|
พิษของความคลุมเครือ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าสังเกตกันดีๆในบรรดาโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐให้สัมปทานเอกชน คงไม่มีรายใดที่สับสนเท่ากับโครงการทางรถไฟยกระดับของบริษัทโฮปเวลล์อีกแล้ว
บริษัทโฮปเวลล์ ผู้ได้สัมปทานสร้างทางรถไฟยกระดับมูลค่า 70,000 ล้านบาท (ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2533) เริ่มก่อสร้างทางรถไฟยกระดับมาตั้งแต่ 5 ปีก่อนถึงตอนนี้ปรากฎว่างานเสร็จไปเพียง 3% ในปี 2541 ซึ่งเป็นวันที่โครงการนี้ต้องแล้วเสร็จจนถึงบัดนี้ยังไม่มีวี่แวว
เหตุการณ์เช่นนี้หากเกิดขึ้นในประเทศอื่น อย่างสิงคโปร์ป่านนี้กอร์ดอน วู คงต้องพับกระเป๋ากลับฮ่องกงไปนานแล้ว แต่ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้?
กอร์ดอน วู เข้ามาประมูลโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณโดยมีมนตรี พงษ์พานิชเป็นรัฐมนตรีคมนาคมต้นสังกัด
สัญญาที่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นไปอย่างคลุมเครือไม่มีอะไรกำหนดตายตัวแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอายุสัมปทานซึ่งกำหนดไว้ 30 ปี สามารถขยายเวลาได้อีก 8 ปีเมื่อบริษัทร้องขอและถ้ารัฐไม่ปฏิเสธโดยมีเหตุอันสมควรภายใน 60 วันก็ให้ถือว่ายินยอม
เรื่องระยะเวลาก่อสร้างไม่มีบทปรับหรือมาตราใดลงโทษหากบริษัทดำเนินการล่าช้า ตีความตามเนื้อผ้าก็คือโฮปเวลล์สามารถก่อสร้างไปเรื่อยๆจนถึงอายุสัมปทาน 30 ปีนั่นเอง
การยกเลิกสัญญาโดยรัฐบาลไทย จะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าขั้นร้ายแรงจริงๆเช่นบริษัทล้มละลายหรือเหตุสุดวิสัยอาทิ สงครามแผ่นดินไหวฯลฯ
ไม่มีการพูดถึงแบบแผนพิมพ์เขียวก่อสร้างและระยะเวลาที่ชัดเจนไม่มีการพูดถึงต้นทุนการเงินของโครงการที่ชัดเจนว่าเป็นส่วนก่อสร้างรถไฟเท่าไร ส่วนพัฒนาที่ดินเท่าไร
ในความคลุมเครือของกติกามักจะเกิดช่องว่างขึ้นอยู่ว่าใครจะเข้าไปยึดครองพื้นที่ว่างนั้น บ่อยครั้งการสร้างกติกาในประมูลโครงการใหญ่ที่มีผลประโยชน์ระดับหมื่นล้านเป็นเดิมพันนั้นทั้งเจ้าของสัมปทานและผู้เข้าประมูลต่างก็ยินยอมพร้อมใจกันให้เกิดความคลุมเครืออันนี้ โดยต่างฝ่ายต่างนึกว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะในการเข้าไปยึดครองช่องว่างแห่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
รัฐบาลไทยในยุคนั้น ยึดหลักอย่างเดียวคือเงินตอบแทนในสัมปทานที่กอร์ดอน วูจะจ่ายให้ตามกำหนดเวลาและเต็มจำนวนเท่านั้นเป็นพอ ความชัดเจนในผลประโยชน์ตอบแทนรัฐสามารถแลกได้กับความคลุมเครือ (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ความยืดหยุ่น”) เช่นโครงการจะเสร็จเมื่อไร ประชาชนจะได้ใช้เมื่อไรปล่อยให้เจ้าของสัมปทานรับผิดชอบเอง
ข้างฝ่ายวู ตั้งใจเข้าไปใช้ช่องแห่งความคลุมเครือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินการรถไฟ เพื่อหวังจะเอารายได้บางส่วนมาสร้างรถไฟยกระดับ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่อยู่ในใจของ วู เท่ากับประหยัดเงินลงทุนไปได้มหาศาล
งานนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครทราบเลยว่าแผนการเงินของกอร์ดอน วู เป็นอย่างไรเอาเงินมาจากไหน แม้แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยเห็นแผนที่ว่านี้ โครงการโฮปเวลล์เลยเป็นโครงการพิเศษที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยไม่เคยเห็นแม้แต่พิมพ์เขียวก่อสร้างว่ากันว่ากอร์ดอน วูเขียนแบบไปพลางสร้างไปพลางเป็นช่วงๆ
ปรากฏว่าภาวะเรียลเอสเตทในเมืองไทยซบเซาอย่างฟื้นไม่ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 กอร์ดอน วูจึงต้องหมดเงินไปกับการสร้างรถไฟซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักที่ตั้งใจไว้ การก่อสร้างจึงช้าลงๆยิ่งซ้ำก็ยิ่งถ่วงเวลารอให้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ไทยกลับมาบูมอีกครั้ง
เกมชิงประโยชน์จากความคลุมเครือขึ้นต้นด้วยความมั่นใจของทั้งสองฝ่ายแต่ลงท้ายกลายเป็นความเจ็บปวดที่ย้อนกลับมาหาคู่กรณี
รัฐบาลไทยชุดนี้ได้แต่ปวดหัวกับการบังคับ ขู่เข็ญกอร์ดอน วูให้ทำทุกอย่างตามข้อตกลง วันมูหะมัดนอร์มะทา รัฐมนตรีว่าการคมนาคมขู่จะเอาเรื่องเข้าครม.ชี้ขาดเลิกสัมปทานให้รู้แล้วรู้รอดไปทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าสัญญาที่คลุมเครือนั้นเอาผิดอะไรไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว
กอร์ดอน วู ซึ่งประสบปัญหาทางธุรกิจในบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง จนแทบพยุงไม่ไหวเพราะโครงการในจีนและฟิลิปปินส์ถึงตอนที่จะขายกิจการในไทย กลับต้องเจ็บปวดกับการเปิดเผยความจริงที่เคยคลุมเครือให้กระจ่างออกมา จนพบว่าแผนการเงินของโฮปเวลล์นั้น ปนเปกันไปหมดไม่รู้ว่าโครงการรถไฟใช้เงินเท่าไร เรียลเอสเตทเท่าไร
เมื่อความคลุมเครือเป็นพิษ บทลงท้ายของเรื่องนี้จึงไม่อาจจบลงได้ง่ายๆที่น่าวิตกไปกว่านั้นก็คือ ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกกับเศรษฐกิจไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|