ชาวจีนโพ้นทะเลเจเนอเรชั่นใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันชาวจีนโพ้นทะเลที่กระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่างๆของโลกมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นถึง 55 ล้านคนโดยในจำนวนนี้อยู่ในไต้หวันและฮ่องกง 22 ล้านคนและ 6 ล้านคนตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึง 10%ของจำนวนประชากรในเอเชียตะวันออก แต่พวกเขาเหล่านี้ก็มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเหลือคณานับ เรียกว่าในจำนวนมหาเศรษฐีพันล้าน 10 คนเป็นชาวจีนโพ้นทะเลถึง 9 คนกลุ่มนี้ครอบครองธุรกิจค้าปลีก 2 ใน 3 ของภูมิภาคมีสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดมูลค่าถึง 22 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามบริษัทของชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่นั้นแม้จะมีขนาดใหญ่แต่ก็เป็นกิจการของครอบครัวในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเริ่มปรับตัวรับความศิวิไลซ์ด้วยวิธีการต่างๆนานาสุดแต่จะเลือกใช้ เช่นดึงผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยเข้าจดทะเบียนในตลาด หรือมีแผนกประชาสัมพันธ์ของตนเอง

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คืออำนาจการตัดสินใจที่ยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ตระกูลผู้ก่อตั้งและถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวไปให้แก่ทายาทรุ่นต่อๆไป แต่สุภาษิตบทหนึ่งของจีนที่ว่า “ความมั่งคั่งไม่ยืนยาวเกินกว่า 3 ชั่วคน” ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะขึ้นมา “ล้างผลาญ” สมบัติของตระกูลดังคำกล่าวหรือไม่

ปัญหาข้อนี้ดูจะหมดไปเพราะคนรุ่นใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปเรียน MBA ถึงเมืองนอกเมืองนา และกลับมาเริ่มงานในตำแหน่งบริหารในแผนกต่างๆของบริษัทตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆแถมในจำนวนนี้บางคนก็ “ปีกกล้าขาแข็ง” กล้ายืนด้วยลำแข้งของตัวเอง เช่นริชาร์ด ลีลูกชายคนเก่งของลี กา-ชิงนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของฮ่องกงที่เริ่มต้นจากการนั่งในบอร์ดของบริษัทหลักในกลุ่มกิจการของผู้พ่อ จากนั้นไม่นานก็ขอทุนส่วนหนึ่งมาตั้งเครือข่ายสตาร์ทีวีที่บัดนี้ขายให้รูเพิร์ต เมอร์ดอคไปเรียบร้อยปัจจุบันริชาร์ดกำลังเสริมสร้างอาณาจักรแปซิฟิก เซ็นจูรี่อย่างขมีขมัน

ทว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็หนีไม่พ้นสายตาของผู้ที่เป็นพ่อ ดังกรณีลิปโป กรุ๊ป กลุ่มกิจการใหญ่สุดของอินโดยนีเซียที่ควบคุมโดยเจมส์ และสตีเฟ่นเรียดี้ ที่พยายามกระจายโครงสร้างการถือครองด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น พร้อมดึงผู้บริหารมืออาชีพมานั่งในตำแหน่งสูงๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้มอคทาร์ เรียดี้พ่อของทั้งคู่ที่ก่อตั้งลิปโปมาเมื่อต้นทศวรรษ 1960 ก็กลับมาผงาดในแสงสปอตไลท์อีกครั้ง เพื่อเรียกความมั่นใจในหมู่ผู้ถือหุ้นให้กลับคืนมา หลังจากที่บุตรชายทั้งสองเดินเกมธุรกิจไปไกลและว่องไวเกินควร

แต่สาเหตุแห่งการถกเถียงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดคือลำดับชั้นผู้สืบทอด แม้ชาวจีนจะให้ความสำคัญกับบุตรชายอย่างมาก แต่ลูกชายคนโตก็ไม่ได้เป็นผู้สืบทอดสมบัติโดยอัตโนมัติเสมอไป เดือนพฤศจิกายนที่แล้ว วินสตัน หวังตัวเก็งผู้สืบทอดอาณาจักรฟอร์โมซ่า พลาสติกของไต้หวันถูกครอบครัวเนรเทศไปอยู่อเมริกา 1 ปีเพียงเพราะไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาของตัวเอง เล่นเอานักลงทุนขวัญหนีดีฝ่อเทขายหุ้นของบริษัทเป็นว่าเล่น เพราะไม่เชื่อมือทายาท 11 คนที่เหลือของหวาง ยุง-ซิง ว่าจะสามารถบริหารฟอร์โมซ่าได้ดีเท่าวินสตัน

นอกเหนือจากการถ่ายโอนอำนาจให้ทายาทแล้ว ชาวจีนโพ้นทะเลยังทำธุรกิจโดยอิงอยู่กับ “สายสัมพันธ์” สมัยลิม ซู เหลียงยังหนุ่มๆ เพิ่งอพยพจากฟูเจี้ยนมายังอินโดนีเซียในช่วงทศวรรษ 1940 เขาหากินด้วยการป้อนเสบียงให้ทหารหนุ่มชาวอิเหนาในสงครามปลดปล่อยชาติจากปกครองของฮอลแลนด์ มาวันนี้ ทหารหนุ่มคนที่ว่าได้ดิบได้ดีเป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียที่ชื่อว่า ซูฮาร์โต ลิม ชูเหลียงเลยพลอยได้ดิบได้ดีขยายอาณาจักรซาลิม กรุ๊ปจนกลายเป็นกลุ่มกิจการใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ไปด้วย

แต่บรรยากาศการเปิดเสรีที่คุกรุ่นในปัจจุบันก็ทำให้ “สายสัมพันธ์” ลดความสำคัญลงจากนี้ไป ผู้บริหารรุ่นใหม่ไม่อาจคาดหวังกับเพื่อนเก่าและญาติๆได้อีกแล้ว สิ่งที่พวกเขาควรรีบเร่งกระทำคือ การผูกมิตรกับบริษัทต่างชาติเพื่อซึมซับเทคโนโลยีและโนว์ฮาวการบริหารมาประยุกต์ใช้

ตัวอย่างที่เด่นชัดคือธนาคารกรุงเทพหนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของเอเชียเริ่มแรกชิน โสภณพนิชผู้ก่อตั้งจะปล่อยกู้ก็เฉพาะคนที่รู้จักกันเท่านั้น แต่พอถึงยุคของบุตรชายคือ ชาตรี เขาเริ่มขยายวงลูกค้าออกไปนอก “เขต” ของผู้พ่อ ทั้งนี้จากรายงานของกระทรวงต่างประเทศและการค้าออสซี พบว่านักธุรกิจเชื้อสายจีนโพ้นทะเลรุ่นลายครามผู้หนึ่งเริ่มต้นธุรกิจด้วยการกู้เงินก้อนใหญ่จากชินเข้าไปลงทุนในพม่า ซึ่งว่ากันว่าเงินก้อนนั้นมากพอที่จะผุดโรงงานได้มากมาย แต่ถ้าเป็นวันนี้นักธุรกิจผู้นั้นคงต้องเสนอรายละเอียดของโครงการให้กับทางแบงก์และคงต้องมีเงินฝากในธนาคารมากพอสมควร และแม้จะเพียบพร้อมทั้งสองข้อเขาก็อาจจะไม่ได้เงินมากถึงขนาดนั้นด้วยซ้ำไป

หลายบริษัทตัดสินใจแยกการบริหารออกจากสิทธิความเป็นเจ้าของ เช่น เฟิร์สต์ แปซิฟิกกลุ่มกิจการชั้นนำในฮ่องกงของตระกูลซาลิม ขณะที่สแตน ฉีเลือกแตกเอเซอร์ กรุ๊ป บริษัทคอมพิวเตอร์ของไต้หวันที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นบริษัทเล็กบริษัทน้อยโดยกระจายอำนาจการบริหารออกไปและในที่สุดเอเซอร์ก็เข้าระดมทุนในตลาด

แต่อีกหลายบริษัทก็พยายามรักษาหน้าไว้จนนาทีสุดท้ายไม่ยอมขายหุ้นส่วนใหญ่แม้จะขาดทุนอย่างหนักหรือแม้กระทั่งเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำงาน บริษัทหลายแห่งที่รวมศูนย์อำนาจไว้ในมือตระกูลผู้ก่อตั้งอาจล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในแง่การสื่อสารเมื่อมีจำนวนพนักงานเรือนพันกระจายอยู่ในหลายๆประเทศแต่บริษัทของชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ไม่เคยต้องประสบปัญหานั้น เพราะแบ่งสรรปันส่วนธุรกิจให้ลูกๆหลานๆ ไปคุมหรือไม่ก็ถูกเทคโอเวอร์หรือเจอศึกสายเลือดจนต้องล่มสลายทั้งที่มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นบริษัทข้ามชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.