โรเล็กซ์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อาคารโรเล็กซ์ บนถนนวิทยุ ยังคงโดดเด่นด้วยโครงสร้างตัวอาคาร เป็นรูปทรงกลม และสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งสถาปนิกพยายาม สะท้อนไปถึงหน้าปัดนาฬิกา โดยเน้นความเรียบหรู เส้นโค้ง และตกแต่งด้วยหินแกรนิต บ่งบอกถึงความแข็งแกร่ง และมั่นคง เช่นเดียวกับคุณสมบัติอันโดดเด่นของนาฬิกาโรเล็กซ์

โรเบิร์ต จี บุย (Robert G.Boughey) สถาปนิกชาวอเมริกัน เป็นผู้ออกแบบงานชิ้นนี้ โดยมีแนวคิดหลักที่ว่าไม่ได้ต้องการให้ที่นี่ เป็นแค่โชว์รูมนาฬิกาธรรมดาๆ อย่างเดียว แต่ต้องมีความสง่างาม ให้สมกับความเป็นโรเล็กซ์ด้วย และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ได้เลือก รูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมา เข้ามาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของตัวอาคาร ที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนักเพียงประมาณ 1,300 ตารางเมตรเท่านั้น

ศูนย์นาฬิกาโรเล็กซ์ เป็นอาคารสูง 4 ชั้น เมื่อเข้าไปใน อาคาร จะพบกับส่วนแรกคือ แผนกต้อนรับ และห้องโถงแสดงสินค้า มีศูนย์บริการตรวจสอบสภาพนาฬิกาด้วยเครื่องมือทันสมัยจากสวิส อยู่ในส่วนหลังของห้องโถงแสดงสินค้า ซึ่งส่วนนี้จะเปิดโล่ง เพื่อให้ ลูกค้าได้เห็นการทำงานอย่างใกล้ชิด เมื่อเดินเข้ามาจากประตูทาง ด้านหน้า จะเห็นลวดลายบนพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 12 ส่วนเช่นเดียวกันกับเลข 12 ตัวบนหน้าปัดนาฬิกา

ส่วนชั้น 2 เป็นห้องเก็บสินค้า และห้องทำงานด้านเทคนิคชั้น 3 เป็นห้องคอมพิวเตอร์ แผนกบัญชี ผู้บริหารจะอยู่ชั้นบนสุด

ภายในศูนย์ นอกจากความโดดเด่นของประดิษฐกรรมเวลา ของโรเล็กซ์ที่จัดแสดงหลากรุ่นหลายรูปแบบแล้ว ยังมีจุดเด่นที่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังบนเพดานห้องโถง ผลงานสร้างสรรค์ของปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินชั้นนำของไทย โดยเป็นเรื่องราวของโลก แห่งจินตนาการ ซึ่งคนและสัตว์จากเทพนิยายตะวันออกและตะวันตกโลดแล่นอย่างเป็นอิสระ ด้วยสีสันสดใสเปี่ยมพลัง โดยศิลปินได้แรงบันดาลใจมาจากการผสานสองแนวคิด คือ เวลา และการกำเนิดของสรรพสิ่ง

และเป็นส่วนที่สร้างความสง่างามให้เพิ่มขึ้นในอาคารหลังนี้ เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.