|
จิบไวน์อาณาจักรมังกรสักนิดจะติดใจ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวน์สามารถเดินทางท่องทั่วโลกได้โดยอาศัยร้านขายเหล้าของเขาเอง เพื่อลองลิ้มรสเหล้าองุ่นกลั่นชั้นยอดจากหลากหลายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็น CHARDONNAYS จากแคลิฟอร์เนีย SHIRAZES จากออสเตรเลียที่เมื่อได้ลิ้มแล้วจะเกิดอาการสดชื่นขึ้นมาทันตาเห็น PINOTAGES จากแอฟริกาใต้และ CABERNETS จากชิลีที่ดื่มแล้วสร้างความแช่มชื่นให้กับอารมณ์หรือ TOKAYS จากฮังการีและ CARRASCALS จากสเปนที่
รสชาติไม่ด้อยไปกว่ากัน
และถึงตอนนี้เราขอเชิญชวนคอไวน์ทั้งหลายซึ่งยินดีที่จะเสี่ยงชิมไวน์จากดินแดนที่ท่านไม่คาดคิดมาก่อน นั่นคือมณฑลเหอเป่ย ซานตงและซินเจียงในอาณาจักรหลังม่านไม้ไผ่ตอนนี้จีนกำลังเริ่มทดลองกลั่นเหล้าองุ่นโดยอาศัยความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนต่างชาติอย่างเช่น SEAGRAM, HIRAM WALKER และ PERNOD RICARD ผลลัพธ์ที่ได้คือเหล้าองุ่นที่พวกเขาลองกลั่นนั้นสำเร็จได้ผลดีและกำลังเริ่มปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆและหากแนวโน้มที่ว่ายังคงเป็นไปอยู่อย่างนี้ อนาคตไวน์ในจีนก็คงจะเห็นแสงสุกใสอยู่รำไร โดยตอนนี้ไวน์ CHATEAU LAFITE ของ ROTHCHILD และ GRANGE HERMITAGE ของ PENFOLD ก็ได้แบ่งพื้นที่วางขายร่วมกันโดยได้ไดนัสตี้ ไวเนอรี่หรือเกรต วอลล์โค.เป็นผู้บรรจุขวดให้
“อุตสาหกรรมไวน์ในจีนเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้นขณะที่ตลาดก็ใหญ่โต เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าอุตสาหกรรมไวน์จะก้าวมาได้ถึงขั้นนี้และเร็วขนาดนี้” เหมา ลี่จีตัวแทนธุรกิจของไดนัสตี้กล่าว
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมไวน์ที่เพิ่งเกิดใหม่ของจีนนั้นก็ยังคงต้องพึ่งพาต่างชาติอยู่ดี ไล่ตั้งแต่เครื่องจักรซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าจากฝรั่งเศสหรือจุกไม้ก๊อกที่นำเข้าจากโปรตุเกส ขณะที่ต้นองุ่นซึ่งบางต้นที่ปลูกมาถึง 8 ฤดูก็คัดมาจากสวนองุ่นในฝรั่งเศส แต่สิ่งที่จีนมีก็คือจำนวนประชากรนักดื่มที่มีอยู่มากมาย ตลาดไวน์ในประเทศยังมีโอกาสโตอีกมาก เนื่องเพราะประชากรเริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้นบวกกับค่าภาษีไวน์นำเข้าที่ต้องเสียสูงถึง 134%
หยู ชุนปิง แม่ค้าร้านของชำในกรุงปักกิ่งเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนพวกลูกค้าจะเคยชินกับการถามหาเบียร์ซิงต่าวหรือไฟว์ สตาร์เบียร์สองยี่ห้อที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ผลิตในท้องถิ่น แต่ตอนนี้พวกเขาเริ่มเรียกหาไวน์แดง DYNASTY ที่ขายในราคาขวดละ 32 หยวนหรือ 3.86 ดอลลาร์ “พวกเขาคิดว่ามันเป็นของทันสมัย”
