อังคาร กัลยาณพงศ์ จิตรกร กวีคนสำคัญของเมืองไทย เป็นอีกผู้หนึ่งของยุคนี้ที่
เปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสผลงานอย่างใกล้ชิด
เพื่อเป็นบ่อเกิดให้จุดประกาย สติปัญญา ไปสู่การนฤมิตกรรมใหม่
นอกจากเป็นพิพิธภัณฑ์ บ้านหลังนี้ยังเป็นที่ทำงานของบริษัทกินริน ที่ตั้งขึ้นเมื่อ
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งอุ่นเรือน ภรรยาของอังคารเป็นผู้จัดการดูแล โดยมีเป้าหมายในการรวบรวมผลงานทั้งหมด
และทยอยตีพิมพ์ออกมาจำหน่ายเอง ผลงานรวมเล่มที่พิมพ์ ในนามของบริษัทกินรินเล่มแรกคือ
"หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา"
บริษัทกินรินยังได้เปิดรับสมาชิกทั่วไปที่สนใจและรักในเรื่องกาพย์กลอนโดยสมาชิก
จะได้รับบทกวีของอังคาร ทั้งบทใหม่และบทเก่าที่นำมาชำระใหม่เดือนละ 2 ชุด
ค่าสมัคร เป็นเงินปีละ 2,500 บาท
ดวงดาวเป็นกาพย์กลอนของท้องฟ้า หัวใจของมนุษย์ต้องยิ่งใหญ่ จึงจะขังดวงดาวไว้ได้
ดังนั้นวันนี้ในวัย 76 ปี เวลาส่วนใหญ่ของอังคาร ก็ยังหมดไปกับการเขียนบทกวี
เพื่อเก็บไว้รวมเล่ม และส่งให้กับสมาชิก ของบริษัทกินริน
การเป็นผู้รักการอ่านหนังสือทุกชนิด และติดตามข่าวคราว ของบ้านเมืองตลอดเวลา
ทำให้อังคารสามารถให้ความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของสังคมด้วยภาษาพูดที่สนุกสนาน
และสามารถถ่ายทอด ออกมาได้ด้วยภาษาของกวี
ส่วนงานวาดรูปมีบ้างไม่มากนัก เพราะไม่รับวาดรูปให้ใคร เมื่อ เป็นผู้ยึดมั่นในความคิดที่ว่า
"ผมทำตามคำสั่งของวิญญาณ ไม่ได้ทำตาม คำสั่งใคร" ผลงานในปีนี้ จึงมีเพียงไม่กี่รูปเช่น
รูปดรออิ้งภาพหน่อไม้ และรูปดรออิ้งภาพปลา 3 ตัว
อังคาร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2468 ในบ้านหลัง หนึ่งหลังวัดจันทาราม
ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช บิดา เป็นกำนันตำบลท่าวัง ชื่อเข็บ
มารดาชื่อขุ้ม มีพี่สาว 1 คน ปัจจุบัน เสียชีวิตแล้ว
หากสืบสายโลหิตขึ้นไปจะพบว่า ตาของเขาเป็นช่างใหญ่ เป็นจิตรกรวาดรูปตาม
ผนังโบสถ์เมืองใหญ่ ส่วนปู่เป็นช่างทอง นอกจากสายเลือดของความเป็นศิลปิน
การเป็น เด็กที่เติบโตและถูกหล่อหลอมมาจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เต็มไปด้วยป่าเขา
และทุ่งหญ้าของเมืองที่อุดมสมบูรณ์อย่างนครศรีธรรมราช มีส่วนอย่างมากเช่นกันที่สร้าง
ให้เขามีอารมณ์ที่อ่อนไหว สามารถคิดคำพรรณนาออกมาเป็นบทกวีได้อย่างสวยงาม
อังคารเป็นบุคคลที่ชอบภูเขามากกว่าทะเล เขาบอกว่าทะเลเปล่าเปลี่ยววังเวงเกินไป
ถึง แม้ใต้น้ำจะสวย แต่คนก็ไม่ใช่ปลา
เช่นเดียวกับการรักในวรรณคดี กาพย์ กลอน ที่เกิดขึ้น เมื่อได้อ่านหนังสือรามเกียรติ์
ขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง
"สมัยผมเรียน ม.1 อายุ 8-9 ขวบ พอลุกขึ้นอ่านจบ ครูให้รางวัลทันที ตอนนั้น
อ่านได้อารมณ์มาก เสียงดัง ชอบอ่านตั้งแต่เด็กแล้ว ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือยังไม่ค่อยออก
อย่างเพ-ลา ก็อ่านว่าเพลา แต่ด้วยความอยากอ่านก็อ่านเสียงดัง ผิดโดยไม่อายใคร"
ท่าน จบประโยคพร้อมกับเริ่มเอื้อนเอ่ย ทำนองเสนาะในเรื่องสังข์ทอง และอิเหนาให้ฟัง
"มาจะกล่าวบทไป ท้าวสามลเรืองศรี เสวยราชสมบัติสวัสดี..."
"ว่าพลางทางชมคณานก โผผกจับไม้อึงมี่ เบญจวัลย์..."
