|
ปฏิวัติอุตสาหกรรมสัมพันธ์
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่กี่วันก่อนที่ผมจะลงมือเขียนบทความบทนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งอีเมลมาถึงนักศึกษาทุกคน เพื่อแจ้งว่าพนักงานการรถไฟของรัฐควีนส์แลนด์ จะหยุดงานประท้วง ในวันพุธที่ 15 มิถุนายน โดยเริ่มการประท้วงตั้งแต่เที่ยงคืนของคืนวันอังคาร
เนื่องจากช่วงนี้เข้าใกล้ช่วงสอบปลายภาคของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องการแจ้งให้นักศึกษาที่มีกำหนดการสอบในวันดังกล่าวปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางมายังมหาวิทยาลัย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหามาถึงสถานที่สอบไม่ทันเวลา
เมื่อสำรวจข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่เมลเบิร์น พนักงานการรถไฟก็ประท้วงหยุดงานเช่นกัน ทำให้ผู้โดยสารซึ่งอาศัยระบบเครือข่ายมวลชนเกือบ 40,000 คน ได้รับผลกระทบ โดย 3,000 คน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย RMIT ซึ่งไม่สามารถเข้าห้องสอบทันในเช้าวันนั้น
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 1948 ครั้งนั้นมีการประท้วงของพนักงานการรถไฟของรัฐควีนส์แลนด์นานกว่าเก้าสัปดาห์ โดยเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์และสิ้นสุดในเดือนเมษายน
การประท้วงครั้งนั้นส่งผลให้มีการขึ้นเงินเดือนสำหรับพนักงาน 23,000 คน รวมมูลค่ากว่า 1,000,000 เหรียญออสเตรเลียต่อปี และยังต้องจ่ายเงินย้อนหลังอีกกว่า 350,000 เหรียญอีกด้วย นอกจากนี้ พนักงานบางส่วนที่ไม่ได้ร่วมประท้วงก็พลอยได้รับผลประโยชน์ จากการประท้วงครั้งนี้ด้วย
ชัยชนะของพนักงานการรถไฟครั้งนั้น ส่งผลอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์, เสมียน, ครู และอื่นๆ และแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ไม้ตะบองไล่ตีเหล่าผู้ประท้วงเพื่อขัดขวางการประท้วงก็พลอยได้รับการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ไปด้วย
ชัยชนะครั้งนั้นถูกเรียกว่าเป็นชัยชนะ ของชนชั้นแรงงานอย่างแท้จริง
กลับมาสู่โลกปัจจุบัน รัฐบาลออสเตร เลียนำโดยนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด เพิ่งประกาศยึดระบบอุตสาหกรรมสัมพันธ์ (Industrial relations systems) เข้าสู่ส่วนกลางทั้งหมด
ระบบอุตสาหกรรมสัมพันธ์ หรือระบบ แรงงานสัมพันธ์ เป็นการจัดการความสัมพันธ์ ระหว่างลูกจ้าง, นายจ้าง และสหภาพแรงงาน ซึ่งรวมถึงการเจรจาต่อรอง การร่วมหารือและระงับข้อพิพาทแรงงาน, อัตราค่าจ้าง แรงงาน, สภาพการทำงาน, สภาพการจ้างงาน, การประกันสังคม, และกฎข้อบังคับของทางราชการ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ระบบอุตสาหกรรมสัมพันธ์จะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐแต่ละรัฐทั้งหกรัฐ ทำให้มีระบบอุตสาหกรรมสัมพันธ์หกรูปแบบ และรูปแบบของสวัสดิการที่แตกต่างกันหลายพันรูปแบบ นายจอห์น โฮเวิร์ด อ้างว่า ระบบปัจจุบันทับซ้อนกับระบบของรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ยังมีความซับซ้อน, ไร้ประสิทธิภาพ และต้นทุนในการจัดการสูง
แต่ภายใต้นโยบายที่เพิ่งประกาศออกมา ระบบการจัดการอุตสาหกรรมสัมพันธ์จะปรับปรุงใหม่หมด รัฐบาลจะยึดอำนาจจากผู้ว่าการรัฐทั้งหมด แล้วจัดตั้งหน่วยงานกลาง ขึ้นใหม่เพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างแรงงาน และการจัดสภาพการจ้างงานทั่วประเทศออสเตรเลียเพียงหน่วยงานเดียว โดยแต่ละรัฐ จะถูกขอให้อ้างอิงแนวทางการจัดการแรงงาน ของรัฐบาลกลางในการจัดการแรงงานใดๆ ของตน ซึ่งจะทำให้ระบบศูนย์กลางของรัฐบาล ครอบคลุมแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐใดปฏิเสธ รัฐบาลกลางก็จะออกกฎหมาย เพื่อยึดอำนาจอย่างเป็นทางการเอง
Australian Fair Pay Commission จะเป็นหน่วยงานใหม่มาช่วยจัดการเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างแรงงาน โดยหน่วยงานนี้จะกำหนด ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำราคาเดียวทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการลดอำนาจของ Australian Indus-trial Relations Commission (AIRC) ค่าจ้าง แรงงานขั้นต่ำจะถูกกำหนดเพื่อใช้ในการกระตุ้นตลาดแรงงานโดยในการเพิ่มค่าจ้างแรงงานใดๆ ในอนาคตจะคำนึงถึงปัจจัยทาง เศรษฐกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ดี โครงสร้างของ สวัสดิการต่างๆ สำหรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในแต่ละระดับสำหรับงานในแต่ละประเภทยังคงมีอยู่เหมือนเดิม และภายใต้นโยบายใหม่ AIRC จะมีบทบาทเพียงช่วยในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งเท่านั้น
สวัสดิการต่างๆ ที่กำหนดสำหรับการ ให้สิทธิพื้นฐานต่างๆ เช่น การให้ดื่มเบียร์ได้ในเวลาอาหารกลางวัน, การจัดเตรียมเครื่องทำกาแฟหรือชา, การลาหยุดเนื่องจากการบริจาคเลือด หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไว้ในที่ทำงาน เป็นต้น จะถูกลดลงจาก 20 กรณี เหลือ 16 กรณี โดย สวัสดิการที่ถูกยกเลิก ได้แก่ สิทธิในการลางานเนื่องจากทำงานติดต่อกันในที่ทำงานเดียวเป็นเวลานาน (long service leave), การรับเบี้ยบำนาญ, การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องแจ้งเพื่อยกเลิกการจ้างงาน, และการลาเพื่อทำหน้าที่เป็นลูกขุน เพราะสิทธิเหล่านี้ถูกกำหนดในกฎหมายอื่นๆ ของรัฐบาล กลางแล้ว นอกจากนี้โครงสร้างการกำหนดเงื่อนไขและการกำหนดประเภทงานจะถูกพิจารณาภายในสิบสองเดือน
ในเรื่องการทำสัญญา การปฏิรูปอุตสาหกรรมสัมพันธ์ใหม่นี้จะช่วยให้นายจ้างสามารถเจรจาต่อรองในการทำสัญญาจ้างงาน สำหรับลูกจ้างแต่ละคนได้ง่ายขึ้น, ช่วยให้สามารถกำหนดรูปแบบงานให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ, ขั้นตอนการทำสัญญาจะผ่อนคลายมากขึ้น, สัญญาทุกฉบับจะถูกส่งตรงไป ยัง Office of Employment Advocate ซึ่งทำหน้าที่ในการอนุมัติสัญญาโดยตรง, ในสัญญาจะสามารถตัดลดสวัสดิการต่างๆ ได้ แต่จะไม่สามารถลดสวัสดิการพื้นฐาน อันได้แก่ ค่าจ้างขั้นต่ำ, สิทธิการลางานประจำปี, การลาคลอด, ลาป่วย, ลากิจ และระยะเวลา ทำงานสูงสุด ซึ่งสิทธิเหล่านี้หน่วยงานของรัฐบาลกลางจะเป็นผู้กำหนดเอง โดยสหภาพ แรงงานจะถูกกันไม่ให้มีส่วนร่วมในการเจรจา ต่อรองในสัญญานั้นๆ
ในประเด็นเรื่องการบอกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ธุรกิจที่มีพนักงานต่ำกว่า 100 คน จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายป้องกันการยกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้พนักงานในธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ได้ และธุรกิจที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน สามารถกำหนดช่วงทดลองงาน สำหรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นจากสามเดือนเป็น หกเดือน ซึ่งทำให้พนักงานในบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องใดๆ ถ้าถูกให้ออกจากงาน ภายในหกเดือนแรก อย่างไรก็ตาม สิทธิในการร้องเรียนกรณีถูกเลิกจ้างงานที่ขัดต่อข้อกฎหมาย เช่น เนื่องจากสีผิว หรือเพศ ยังคง มีอยู่
นอกจากนี้ยังจำกัดสิทธิของเจ้าหน้าที่ สหภาพแรงงานในการเข้าตรวจสถานที่ทำงาน และการจัดการประท้วงจะทำได้ยากขึ้น เพราะ สหภาพแรงงานจะต้องลงคะแนนลับในขั้นตอน การอนุมัติให้ทำการประท้วงใดๆ ซึ่งทำให้สามารถถูกแทรกแซงได้
นายจอห์น โฮเวิร์ด อ้างว่า นโยบายนี้ ทำเพื่อให้ระบบการจัดการแรงงานมีความยืดหยุ่น, ง่าย และเป็นธรรมมากขึ้น นอกจาก นี้เขายังบอกว่า ประเทศออสเตรเลียต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถ้ายังต้องการให้ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง และยังคงสถานะที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในระบบเศรษฐกิจโลกได้
แนวทางนี้ได้รับการวิจารณ์ว่า ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอลง แต่ได้รับการสนับ สนุนท่วมท้นจากกลุ่มนายจ้าง โดยอ้างว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการยกเลิก การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมช่วยสร้างแรงจูงใจให้ องค์กรธุรกิจในการจ้างแรงงานใหม่เพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าจะเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 77,000 ตำแหน่ง ในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นห้องเครื่องของระบบเศรษฐกิจออสเตรเลีย เพราะมีการจ้างงานมาก ถึง 3.8 ล้านตำแหน่ง และจะช่วยให้อัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่า 5%
ในปี 2003 ลูกจ้างจำนวน 15,253 คน ร้องเรียนกรณีที่พวกเขาถูกเลิกจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้หลายๆ ธุรกิจหวั่นเกรง การจ้างงาน และเป็นการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ (ดูเพิ่มเติมจากตารางที่ 1 และ 2) นอกจากนี้บทบาทของสหภาพแรงงานในการปกป้องลูกจ้างก็สร้างความลำบากให้กับหลายๆ ธุรกิจ
