New University

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงสร้างการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มิใช่เฉพาะระดับพื้นฐานที่สัมพันธ์กับการเกิดและเติบโตของโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งผมเชื่อว่าโรงเรียนนานาชาติในบ้านเราจำนวนหนึ่งได้พัฒนามีมาตรฐานแล้ว จากนี้ไปจะไปสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นกระบวนการมากขึ้น

แม้ว่าก่อนหน้านี้มีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้เปิด หลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ที่มีความหลากหลายอยู่พอสมควร ตั้งแต่เป็นมหาวิทยาลัยของไทยที่สอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สาขามหาวิทยาลัยของต่างประเทศ (ซึ่งไม่ค่อยมีชื่อเสียง) ไปจนถึงมหาวิทยาลัยไทยที่เปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษแยกต่างหากจากหลักสูตรปกติแล้ว สุดท้ายเป็น โครงการร่วมมือของมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เป็นพัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไปในช่วง นับสิบปีที่ผ่านมา และยังจัดอยู่ในวงค่อนข้างแคบ

แต่จากนี้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แนวโน้มที่สำคัญก็คือ มหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มี ชื่อเสียง และที่คนไทยนิยมไปเรียน จะมาตั้งแคมปัสขึ้นในประเทศไทย หากจะให้คาดการณ์ น่าจะมาจากออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ มากตามลำดับ เป็นการเริ่มยุคใหม่ที่สถาบันการศึกษาต่างประเทศได้ตัดสินใจขยายธุรกิจการศึกษา ของเขาไปในระดับโลก เป็นแกนของการพัฒนาการศึกษาในยุคใหม่

ทั้งนี้ FTA ที่รัฐบาลทำแล้ว หรือกำลังจะทำกับหลายประเทศ ที่มีสถาบันการศึกษาที่คนไทยนิยมนั้น เป็นแรงขับที่สำคัญ ในไม่นานจากนี้ประเทศไทยจะเป็นฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายแห่ง ที่หวังตลาดไทยและภูมิภาคนี้

ปรากฏการณ์นี้แสดงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นจริงและความคิดหลายเรื่องทีเดียว

ความหลากหลาย มีความหมายกว้างขวางมากขึ้น มิใช่เพียงกลุ่มรายได้ ชนชั้นสูง กลาง ต่ำ อาชีพ ชุมชนเมือง หัวเมือง และชนบท หากรวมถึงระดับปฏิสัมพันธ์กับสังคมโลกของกลุ่มคน ว่าไปแล้วสังคมไทยมีพื้นที่และพลเมืองขนาดที่พอเหมาะ ที่มีความหลากหลายมากในหลายมิติ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และโอกาสที่มากที่สุดประเทศหนึ่ง

ความหลากหลายเช่นนี้ต้องการระบบการศึกษาที่หลากหลายเช่นเดียวกัน

แต่การศึกษาไทยมาจากโครงสร้างความคิดเชิงเดี่ยว ในช่วงที่ผ่านมาการศึกษาเป็นสินค้าที่พยายามตอบสนองความเสมอภาคในเชิงรูปแบบที่เป็นไปไม่ได้ ในที่สุดไม่สามารถตอบสนองความหลากหลายของสังคม แรงขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยน แปลงระบบการศึกษาจึงมีมาตลอด

ในช่วง 10 ปีมานี้การศึกษาไทยปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างเงียบๆ อย่างมาก แม้จะเป็นช่วงการปรับเปลี่ยนที่ลองผิดลองถูก บางครั้งมุ่งการตลาดมากเกินไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด แสดงการปรับเปลี่ยนเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ชุมชนระดับโลก การศึกษาไทยพัฒนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนระดับโลกอย่างเชื่องช้า ตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจ การค้า สังคมไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงง่ายที่สุดของสินค้าระดับโลก (คำว่าสินค้าของผม มีความหมาย กว้างมาก ตั้งแต่โทรศัพท์ แฟชั่นจนถึงไลฟ์สไตล์ ค่านิยม ฯลฯ) ไม่ว่าสินค้านั้นจะดีหรือไม่ เหมาะหรือไม่ สังคมไทยมีกระบวน การตอบสนองสินค้าระดับโลกเชิงบวกอย่างง่ายดาย

ความสมดุลที่ควรเป็นก็คือ ระบบการศึกษาของไทยจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วกับสังคมระดับโลก เพื่อการศึกษาอย่าง จำแนก สร้างระบบการศึกษาซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ เมื่อ ระบบการศึกษาล้าหลังเช่นนั้น พัฒนาการสังคมไทยจึงกลายเป็น สังคมที่ไร้บุคลิกสังคมหนึ่งของโลกไปอย่างช่วยไม่ได้

จากนี้การศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวเองเข้ากับสังคมโลก แม้จะต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียวในการสร้างความสมดุล แต่ก็เชื่อว่าการศึกษาที่ว่าด้วยการศึกษาซึ่งกันและกันระหว่างผู้ให้บริการการศึกษาในบ้านเรากับผู้ให้บริการการศึกษาระดับโลก จำต้องมีมากขึ้น

แน่ละ ในกระบวนการศึกษาซึ่งกันและกัน ซึ่งจะตามมาด้วยการแข่งขัน การร่วมมือนั้น ย่อมมีผู้ชนะ ผู้ด้อย และผู้ที่พ่ายแพ้อยู่เสมอ

สถาบันการศึกษาของไทยระดับอุดมศึกษาที่เป็นฐานความรู้ของสังคมไทย ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังเผชิญบททดสอบอันเข้มข้นไม่นานจากนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.