|

วิถีชีวิตในโลกอินเตอร์เน็ตและช่องว่างระหว่างตะวันตกกับตะวันออก
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบันเป็นยุคของมิติใหม่แห่งข้อมูลข่าวสาร ประชากรมากกว่า 40 ล้านคนของ 168 ประเทศได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต เครื่องคอมพิวเตอร์หลายร้อยรูปแบบจากคนนับร้อยเชื้อชาติได้ถูกต่อสายเข้ากับระบบสายโทรศัพท์ผ่านเครื่องโมเด็มอันเล็กๆเพื่อเข้าสู่การเดินทางถนนสายข้อมูลในโลกหนึ่งเดียวที่ไร้พรมแดน “โลกแห่งไซเบอร์ สเปซ”
มนุษย์เราหากจะเดินทางไปนอกอวกาศ อาจใช้เวลานับสิบปีในการเตรียมการใช้เงินทุนมากมายมหาศาลในการเข้าไปเสาะแสวงหาความรู้ในอวกาศ ความรู้ใหม่ๆต่างๆที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจไปกับการค้นพบเหล่านั้น ทุกวันนี้การเข้าไปแสวงหาความรู้ในโลกไซเบอร์สเปซ สร้างความตื่นเต้นให้เราไม่แพ้ความตื่นเต้นของนักบินอวกาศที่ค้นพบสิ่งใหม่ๆนอกโลก หากแต่ไซเบอร์สเปซเป็นโลกแห่งการค้นหาที่เราสัมผัสได้ ง่ายในการเสาะหาอุปกรณ์และที่สำคัญเพียงการต่อโทรศัพท์เพียงไม่กี่ตัวเลข เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีคุณเข้าไปท่องในโลกไซเบอร์สเปซได้อย่างง่ายดายและพบกับการค้นหาที่ไม่มีวันจบ
ในโลกแห่งแห่งไซเบอร์สเปซ เป็นโลกแห่งการเสริมสร้างสมรรถนะให้มวลมนุษย์ นักข่าวสามารถเข้าไปค้นคลังข้อมูล โดยข้อมูลมากกว่า 6.8 ล้านข้อมูลได้ถูกบรรจุดไว้ใน WORLD WIDE WEB บางข้อมูลเชื่อถือได้ บางข้อมูลก็เปรียบเหมือนขยะ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ระบบการค้นหาของคลังข้อมูลแห่งนี้ช่วยทุ่นระยะเวลาการทำงานได้มากทีเดียว ในขณะที่หมอในชนบทของประเทศแซมเบียสามารถขอคำแนะนำจากนักวิชาการจากลูซาก้าได้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตนอกจากนี้หนังสือพิมพ์ต่างๆก็พากันเดินพาเหรดเข้าสู่อินเตอร์เน็ตกันทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะพอเรียกได้หรือไม่ว่าทุกคนในทุกจุดในโลกสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน?
อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งได้ถูกตั้งขึ้น ทุกคนที่ต้องการเข้าสู่โลกไซเบอร์สเปซนั้นจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เช่นคอมพิวเตอร์ โมเด็มและอื่นๆซึ่งแม้ว่าปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีแนวโน้มของราคาที่ต่ำลงมากกว่าเดิมมาก สวนทางกับศักยภาพที่สูงขึ้น แต่การได้มาซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้นั้นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น การมีคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดสำหรับครอบครัวในสหรัฐอเมริกา อาจจะเป็นเรื่องธรรมดากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ในสหรัญอเมริกาคงเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีในกรณีนี้ แต่สำหรับประเทศแอฟริกาหรือในเอเชียบางประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่ยังต้องผ่อนบ้านผ่อนรถไม่มีโทรทัศน์หรือเลเซอร์ดิสก์คาราโอเกะที่บ้าน พวกเขาเหล่านี้หมด
ความชอบธรรมในการเข้าสู่ความรู้ใหม่ของโลกอินเตอร์เน็ตไปในทันทีทันใด
ความต้องการระบบอินเตอร์เน็ตที่ทวีมากขึ้นเรื่อยๆนี้ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจโทรคมนาคมต่างพากันทำกำไรมหาศาลจากตลาดใหม่แห่งนี้ (ดูจากตาราง ข้อเท็จจริงจะเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องการเทคโนโลยีด้านการวางสายโทรศัพท์) และเป็นที่แน่นอนว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ต่างแสวงหากำไรจากธุรกิจที่ใครๆก็ต้องการโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่จำเป็นจะต้องอาศัยการพึ่งพาทางเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก...และคงไม่มีที่สิ้นสุด
การดำเนินการทางการค้าระหว่างประเทศ ความแตกต่างของคุณภาพชีวิตการค้นหาความรู้ใหม่ๆทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศและการเสริมสร้างความสะดวกสบายให้วิถีชีวิตของคนที่ประเทศ ที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเอเชียบางประเทศและด้อยพัฒนาอย่างแอฟริกา มีช่องว่างที่ถ่างมากอยู่เดิมอยู่แล้วนั้นได้ถูกถ่างออกไปมากขึ้นด้วยระบบอินเตอร์เน็ต
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|