เสียงของอังคารยังคงกังวาน แม้จะสั่นไหวไปบ้าง ตามอายุที่ล่วงเลย "วันนี้อ่านไม่ค่อยดีนัก"
ท่านออกตัว และบอกว่า
"จิตที่ใสพิสุทธิ์ ผ่องแผ้วในวัยเด็ก สร้างสมาธิให้การอ่านแต่ละครั้ง ไพเราะนัก
และมีความรู้สึกว่าโคลงอย่างนี้เราน่าจะแต่งได้ โดยเฉพาะเมื่อได้ อ่านนิราศพระประธม
นิราศพระประโทน เลยเริ่มแต่งโคลงสี่สุภาพ ตอน เด็กๆ ผมชอบแต่งโคลงมาก"
ความหลงใหลในกาพย์กลอนเกิดขึ้นพร้อมๆ กับรักการวาดรูป ใน สมุดรายงานผลการเรียนในแต่ละปี
จึงมีคำบันทึกของครูอยู่เสมอว่าเป็น ผู้ที่ฝักใฝ่ในการวาดรูป
เมื่อจบ ม.6 จึงตัดสินใจมาเรียนหนังสือที่เพาะช่าง และมหาวิทยาลัย ศิลปากรในคณะจิตรกรรม
และประติมากรรม ในเวลานั้นได้มีผลงานที่เป็น บทกวี ลงหนังสือพิมพ์ตะวันรายวัน
สมัยปี 2489 และต่อมาได้กระจัดกระจายอยู่ตามหนังสือ อนุสรณ์ต่างๆ
ช่วงหนึ่งของชีวิต ได้ออกไปช่วยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ คัดลอกภาพจิตรกรรมโบราณตาม
เมืองสำคัญต่างๆ เช่น อยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เพชรบุรี เป็นต้น เป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญใน
ชีวิต แต่ละวันเขาจะต้องคัดลอกภาพจิตรกรรมโบราณตามเมืองสำคัญต่างๆ เช่น อยุธยา
สุโขทัย ศรีสัชนาลัย หรือเพชรบุรี
"เป็นการก๊อบปี้ภาพไทยโบราณกันเป็นแสนๆ เส้น ตอนแรกๆ เห็นเข้าก็ท้อมากเหมือนกัน
เอาจริงเข้าก็สู้ ไม่หนักใจ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนการทานข้าว นับว่าเป็นโชคดีที่ได้
ครูอาจารย์ดีจากสถาบันการศึกษา และยังได้อาจารย์ที่เป็นบรรพบุรุษ เป็นปูชนียบุคคลของประวัติ
ศาสตร์อีกด้วย"
ส.ศิวลักษณ์ อดีตบรรณาธิการคนแรก ผู้ก่อตั้งหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์
ได้เผยแพร่ บทกวีของอังคาร มาตั้งแต่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อเดือนมิถุนายน
2506 และได้ รวบรวมบทกวีที่กระจายอยู่ตามหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ มาตีพิมพ์เป็นเล่มต่อสาธารณชนครั้งแรก
เมื่อ พ.ศ.2507 เป็นต้นมา
บทกวีที่ติดปากของผู้คน เช่น เสียเจ้า, บางกอกแก้วกำสรวล, ลำนำภูกระดึง,
บางบทจากสวนแก้ว ส่วน ภาพที่นำไปจัดนิทรรศการบ่อยๆ เช่น ภาพกินรี
ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ อดีตกรรมการผู้อำนวยการบริษัทยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน)
เป็นผู้หนึ่งที่ติดตามงานของ อังคาร มีภาพของอังคารไว้หลายภาพ และรวบรวมบทกวีไว้หลายชิ้น
อังคารได้เล่าถึงความสัมพันธ์ในสมัยนั้นว่า
"คุณดำริห์เคยมาคุยกับผมแลกเปลี่ยนความคิดทางด้านวรรณศิลป์กันอยู่เสมอ
ก็ชอบพอกัน เขาก็มีความตั้งใจดี จะอุปถัมภ์เรา ตอนที่ผมกำลังต่อบ้านใหม่ก็ซื้อรูปไปหลายรูป
ในหนังสืองานศพของคุณดำริห์ ภรรยาของเขาก็ได้ เอาบทกวีของผมไปลงทั้งเล่ม"
เวลาในการพูดคุยล่วงเลยไปพอสมควร เมื่อลูกชายคนโตโผล่หน้ามาบอกอังคารว่า
"ขอโทษครับ...คุณพ่อ อย่าลืม นัดตอนเที่ยงครึ่งนะครับ" อังคารมีลูกชายหญิง
3 คน คือ ภูหลวง อ้อมแก้ว วิสาขา คนโตจบการศึกษาแล้ว ส่วนน้องสาว 2 คนกำลังเรียนอยู่
ทุกคนอยู่รวมกันที่บ้านหลังนี้
อังคารพยักหน้ารับรู้ โดยไม่หันไปมอง และเมื่อรู้ว่าคนสัมภาษณ์เป็นชาวใต้
ลูกหลานหนังตะลุงแห่งเมืองพัทลุง เขาก็ได้ร้องเพลงหนังตะลุงให้ฟังเป็นครั้งสุดท้าย
ก่อนที่เราจะลากลับ พร้อมๆ กับฝนเม็ดใหญ่ที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา