|
ดัชนีภาคอุตฯต่ำสุดรอบ32เดือน น้ำมันขึ้นไม่หยุดกำลังซื้อหดตัว
ผู้จัดการรายวัน(29 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
พิษน้ำมันฉุดดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือในรอบ 32 เดือน นับตั้งแต่จัดทำดัชนี วิตกดีเซลปรับขึ้น ฟันธงดัชนีเชื่อมั่นตลอดครึ่งปีหลังจะต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเหตุน้ำมันยังไม่มีวี่แววลดลง ผวาแรงซื้อครึ่งปีหลังต่ำหนัก คนไทยเริ่มบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตผิดปกติชี้สัญญาณแรงซื้อเริ่มหดตัว ชี้ศก.ไทยขึ้น 3 ปัจจัย 1. ราคาน้ำมัน 2. การท่องเที่ยว 3.แรงซื้อในประเทศ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพ.ค. 48 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 489 ตัวอย่างครอบคลุม 33 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท.พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.5 จาก 97.2 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันตั้งแต่ก.พ.48 และยังเป็นค่าดัชนีต่ำสุดตั้งแต่การจัดทำดัชนีเชื่อมั่นต.ค. 2545 หรือในรอบ 32 เดือน
ทั้งนี้ค่าดัชนีเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ต้นทุนประกอบการและกำไรสุทธิ ปรับลดลงจาก 120.8 116.4 และ 101.7 ในเดือนเม.ย.เป็น 115.5 110.3 40.3 และ 91.8 ในเดือนพ.ค. ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นภาพรวมลดลงเนื่องจากช่วงสำรวจยังไม่มีปัจจัยบวกมากระตุ้นแต่ขณะนั้นท่าทีของรัฐบาลกลับจะมีการปรับลอยตัวราคาดีเซลจึงส่งผลให้เอกชนเกิดความวิตกกังวล ขณะที่เบนซินก็ปรับขึ้นต่อเนื่องแม้จะไม่กระทบต่อผู้ผลิตโดยตรงแต่ก็จะกระทบกับแรงซื้อของคนไทยให้ลดลง รวมถึงปัญหาระดับราคาวัถตุดิบที่ปรับสูงขึ้น
สำหรับราคาดีเซลจากการสำรวจที่เอกชนรับได้คือระดับ 18.55 บาทต่อลิตร แต่ขณะนี้ดีเซลได้วิ่งไปสู่ระดับ 20.99 บาทต่อลิตร ซึ่งเมื่อรัฐบาลมีความชัดเจนในการลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะทำให้ดีเซลราคาขยับเพิ่มอีกดังนั้นเดือนมิ.ย.คาดว่าดัชนีจะต่ำไม่ถึง 100 อีกครั้ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะต่ำสุดหรือไม่คงต้องดูการสำรวจก่อน อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาปัญหาน้ำมันที่เคยเกิดขึ้นและฉุดดัชนีเชื่อมั่นให้ต่ำสุดเคยเกิดขึ้นในเดือนเม.ย.46 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ 95.9 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 29.30 เหรียญต่อบาร์เรล
"ดัชนีที่ต่ำสุดรอบ 32 เดือน โดยอยู่ที่ 90.5 น้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 47.53 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมากและยังคงเป็นสิ่งที่เอกชนยังคงกังวลต่อต้นทุนการผลิตอยู่ ประกอบกับยังมีปัญหาภัยแล้ง ปัญหาภาคใต้ และการขาดดุลทางการค้าซึ่งแนวโน้มดัชนีครึ่งปีหลังเฉลี่ยแล้วก็น่าจะต่ำกว่า 100 ทุกเดือนอยู่" นายสันติกล่าว
ทั้งนี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังและดัชนีฯ เชื่อมั่นจะมีปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจะไปทิศทางใดได้แก่ 1. ราคาน้ำมันจะลดหรือไม่ 2. การท่องเที่ยวจะต้องรอฤดูท่องเที่ยวหรือไฮด์ซีซั่นว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมาหรือไม่หากไม่กลับก็จะกระทบกับเศรษฐกิจพอสมควร 3. แรงซื้อจะลดมากน้อยเพียงใดเพราะจะมีผลต่อยอดขายในประเทศ ซึ่งจุดนี้หากรัฐเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างจ่ายให้เร็วขึ้นก็จะกลับมาช่วยกระตุ้นแรงซื้อได้ดีขึ้น
นายสันติกล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันที่แพงขึ้นการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเติบโตไว้ 10% นั้นก็อาจจะไม่ถึงเป้าหมายนัก และจะมีผลกระทบต่อแรงซื้อมากน้อยเพียงใดคงจะเริ่มเห็นชัดเจนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ โดยยอมรับว่ายอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเครือสหพัฒน์มียอดขายที่โตกว่า 10% หรือในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา มียอดขายสูงถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดได้ตัวหนึ่งว่าคนไทยเริ่มที่ประหยัดมากขึ้นและน้ำมันอาจจะกระทบกับแรงซื้อแล้วระดับหนึ่ง
นายสันติกล่าวว่า ดัชนีฯ ที่ลดลงแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม 33 กลุ่ม พบว่า ดีชนีปรับลดลง 19 กลุ่มอาทิ การพิมพ์ เหมืองแร่ เครื่องปรับอากาศ ปูนซิเมนต์ เคมี พลาสติก โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ ส่วนที่เหลืออีก 14 กลุ่ม ปรับเพิ่มขึ้นอาทิ ปิโตรเคมี เครื่องจักรกลการเกษตร รองเท้า เหล็ก ฯลฯ โดยเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นการลดใช้พลังงานในประเทศ และดูแลระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การจัดระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอกชนเพื่อกระตุ้นการขยายการลงทุน และกระตุ้นบรรยากาศในประเทศให้เอื้อต่อการลงทุน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|