|

ทำอย่างไรเมื่อเราสูญเสียฟันแท้
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
การสูญเสียฟันโดยเฉพาะฟันแท้ ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร สุขภาพร่างกายและมีผลต่อบุคลิกภาพอาจทำให้บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีบางรายที่สามารถใส่ฟันปลอมชนิดติดแน่นแต่ต้องกรอฟันธรรมชาติเพื่อเป็นหลักยึด และมีไม่น้อยที่ต้องใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ซึ่งบางรายก็สามารถปรับตัวได้และบางรายที่ต้องทนใส่อยู่ คำถามในใจของคนที่สูญเสียฟันแท้คือ เขาน่าจะป้องกันรักษาฟันไว้ดีกว่านี้ หรือเมื่อสูญเสียฟันไปแล้วมีวิธีอื่นใดที่ดีกว่าวิธีการใส่ฟันปลอมแบบเดิม
มนุษย์มีฟันธรรมชาติชุดแรกที่เรียกว่า ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ฟันชุดที่สองคือ ฟันแท้จะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 ปี ฟันชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายแข็งแรงกว่าชุดแรก ถ้าไม่มีปัญหาโรคฟันและเหงือกแล้วสามารถทำงานบดคี้ยวอาหารได้ตลอดชีวิตของมนุษย์ ฟันธรรมชาติจะยึดติดกับกระดูกขากรรไกรด้วยส่วนของรากฟันโดยมีเอ็นยึดปริทันต์อยู่รอบรากฟัน ยืดหยุ่นรับแรงบดเคี้ยวอาหาร
ถ้าใครสูญเสียฟันแท้ซี่ใดก็ตาม ยกเว้นฟันกรามซี่สุดท้ายที่ไม่มีประโยชน์ ไปด้วยสาเหตุฟันผุ โรคเหงือกอุบัติเหตุหรือสาเหตุอื่นๆแน่นอนผลที่ตามมาก็คือฟันห่างฟันคู่สบยาวลงมาในช่องว่างเคี้ยวอาหารได้มีประสิทธิภาพมีผลต่อสุขภาพ บุคลิกภาพด้วยวิธีการที่จะทดแทนฟันที่สูญเสียไป มนุษย์พยายามค้นหาวิธีการทำฟันปลอมทดแทนมานับพันปี พัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆเป็นชนิดถอดได้และติดแน่นเหมือนในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราต้องการและฝันไว้คือการสร้างรากฟันใหม่ยึดติดกับกระดูกเหมือนรากฟันธรรมชาติ ในที่สุดความฝันเริ่มเป็นจริง โดยเมื่อ ค.ศ. 1950 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ามีวัสดุหลายชนิดสามารถนำมาฝังยึดติดกับกระดูกและเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ได้ แต่ที่ดีที่สุดคือโลหะไทเทเนียม ทำให้มีการศึกษาเรื่องราวของโลหะไทเทเนียมกันอย่างจริงจัง
การนำโลหะหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆฝังลงในกระดูกขากรรไกร โดยปกติขบวนการทางธรรมชาติของร่างกายจะต่อต้านไม่ยอมรับสิ่งแปลกปลอม โดยเม็ดเลือดขาวจะเข้าไปต่อต้านและเร่งขบวนการเกิดออกซิเจนบนพื้นผิวโลหะ ถ้าเป็นโลหะชนิดอื่นเช่นเหล็กก็จะเกิดสนิม การผุกร่อน แต่ไทเทเนียมไม่เป็นสนิม การเพิ่มออกซิเจนบนพื้นผิวโลหะไทเทเนียมกลับให้ผลดีคือจะหยุดยั้งขบวนการต่อต้านของเม็ดเลือดขาวและมีการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อเข้ายึดติดกับโลหะไทเทเนียม นี่คือจุดเปลี่ยนแปลงในการทำรากเทียมให้เหมือนฟันธรรมชาติและเป็นจุดหักเหที่สำคัญสำหรับอนาคตโดยต้องขอบคุณต่อผู้ที่ค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะศาสตราจารย์เปอร์ อิงกวา เบรนเนมาร์คแพทย์นักวิจัยชาวสวีเดนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการค้นพบวิธีการทำรากเทียมระบบเบรนเนมาร์คที่มีชื่อเสียงที่สุดโดยหลักการเดียวกันทำให้ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าโลหะไทเทเนียมสามารถยึดติดกับกระดูกและเนื้อเยื่อของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกระดูกขากรรไก ใบหน้า แขนขาและส่วนอื่นๆทำให้มีการค้นคว้าวิจัยและประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้ที่พิการทุพพลภาพจำนวนมาก
การฝังรากเทียมให้เกิดความสำเร็จจะต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดี จะต้องพิถีพิถันในการเลือกคนไข้ที่เหมาะสำหรับการรักษาโดยวิธีนี้ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน สะอาดปราศจากเชื้อ เทคนิคการทำต้องแม่นยำแน่นอน ขั้นตอนแรกเป็นการทำโดยฝังส่วนของรากเทียมไทเทเนียมลงในกระดูกขากรรไกรแล้วเย็บปิดให้แผลหาย รอเวลาให้กระดูกเข้าเชื่อมยึดกับรากเทียมไทเทเนียมประมาณ 4 เดือนสำหรับกระดูกขากรรไกรล่างและ 6 เดือนสำหรับกระดูกขากรรไกรบนขั้นตอนต่อไปคือ การต่อส่วนโลหะกับรากเทียมโผล่พ้นเหงือกเพื่อใช้เป็นหลักยึดของครอบฟันเมื่อเหงือกรอบๆรากเทียมหายเป็นปกติ จะมีการพิมพ์ปากเพื่อนำไปทำครอบฟันในห้องแล็บทันตกรรมแล้วนำมายึดติดแน่นกับส่วนของโครงโลหะรากเทียม ทำให้สามารถมีฟันที่ทำหน้าที่เหมือนฟันธรรมชาติมากที่สุด
การทำรากเทียมในปัจจุบันมีหลายระบบที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับได้ แต่ที่ดีที่สุดและยอมรับกันทั่วโลกคือระบบของเบรนเนมาร์ค ซึ่งคุณภาพของรากเทียมคงจะคุ้มกับราคาที่ค่อนข้างสูง ถ้าหากท่านสูญเสียฟันแท้ การใส่ฟันโดยการทำรากเทียมจะเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีที่สุด ทำให้ฟันที่ใส่ใหม่สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปยึดหรือกรอเนื้อฟันข้างเคียง ไม่ต้องถอดเข้าถอดออกไม่ต้องอาศัยการทำความสะอาดที่ยุ่งยากและที่แน่นอนที่สุดจะให้ความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่า ฟันแท้ที่เราสูญเสียไปแล้วในอดีตได้กลับคืนมาเหมือนเดิม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|