ในขณะที่งานวิจัยของ Melbourne Institute of Applied Economic and Social Research และ Access Economics ก็เห็นด้วยว่า การคงค่าแรงขั้นต่ำไว้ระยะหนึ่งรวมกับการยกเลิกกฎหมายป้องกันการยกเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมสามารถช่วยสร้างงานใหม่ได้ถึง 150,000-300,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้กลุ่มนายจ้างยังหวังว่าจะมีการยกเครื่องระบบการกำหนดสวัสดิการและ การทำสัญญาการจ้างงาน เพื่อเปิดทางให้มีการจัดการการจ้างงานใหม่ที่จะช่วยให้มีผลิตภาพสูงขึ้น
ในขณะที่เหล่าผู้ว่าการรัฐทั้งหกต่างไม่ค่อยเห็นด้วย โดยต่างมองว่านโยบายใหม่ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ และเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะทำลายระบบเดิมทิ้งแล้วเอาระบบใหม่เข้ามาครอบแทน
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Australian ตั้งคำถามว่า ทำไมธุรกิจที่มีพนักงาน 100 คน ถึงได้รับการยกเว้นจากกฎหมายป้องกันการยกเลิกการจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม แต่ธุรกิจที่มีพนักงาน 101 คน กลับต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ การแถลงของจอห์น โฮเวิร์ด ไม่สามารถให้ความกระจ่างแจ้งในเรื่องนี้ได้
อย่างไรก็ดี นโยบายของจอห์น โฮเวิร์ด มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะรัฐบาลครองเสียง ข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งสามารถผ่านกฎหมายนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ถึงแม้ว่านโยบายใหม่นี้จะถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ลูกจ้างจะเสียเปรียบ แต่นายจอห์น โฮเวิร์ด ก็บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ใหม่หรือเก่าก็ไม่ได้รับประกันว่าลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจเกิดตกต่ำขึ้นมา
เพราะฉะนั้นความมั่นคงของการจ้างงาน สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพของเศรษฐกิจว่าดีหรือไม่
อานเพิ่มเติม
1. "More rail strikes threatened", หนังสือพิมพ์ The Courier-Mail วันที่ 6 มิถุนายน 2005
2. Olive, D. (1999), The Queensland Rail Strike 1948, http://www.takver.com/history/railq48
3. Charlton, P. (2005), Power players, ใน Our Queensland section, http://thecouriermail.com.au/extras/oq
4. "Howard starts his industrial revolution", หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2005 หน้า 1, 4
5. 'Howrd's hard line on unfair sackings", หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2005 หน้า 1
6. "Howrd's new work order", หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 1, 4, 5
7. "Battlers struggle on PM's long march", โดย Mark David, หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 57
8. "PM unleashed work revolution", หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 1, 57
9. "Fire away : sackings to create 77,000 jobs", โดย Fleur Anderson หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 58
10. "Howard's Historic Work Reforms", หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 58-61
11. "These reforms are a winnier", หนังสือพิมพ์ The Australian Financial Review ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 90
12. "Good riddance to the wage-fixing club", โดย P.P. McGuinness, หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 13
13. "A big win for all the workers", หนังสือพิมพ์ The Australian ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2005 หน้า 12
14. "Howard's industrial reformation", โดย Paul Kelly, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian ฉบับวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2005 หน้า 19
15. Greater Enforced Choice", โดย Brad Norington, หนังสือพิมพ์ The Weekend Australian ฉบับวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2005 หน้า 19
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|