“นินเทนโด 64” เกมวัดชะตา


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เด็ก 10 ขวบทุกคนที่เคยเล่นวีดีโอเกมรู้ดีว่า “ซูเปอร์ มาริโอ” นั้นเป็นสุดยอดฮีโร่อันดับหนึ่งเช่นเดียวกับบริษัทผู้สร้างสรรค์คือ “นินเทนโด” ก็มักจะมาเป็นที่หนึ่งเสมอในการเปิดตัวเครื่อง

เล่นเกมรุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาด

ตัวอย่างเช่น เมื่อนินเทนโดเปิดตัวซูเปอร์ แฟมิคอมในปี 1991 นักวิเคราะห์ต่างตั้งข้อสงสัยว่าเครื่องเล่นเกมใหม่จะประสบความสำเร็จเหมือนเกมรุ่นก่อนคือ แฟมิคอมซึ่งจำหน่ายได้ถึง 40 ล้านเครื่องทั่วโลกหรือไม่ แต่หลังจากที่ออกวางตลาดไม่นานเสียงร่ำลือก็กล่าวขานกันไปทั่วว่ามาริโอชุดใหม่สามารถเคลื่อนไหวได้ 3 มิติทำให้ซูเปอร์ แฟมิคอม บูมชั่วพริบตากวาดยอดขายไปกว่า 30 ล้านเครื่อง

มาในปีนี้ นินเทนโดเตรียมที่จะเปิดตัวเกมรุ่นใหม่คือ “นินเทนโด 64” ซึ่งคนในวงการอุตสาหกรรมคิดว่าน่าจะทำตลาดได้แต่อาจไม่รุ่งเท่ากับเครื่องรุ่นก่อนๆ

โจเซฟ โอฉะ นักวิเคราะห์ของเมอริลล์ ลินซ์ในโตเกียวชี้ว่าในตลาดเกมขณะนี้ทั้งเซก้าและโซนี่ 2 คู่แข่งตัวกลั่นของนินเทนโดต่างมีผลิตภัณฑ์ฮิตติดตลาด ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่ออนาคตของนินเทนโด 64 อย่างแน่นอน

การแข่งขันรุนแรงจากเซก้าและโซนี่กำลังเริ่มที่จะมีผลต่อนินเทนโด ดูจากยอดขายประจำปีสิ้นสุด 31 มีนาคม คาดว่าจะตกราว 380,000 ล้านเยนหรือประมาณ 3,650 ล้านดอลลาร์ซึ่งต่ำกว่ายอด 635,000 ล้านเยนที่เคยทำได้ในช่วงปี 1992-93 มากและผลิตภัณฑ์ล่าสุดของนินเทนโด คือเวอร์ช่วล บอยซึ่งวางตลาดในปี 1994 ก็เริ่มชะลอตัวลง

บริษัทไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์กดดันเช่นนี้มาก่อนทศวรรษที่แล้ว นินเทนโดเกือบจะผูกขาดตลาดวิดีโอเกมทั่วโลกขณะที่ตลาดของบริษัททุกวันนี้หดตัวเล็กกว่าในปี 1991 และการแข่งขันก็รุนแรงกว่า จากการคาดการณ์ยอดขายของเมอร์ริลล์ ลินซ์ชี้ว่าคู่แข่งทั้ง 3 รายจะมีส่วนแบ่งตลาดคร่าวๆ เท่ากันก่อนสิ้นทศวรรษนี้

โดยเฉพาะสำหรับนินเทนโดแล้ว จะได้รับส่วนแบ่งชิ้นเค้กนี้ก็ต่อเมื่อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่สามารถติดตลาดได้ทั่วโลกแม้ว่า “นินเทนโด 64” จะมีสรรพคุณตามที่เด็กๆต้องการอาทิ ภาพ 3 มิติแต่เครื่องเล่นแซทเทิร์นของเซก้าและเพลย์สเตชั่นของโซนี่ก็มีคุณสมบัติที่ว่านี้เช่นกัน เครื่องเล่นของคู่แข่งทั้งสองรุ่นนี้จะเป็นเกม 32 บิต ขณะที่ซูเปอร์แฟมิคอมของนินเทนโดนั้นเป็นเครื่องขนาด 16 บิตแม้ว่านินเทนมักจะพูดว่ามันไม่เป็นไรเพราะเด็กๆไม่ได้ให้ความสนใจก็ตาม แต่ทว่าเทคโนโลยี 32 บิตนั้นก็จะให้กราฟิกคมชัด น่าสนใจกว่ามีผลทำให้เซก้าและโซนี่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้นับล้านชุด

หากการแข่งขันเอาชนะกันได้แค่เทคโนโลยี นินเทนโด 64 ควรจะกินขาดกวาดคู่แข่งเรียบด้วยชิปขนาด 64 บิต ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้รับการพัฒนาร่วมกับซิลิคอนกราฟิก บริษัทคอมพิวเตอร์อเมริกันที่สร้างไดโนเสาร์ในหนัง JURASSIC PARK ทำให้ผู้เล่นรู้สึกอินไปกับเกมและแอกชั่นมันๆได้อย่างสนุกสนาน

ความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่ามาเป็นแต้มต่อในการแข่งขันเป็นสไตล์ของนินเทนโดอยู่แล้ว “เราไม่ได้เลียนแบบคนอื่นๆ คนอื่นเลียนแบบเกมของนินเทนโด” ฮิโรชิ อิมานิชิ กรรมการผู้จัดการของนินเทนโดยืนยัน “เราต้องการบางอย่างดีกว่าเกมรุ่นก่อนๆ”

แต่ไมโครโปรเซสเซอร์ความเร็วสูงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถคว้าชัยชั่วข้ามคืน นินเทนโด 64 จะอยู่หรือไปนั้นขึ้นอยู่กับเกมที่จะใช้เล่นมากกว่าบริษัทผลิตเกมหลายชุดของตัวเอง ขณะที่เจ้าอื่นๆนั้นพัฒนา โดยบริษัทซอฟต์แวร์มืออาชีพจากเดิมในทศวรรษ 1980 เมื่อนินเทนโดครองตลาดอยู่เพียงเจ้าเดียวก็สามารถรักษาความจงรักภักดีของบริษัทซอฟต์แวร์เหล่านี้ไว้ได้แต่ปัจจุบันบางเจ้าได้หันไปผลิตเกมให้แก่คู่แข่งของนินเทนโดแล้ว

เจ้าหน้าที่ของนินเทนโดกล่าวว่าเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่จะมากับเกมใหม่หลายเกมมีทั้ง “SUPER MARIO 64”, “GOLDENEYE” ซึ่งมาจากภาพยนตร์เจมส์ บอนด์และ “STAR WARS”

ยูทากะ ซูกิยามะ นักวิเคราะห์ของยูบีเอส ซีเคียวริตี้ส์ ในโตเกียวกล่าวว่านินเทนโด 64 จะขายดีได้หากเด็กๆพบว่าเกมชุดใหม่น่าตื่นเต้นกว่าที่ใช้เล่นกับเครื่องเล่นแซทเทิร์นของเซก้าและเพลย์สเตชั่นของโซนี่

ในแง่ราคา เจ้าหน้าที่ของนินเทนโดสัญญาว่าผลิตภัณฑ์ใหม่จะไม่แพง แม้ว่าจะใช้ไมโครโปรเซสเซอร์เหมือนกับคอมพิวเตอร์เวิร์คสเตชั่นของซิลิคอน กราฟิกส์ซึ่งชุดละถึง 10,000 ดอลลาร์ทั้งนี้ นินเทนโด 64 ตั้งราคาขายปลีกไว้ 250 ดอลลาร์ถูกกว่าเครื่องเล่น 32 บิตของคู่แข่งรายอื่นๆ

บริษัทหวังที่จะวางฐานยูสเซอร์ขนาดใหญ่ให้ได้เร็วที่สึดเท่าที่จะเป็นไปได้และทำกำไรจากยอดขายเกม โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ในราว 5 ล้านตลับในช่วงปีแรกและวางแผนที่จะให้ให้ถึงครึ่งล้านชุดในทันทีที่เปิดตัว

นินเทนโดตั้งใจที่จะเปิดตัวเครื่องเล่นเกมใหม่นี้ตั้งแต่คริสต์มาสปีที่แล้ว ทว่ามีอันต้องล้มไปเนื่องจากตัวเกมที่จะใช้เล่นยังไม่พร้อม บริษัทประกาศว่าจะวางตลาดเครื่องที่ว่านี้ในวันที่ 21 เมษายนในตลาดญี่ปุ่น ขณะที่เด็กๆอเมริกัน ยุโรปจะต้องรอไปอีก 2 เดือนให้หลังหรือไม่ก็เล่นเกมของเซก้ากับโซนี่ไปพลางๆ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าก่อนที่นินเทนโด 64 จะวางตลาดจะมีเครื่องเล่นเกม 32 บิตราว 7-8 ล้านเครื่องตามครัวเรือนทั่วโลกและผู้ปกครองซึ่งเพิ่งจะซื้อเครื่องเล่นแซทเทิร์นหรือเพลย์สเตชั่น ให้ลูกหลานก็ย่อมไม่อยากจะเปลี่ยนเป็นเครื่องอื่นเร็วเกินไปนัก

อย่างไรก็ตาม อิมานิชิกรรมการผู้จัดการบริษัทเชื่อว่าความสงสัยคับข้องใจเกี่ยวกับนินเทนโด 64 จะหมดไปทันทีที่ลูกค้ามีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในมือ “เทคโนโลยีที่ใช้เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติ คนที่ไม่ได้เล่นวิดีโอเกมก็อาจจะเปลี่ยนใจได้”

ทว่า สำหรับนักวิเคราะห์อย่างโอฉะ คำถามไม่ใช่ว่านินเทนโด 64 จะฮิตหรือไม่แต่อยู่ที่ว่านินเทนโดจะสามารถเรียกคืนวันอันรุ่งเรืองอย่างที่เคยเป็นในทศวรรษ 1980 และต้น 90 กลับคืนมาได้หรือไม่เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.