ตอนนี้ภัตตาคารในกรุงปักกิ่งและตามเมืองใหญ่ๆก็มีรายชื่อไวน์ยาวเหยียดในเมนูอาหาร ขณะที่ลิ้นของชนชั้นกลางของจีนเองก็เริ่มหันมาลิ้มลองไวน์ที่ผลิตโดยฝีมือของพ่อค้าเหล้า 134 รายในประเทศคาดว่าในปีที่แล้วจีนสามารถขายไวน์ได้คิดเป็นมูลค่าถึง 72 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 15% จากปี 1994 และดูเหมือนว่าไม่มีใครใส่ใจว่าไวน์ที่ผลิตในประเทศนั้นขาดบางสิ่งบางอย่างไป นั่นก็คือลักษณะพิเศษ “ไวน์แดงของเราเป็นไวน์ที่เยี่ยมที่สุดในจีน” บรูโน เมอร์ซิเย่ กรรมการผู้จัดการของ DRAGON SEAL บริษัทร่วมทุนของ PERNOD RICARD กล่าว “แต่เราก็ยังต้องเดินก้าวไปเพื่อแข่งกับไวน์ BORDEAUX ของฝรั่งเศส”
ว่ากันไปแล้ว คนจีนรู้จักการทำไวน์มานานนับศตวรรษโดยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบในตอนแรกเริ่ม ในปี 1892 ชาวจีนโพ้นทะเลนาม ฉาง ปี้ฉีได้เดินทางกลับจากยุโรปพร้อมกับต้นองุ่น 10 พันธุ์และตั้งโรงกลั่นเหล้าชื่อว่าฉางหยู ไวเนอรี่ในมณฑลซานตงซึ่งยังคงทำการกลั่นไวน์จนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในปี 1900 พระสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสได้เปิดโรงกลั่นเหล้าในกรุงปักกิ่งเพื่อผลิตไวน์ที่ใช้ถวายพระผู้เป็นเจ้าและต่อมาก็มีการตั้งโรงกลั่นตามมาเป็นแถวอีกหลายแห่งเริ่มต้นในทศวรรษที่ 1930 และ 1940 ทว่าส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ภายหลังจีนเปิดประตูให้กับการลงทุนต่างชาติในปลายทศวรรษที่ 1970 บรรดาพ่อค้าเหล้าก็เป็นหนึ่งในพวกแรกๆที่หวนกลับเข้ามา
ในปี 1980 REMY MARTIN ของฝรั่งเศสได้เปิดบริษัทร่วมทุนในเมืองเทียนจินเพื่อผลิตไวน์ยี่ห้อ DYNASTY ที่ได้กลายเป็นยี่ห้อที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน ด้วยยอดขาย 28 ล้านดอลลาร์บวกกับรายได้อีกหลายล้านดอลลาร์จากการส่งออก ตามด้วย PERNOD RICARD ของฝรั่งเศส SEAFRAM ของแคนาดาและ HIRAM WALKER ของเมืองผู้ดี
สำหรับในต่างประเทศแล้ว ไวน์ของจีนยังคงเป็นของแปลกใหม่เนื่องเพราะมีการส่งออกเพียง 5% เท่านั้น ทว่าเบื้องหลังฉลากปิดชื่อยี่ห้อที่ล้วนฟังดูแปลกๆอย่างเช่น SUMMER PALACE DRAGON SEAL และ GREAT WALL ใครจะรู้บ้างว่าไวน์ยี่ห้อไม่คุ้นหูเหล่านี้ก็มีรสชาติไม่แพ้ใครเหมือนกัน พิสูจน์ได้จากงานแข่งขันประกวดเหล้าไวน์รสเยี่ยมที่ชื่อว่า CHALLENGE INTERNATIONAL DU VIN ประจำปี 1995 ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง BORDEAUX ในฝรั่งเศส DRAGON SEAL 1993 DAY WHITE ผลงานจากบริษัทร่วมทุนของ PERNOD RICARD คว้ารางวัลที่ 1 มาครองได้อย่างสง่างาม “ผู้คนมักไม่เชื่อว่าจีนก็สามารถผลิตไวน์ชั้นยอดได้” เหมากล่าว
ในปีนี้ คาดว่าไวน์จำนวน 30 ล้านขวดจะถูกเปิดเพื่อดื่มสังสรรค์กันบนโต๊ะอาหารมื้อค่ำของชาวจีน หากจะว่าไปสำหรับอุตสาหกรรมไวน์ที่เพิ่งเริ่มก้าวเตาะแตะก็ถือได้ว่ามันเป็นปาร์ตี้ที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|