|

คู่มือถนอมแลปท็อปคู่ใจ
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
หากคุณเป็นหนึ่งในคนจำนวนอีกนับหมื่นนับแสนที่แขวนชีวิตไว้กับข้อมูลในคอมพิวเตอร์แบบพกพาแน่นอนว่าคุณจำเป็นต้องระวังตัวแจเมื่อคุณพกเจ้าคอมพิวเตอร์ตัวเก่งติดตัวไปกับคุณทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ รถไฟหรือกระทั่งเดินทางด้วยเครื่องบินและไม่แน่ว่าวันดีคืนดีระหว่างการเดินทางโดยอาศัยยานพาหนะเหล่านี้เจ้าแลปท็อปอาจเกิดถูกกระแทกอย่างแรงจนถึงขั้นแตกได้หรือไม่ก็หกคะเมนและหากโชคร้ายก็อาจถูกอัดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่สุดจะคับแคบ
ถ้าคุณไม่ต้องการให้การงานของคุณมีอันต้องพังลงด้วยสาเหตุข้อมูลในคอมพิวเตอร์ตกหล่นหรือถูกทำลายเสียหายแล้วละก็ ลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
หากคุณพกเจ้าแลปท็อปคู่ใจไว้ในรถยนต์ ควรวางมันไว้ที่พื้นรถขณะที่รถกำลังแล่นอยู่เพราะหน้าจอที่แตกร้าวส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่แลปท็อปหล่นจากเบาะที่นั่งและกระแทกกับพื้น เมื่อผู้ขับเกิดเบรกหรือหยุดรถกะทันหัน
ข้อแนะนำต่อไปก็คือขอให้คุณลงทุนซื้อกล่องใส่คอมพิวเตอร์ที่มีความแข็งแรงคงทนพร้อมกับมีที่ล็อกเรียบร้อยเพื่อความปลอดภัยกันไม่ให้คอมพิวเตอร์ลื่นหล่นออกมาได้
ต่อมาคือ อย่าฉีดสเปรย์ทำความสะอาดกระจก ลงไปบนหน้าจอโดยตรงเพราะมันอาจจะแทรกซึมเข้าไปในคอมพิวเตอร์และอาจทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตได้ทางที่ดีคือฉีดน้ำยาทำความสะอาดลงบนผ้านุ่มแล้วค่อยบรรจงเช็ดจะปลอดภัยกว่า
ประการสำคัญต่อมาคืออย่าพยายามดื่มเครื่องดื่มใดๆก็ตามหรือนำของเหลวมาวางใกล้กับคีย์บอร์ด แต่หากคุณเผลอทำเครื่องดื่มหกใส่บนคอมพิวเตอร์แล้ว จงรีบปิดมันทันทีและปล่อยให้มันแห้งยิ่งของเหลวที่คุณทำหกมีปริมาณมาก คุณก็ยิ่งต้องปล่อยเวลาให้มันแห้งมากขึ้นเท่านั้น บางทีอาจใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมงเลยก็ได้หากของเหลวนั้นมีปริมาณเยอะเกิน
หากบังเอิญแผ่นดิสก์ของคุณติดอยู่ในช่องใส่ดิสเก็ตอย่าใช้ดินสอไปงัดมันออกมาเพราะปลายแหลมของดินสอมีสิทธิ์หัก และตกหล่นเข้าไปในคอมพิวเตอร์ได้ นอกจากนั้นสารผสมตะกั่วที่ใช้ทำดินสอยังอาจก่อให้เกิดฝุ่นจับตามส่วนต่างๆของคอมพิวเตอร์อีกด้วย
และหากคอมพิวเตอร์ของคุณเกิดอาการขัดข้องเป็นพักๆ คุณควรที่จะจดบันทึกอาการของมันอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและก่อนหน้าที่มันจะเกิดอาการขัดข้องมีอะไรแปลกๆเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า คุณใช้ซอฟต์แวร์ประเภทไหนอยู่ คุณกดที่แป้นคีย์บอร์ดตัวไหนแล้วเกิดผลอะไรตามมาบ้าง
ที่สำคัญก็คือ อย่าพยายามที่จะซ่อมอาการขัดข้องด้วยตัวของคุณเองเพราะการถอดเอาชิ้นส่วนประกอบที่มีเครื่องหมายยี่ห้อสินค้าติดอยู่มักจะทำให้การรับประกันสินค้าเป็นโมฆะ นอกจากนี้การใส่ชิ้นส่วนประกอบให้กลับเข้าไปตามสภาพเดิม เผลอๆยังอาจจะยากกว่าที่คุณคาดก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|