๆกลุ่มทุนการเงินก็เกิดอาการ “ผิดสำแดง” ดอกเตอร์ทางกฎหมายจากฮาร์วาร์ดคนเดียวของประเทศไทยผู้นี้ยังถูกตั้งข้อหาว่าคุณสมบัติ “ไม่เหมาะสม” ขณะที่อดีตรัฐมนตรีคลังยุคก่อนๆอาทินักเลือกตั้งอย่างประมวล สภาวสุหรือบรรหาร ศิลปอาชาก็ยังไม่โดนหนักข้อเช่นนี้

เมื่อรัฐมนตรีคลังหันไปพึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย วิจิตร สุพินิจผู้ว่าการแบงก์ชาติก็ถูกจัดชั้นโดยกลุ่มทุนการเงินว่าเป็น “พรรคพวก” ของสุรเกียรติ ความเชื่อมั่นที่กลุ่มทุนการเงินเคยมีต่อตัวผู้ว่าการมาตลอด 6 ดปี กลับกลายเป็นความรู้สึกฉันท์ปรปักษ์เข้ามาแทนในช่วงไม่ถึง 7 เดือน

“แต่ก่อนแบงก์ชาติแค่เอ่ยปากขอร้องอะไรคนเขาก็ให้ความร่วมมือดีแต่ตอนนี้ไม่มีใครเขาเชื่อแล้ว เลยต้องออกเป็นคำสั่งเป็นมาตรการออกมา...” ฉากหนึ่งที่ไตรรงค์ อภิปรายสะท้อนภาพความรู้สึกกลุ่มทุนการเงิน

ผลงานที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนนี้สร้างให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมาตลอด อาทิผ่อนคลายปริวรรตเงินตรา เปิดระบบการเงินวิเทศธนกิจ (BIBF – Bangkok International Banking Facilities) เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค บัดนี้กลับไม่มีใครพูดถึง

ไม่แปลกอะไรที่วิจิตร สุพินิจจะถูกเป็นเป้าอภิปรายในรัฐสภาควบคู่ไปกับคนนอก-สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อย่างเผ็ดร้อนรุนแรงต่อสาธารณชนตลอด 6 ชั่วโมง

กลุ่มทุนการเงินมีอิทธิพลครอบงำและแผ่รากยึดเศรษฐกิจไทยลึกกว่าที่เห็นมากนักบทบาทในเชิงลึกที่สร้างกิจกรรมหลักทุนการเงินถูกกลุ่มทุนการเงินบทบาทในเชิงลึก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.