‘หลักการปฏิบัติ’ สร้างเครดิตธุรกิจไดเร็กต์เมล์


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในตอนนี้การซื้อขายแบบส่งตรงถึงบ้านหรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า DIRECT-MAIL SHOPPING ที่แสนจะสะดวกสบาย กำลังระบาดทั่วทุกหัวระแหงในเอเชีย การขายตรงหรือไดเร็กต์ มาร์เก็ตติ้ง (DM) แบบนี้จะโฆษณาสินค้าผ่านจดหมาย โบรชัวร์ แฟกซ์ ทีวีฯลฯ ได้อย่างสบายปากสะดวกมือ อวดอ้างสรรพคุณ ความน่าสนใจและคุณภาพของสินค้า บวกของแถมอีกสารพัดได้โดยไม่ต้องหาอะไรมารับประกันสิ่งที่คุยโม้เหล่านั้น ส่วนผู้ซื้อก็สามารถชอปปิ้งได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและไปหิ้วให้เมื่อยแขนอีกด้วย แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่าผู้บริโภคจะเชื่อถือในตัวสินค้าและบริษัทผู้ขายได้อย่างไร

และก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งเพราะในเอเชียนั้นแทบจะหาองค์กรหรือหน่วยงานและกฎระเบียบจากทางการ มาแก้ปัญหานี้ไม่ได้อย่างที่แถวอเมริกาเหนือเขาทำกันและความไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าได้นั้น ย่อมจะส่งผลสืบเนื่องหรือสร้างจุดจบตอบกลับมาที่ตัวธุรกิจDM เอง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณดีปรากฏขึ้นบ้างแล้วในปี 1995 สมาคมขายตรงแห่งสิงคโปร์ (THE DIRECT MARKETING ASSOCIATION OF SINGAPORE : DMAS) ได้พยายามทบทวนแนวทางที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจประเภทนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า

เริ่มแรก DMAS ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการประสานงานระหว่างรัฐบาลและกิจการผู้บริโภคขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งคาร่า ลี ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า “เราต้องการเห็นธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงขณะเดียวกันสิทธิ์ของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ก็ต้องได้รับการปกป้องด้วย”

นอกเหนือจากคณะกรรมาธิการฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจประเภทนี้แล้ว DMAS ยังได้กำหนด “หลักการปฏิบัติ” ขึ้นมาชุดหนึ่งและได้กำหนดให้วันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวันที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ธุรกิจ DM เรียกชุมนุมสมาชิกและให้ตัวแทนสมาชิกทุกคนขึ้นมากล่าวปฏิญญาร่วมกันว่า

“เราสมาชิกของ DMAS ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบของสมาคม”

“เราจะถือปฏิบัติตามหลักแห่งจรรยาบรรณและคำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้าของเรา สาธารณชนทั่วไปและเพื่อนร่วมสมาชิกรายอื่นๆ”

“เราขอรับประกันว่า วิธีการจำหน่ายของเราจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน อาทิความซื่อสัตย์ ความมีมโนธรรมและการจัดส่งตามสัญญา”

“เราสัญญาจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ธุรกิจขายตรงในสิงคโปร์เติบโตขึ้น”

ระหว่างการร่วมพิธีปฏิญญา DMAS จะมอบตราประทับให้กับสมาชิกที่ทำตามคำปฏิญญาที่ให้ไว้เป็นรางวัลเพื่อประกาศความน่าเชื่อถือของบริษัทสมาชิกนั้นๆ

นอกจากนี้ DMAS ยังให้บริการสายตรงบริการลูกค้าโดย DMAS จะเปิดให้ผู้ขายกับลูกค้าสามารถพูดคุยปัญหากันได้โดยตรงผ่านหมายเลขโทรศัพท์เฉพาะ

“บริการส่วนนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการรับทราบปัญหาได้มากขึ้นและช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงความคาดหวังของลูกค้ามากขึ้น” ลีกล่าว

และหากลูกค้าไม่พอใจกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับของบริษัทที่มีต่อคำร้องเรียนของลูกค้าหรือลูกค้าต้องการแนะนำบริการ ก็สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนได้เช่นกัน โดยคณะกรรมาธิการฯจะเป็นผู้พิจารณาและสอบสวนเป็นกรณีๆไป

หากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงไม่ลืมความรับผิดชอบที่มีต่อลูกค้าและสัญญาที่ให้ไว้ตาม “หลักการปฏิบัติ” แล้วการดำเนินการของ DMAS ก็นับว่าเป็นย่างก้าวสำคัญที่ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างคาดหวังว่าจะแพร่ระบาดไปทั่วเอเชียเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.