ปลุกตลาดพีซีซบด้วยเครื่องราคาถูก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

นับแต่ต้นปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพีซีจะมีแต่ข่าวร้ายให้ได้ยินกันเริ่มจากวันที่ 16 มกราคมที่อินเทล บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ออกมาเผยว่ายอดขายไตรมาสแรกจะไม่กระเตื้องขึ้นเลย ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกในรอบสี่ปีที่ไม่มีอัตราการเติบโต

ถัดมาในวันที่ 1 มีนาคมคอมแพค ผู้ผลิตพีซีรายใหญ่แห่งนี้ประกาศว่ายอดขายไตรมาสแรกมีเข้ามาเบาบางและส่วนต่างกำไรก็หดแคบลงสามวันต่อมา อินเตอร์เนชั่นแนล บิสเนส แมชีส์ (ไอบีเอ็ม)

ก็ออกมาแสดงความผิดหวังถึงอัตราการเติบโตของพีซีในสหรัฐฯ ให้หลังไปเพียงไม่กี่วันในวันที่ 19 มีนาคม เซอร์รัสลอจิก ผู้ผลิตชิปของมะกันก็ประกาศเปรี้ยงปลดคนงานออก 13% โดยอ้างว่าเป็นเพราะยอดขายพีซีมีน้อยมาก

อุตสาหกรรมพีซีที่เคยพุ่งสวนทางกับแรงดึงดูดของโลกมีอันต้องดิ่งลงสู่พื้นปฐพี เหตุใหญ่เป็นเพราะตลาดสหรัฐฯตกอยู่ในอาการซบเซา มีการทำนายไว้ว่ายอดจัดส่งพีซีในปีนี้จะพุ่งขึ้นเพียง 12%
ลดลงจากที่เคยเฟื่องฟูถึง 22% เมื่อปีกลาย

ทั้งนี้เป็นเพราะยอดขายในตลาดประเภทกิจการ, สถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐบาลหรือครึ่งหนึ่งของยอดจัดส่งกำลังรูดลง เพราะลูกค้ารอใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ เอ็นที รุ่นใหม่ของไมโครซอฟฟต์ที่กำหนดออกมาพร้อมกับยูสเซอร์อินเตอร์เฟซของวินโดว์ 95 ในซัมเมอร์นี้ ในส่วนตลาดโฮมพีซีที่เคยรอนแรงในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มเย็นลง หลายบริษัทเลิกคิดที่จะขยายตลาดพีซีให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคนเพราะความที่พีซีมีราคาแพงเกินไปโดยขณะนี้ ดาต้า เควสต์ยืนยันว่าครัวเรือนในสหรัฐฯมีพีซีใช้กันไม่ถึง 29% ด้วยซ้ำ

ปีนี้จึงเป็นปีแห่งความโชคร้ายของวงการพีซี ผู้รับเคราะห์รายแรกสุดเห็นจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญโดยขณะนี้เท็กซัส อินสตรูเมนท์และไมครอน เทคโนโลยีออกมายอมรับแล้วว่ายอดขายพีซีที่อยู่ในอาการซบเซาเป็นเหตุให้ยอดจัดส่งและกำไรจากชิปความจำถลาลงดิน แม้ไมโครซอฟท์จะยังคงยืนยันที่จะส่งระบบปฏิบัติการดังกล่าวอีกกว่า 50 ล้านก็อปปี้จนถึงวันครบกำหนดคลอดหนึ่งขวบปีในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ แต่อลัน เอฟชูการ์ต ซีอีโอของซีเกตเทคโนโลยี ผู้ผลิตดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกก็ยอมรับความจริงว่า “ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์บางรายกำลังย่ำแย่ในขณะที่บางรายกำลังไปได้สวย”แข่งเดือดเพิ่มมาร์เกตแชร์

เพื่อรักษาอัตราการเติบโตเอาไว้ คอมแพคและบริษัทคอมพิวเตอร์อีกหลายค่ายจำเป็นต้องเฉือนส่วนแบ่งตลาดกันอย่างรุนแรง แต่สำหรับยักษ์ใหญ่อย่างคอมแพค, ไอบีเอ็มและแอปเปิลที่ยอดขายครึ่งหนึ่งมาจากตลาดนอกสหรัฐฯที่มีปัญหาไม่รุนแรงเท่าคงไม่ต้องเจ็บลึกเหมือนอย่างฮิวเลตต์ แพคการ์ด (เอชพี) ซึ่งเน้นทำตลาดคอนซูเมอร์สหรัฐฯเป็นหลัก

ดิจิตอล อิควิปเมนท์ คอร์ป (เดค) นั้นโบกมือลาตลาดโฮมพีซีไปแล้วหลังจากที่เห็นว่าเป็นตลาดที่หินมาก โดยตัดสินใจดึงพีซี “สตาร์เรียน” ออกจากตลาดและพร้อมยอมรับความพ่ายแพ้ที่จะมีผลต่อกำไรไตรมาสที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มีนาคม

ในส่วนของเซิร์ฟเวอร์เน็ตเวิร์กกลับมียอดขายโตวันโตคืนด้วยอัตราการขยายตัว 30% ในปีนี้หรือแม้กระทั่งยอดขายคอมพิวเตอร์แล็ปทอปที่เคยดิ่งเหวในปีก่อนก็คาดว่าจะตีตื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่ผู้ผลิตเปลี่ยนมาใช้ชิปเพนเทียม

สำหรับตลาดต่างแดนอย่างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นก็มีโอกาสในการขยายตัวอีกมาเฉพาะในญี่ปุ่นตลาดเดียวคาดว่าคงจะมียอดขายพีซีในปีนี้สูงถึง 6.5 ล้านเครื่องหรือปรับตัวสูงขึ้น 30% ส่วนตลาดโฮมพีซีในประเทศดังกล่าวก็จะปรับตัวสูงถึง 24% เพิ่มขึ้นจากเพียง 19% ในปีก่อนหน้า
สินค้าล้นตลาด

ที่จริงปัญหาใกล้ตัวของผู้ผลิตไม่ใช่อื่นไกล แต่อยู่ที่สินค้าคงคลังที่กองเป็นภูเขาหลังจากที่คริสต์มาสที่ผ่านมามียอดจัดส่งเพิ่มขึ้นเพียง 15% จากไตรมาสสี่ของปีก่อนหน้าจึงเป็นเหตุให้ต้องมีศึกห้ำหั่นราคากันอย่างดุเดือดเลือดพล่านเพื่อระบายพีซีค้างโกดังออกโดยในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา สี่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการประกอบด้วยคอมแพค, ไอบีเอ็ม, เอชพีและเดลล์ ทยอยกันตัดราคารวมทั้งสิ้นถึง 30%

แม้สินค้าคงคลังจะร่อยหรอลงไปบ้างแล้ว แต่บริษัทพีซีก็ต้องพบว่าดีมานด์ในตลาดโฮมพีซีในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวฉุดการเติบโตของอุตสาหกรรม ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมากำลังลดน้อยถอยลง โดยอาจจะลดลงเหลือเพียง 8% จากที่เคยพุ่งสูงถึง 22% และ 42% ใน 1995 และ 1994 ตามลำดับยอดขายพีซีที่เคยทำได้อย่างมโหฬารในปี 1992-1995 กลายเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่เป็นอดีตไปแล้วเพราะขณะนี้คอมพิวเตอร์กำลังเปลี่ยนจากเครื่องพิมพ์ดีดไฮเทคเป็นอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงระบบมัลติมีเดียและไซเบอร์ครุยเซอร์หรืออุปกรณ์เจาะเข้าอินเตอร์เน็ตที่อย่างน้อยๆทุกคนก็ต้องมีไว้ใช้คนละเครื่อง

แต่ถึงอย่างไรลูกค้ารุ่นแรกที่จะซื้อไปใช้ในปีนี้ก็คงจะมีเพียง 1 ล้านรายซึ่งน้อยกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ว่าจะมีจำนวนถึงปีละ 2 ล้านรายในส่วนของเอชพีเผยถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะบริษัทยังขายสินค้าได้เฉพาะกับลูกค้าหน้าเดิมๆยังไม่เห็นลูกค้าหน้าใหม่แต่อย่างใด

เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ การขยายแชร์ตลาดจึงเน้นที่เครื่องราคาถูกลงซึ่งยังคงใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าอย่างชิปอินเทล 486 แทนที่จะคงราคาเครื่องไว้ในระดับเดิมประมาณเครื่องละ 1,700-3,000 ดอลลาร์หรือดันราคาเครื่องให้สูงขึ้นโดยใส่เทคโนโลยีล่าสุดอย่างเช่นชิปความจำขนาด 24 เมกะไบต์เข้าไป ในความเห็นของบรูซ สตีเฟ่นนักวิเคราะห์ของไอดีซีมองว่ากลยุทธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตต้องทำเพื่อสร้าง “คลื่นลูกค้าลูกใหม่”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.