|
Coffee at True
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ต้องยอมรับว่า หนแรกที่ได้มีโอกาสยลโฉม "True Life Style Shop" ช็อปต้นแบบใหม่เอี่ยมของทรู ที่จัดตกแต่งได้อย่างลงตัวบนพื้นที่ใช้สอย 230 ตารางเมตร ของบ้านไม้สองชั้นหลังเก่าแก่ที่สุดในตรอกข้าวสาร ถึงกับทำให้ "ผู้จัดการ" เกิดความรู้สึกอบอุ่นเหมือนนั่งอยู่ในบ้านของตัวเอง
นี่คงเป็นความประสงค์ของผู้บริหารทรูมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ Assistant to President/CEO ผู้บริหารคนใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมงานกับทรูได้เพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ และเริ่มต้นผลงานชิ้นแรกด้วยการรับผิดชอบดูแลทรู ช็อป แบบใหม่ที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงไปนับจากนี้เป็นต้นไป
ปพนธ์ถือเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในการทำตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์แก่ตัวสินค้าให้ติดตาแก่ผู้บริโภคทั่วไปได้ดีมากจนหาตัวจับยากคนหนึ่งในวงการธุรกิจเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะ โปรเจ็กต์ "zoom zoom" ของแบรนด์มาสด้า ที่เคยสร้างผลงานติดตัวปพนธ์มาแล้วก่อนหน้านี้
ด้วยความที่เป็นคนชอบห้องนั่งเล่นเป็นพิเศษ บวกกับชอบความทันสมัย และเครื่องเสียงแทบทุกรูปแบบ ทำให้ร้านค้าต้นแบบแห่งแรกของทรู ให้ความรู้สึกกับผู้คนที่แวะไปเยี่ยมเยือนเหมือนนั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นในบ้านหรือที่พักของตนเอง
ตัวบ้านไม้สองชั้นที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ ส่วนหนึ่งของร้านอาหารไทย "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนละแวกตรอกข้าวสาร ได้รับการแบ่งครึ่งให้ทรูเช่า ทีมงานของบริษัทออกแบบภายใน "City Space" ทาสีและตกแต่งใหม่เสียทั้งหมด โดยใช้ระยะเวลาเตรียมกันหลายเดือน
ด้านหน้าของตัวร้านติดตั้งป้าย "True at kao san" อันเป็นคอนเซ็ปต์ของร้านที่รองรับทั้งนักดื่มและนักเล่นในเวลาเดียวกัน หากก้าวพ้นบานประตูไม้ของร้านเข้ามาสู่ตัวร้าน ขวามือของผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนจะเป็นเคาน์เตอร์กาแฟที่คัดสรรมาด้วยฝีมือของปพนธ์ ที่เป็นคนชอบดื่มกาแฟอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
กาแฟชุดแรกที่เสิร์ฟในร้านมาจากดอยช้าง จังหวัดเชียงใหม่ที่ปพนธ์อาศัยช่วงเวลาของการเดินทางไปท่องเที่ยว เดินทางไปติดต่อเพื่อซื้อหามาชงให้กับแขกในร้าน ทีมงานของร้านคั่วกันสดๆ บริเวณด้านหน้าร้านให้แขกได้เห็นถึงวิธีการ ขั้นตอนก่อนจะมาเป็นกาแฟในแก้ว
เช่นเดียวกันในวันแถลงข่าวเปิดร้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอของทรู ลงทุนเดินทางมาก่อนล่วงหน้าหลายชั่วโมงเพื่อฝึกฝีมือการชงกาแฟโชว์สื่อมวลชนในแบบฉบับของ Coffee at True โดยเฉพาะเพื่อเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้าง เอกลักษณ์และความแตกต่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับจาน ชาม แก้ว ขวดน้ำ และแม้แต่ซองน้ำตาล ที่ได้รับการออกแบบให้มีแบรนด์ "Coffee at True" ติดอยู่แทบทุกอย่าง
ถัดจากเคาน์เตอร์กาแฟ ติดๆ กันยังมีตู้ขนมเค้ก ขนมขบเคี้ยว ที่ใช้แบรนด์เดียวกันกับบริษัท เข้ามาด้านในไม่เพียงแต่ มุมนั่งเล่นแทรกอยู่ด้วยเท่านั้น แต่ยังมีมุมโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จากออเร้นจ์ อันเป็น ร้านในเครือของทรู และมุมขายสินค้าไฮเทค อาทิ เครื่องเล่นเอ็มพีสามรุ่นล่า ลำโพง และพีดีเอ ที่ทีมงานจะตระเวนค้นหามาแสดงไว้พร้อมขายให้กับผู้ที่สนใจได้ทันที
ดีเจมืออาชีพเจ้าของร้านขายซีดีบนห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ และรู้จักกันดีในแถบ Playground ซอยทองหล่อ พร้อมทีมงานที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาประจำร้านทุกวันในช่วงเย็นถึงดึก รับหน้าที่ เปิดเพลงคลอเบาๆ ให้เข้ากับสไตล์ในร้าน พร้อมกับทำหน้าที่แนะนำซีดีที่วางเรียงรายข้างฝาบ้าน สำหรับแขกที่ต้องการ ซื้อหาติดมือกลับบ้านไปด้วย
ชั้นบนของตัวบ้านครึ่งหนึ่งถูกจัดสรรเป็นพื้นที่สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบรนด์ทรู อีกส่วนหนึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่นั่งเล่นและแสดงเทคโนโลยีการประชุมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีพนักงานที่ได้รับการโอนย้ายมาจากทรู ช็อป สาขาเดิมเข้ามาช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจตลอดเวลา
สื่อมวลชนตั้งคำถามกับผู้บริหาร ของทรูหลายครั้งหลายคราวในวันงานแถลงข่าวเปิดตัวร้านเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ถึงการลงทุนไปกับร้านแห่งใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินไปกว่า 6 ล้านบาท คุ้มค่าที่ตรงไหน
คำตอบที่ได้ ก็ไม่เหนือการคาดเดา มากนัก ผู้บริหารของบริษัทต้องการสื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี ร้านค้าแห่งใหม่เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกรูปแบบของชีวิต หรือทุกกิจกรรมของชีวิตสามารถเดินไปร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ความคุ้มค่าของร้านคือการที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่า ทรูคือผู้นำเทคโนโลยีที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้แทบทุกอย่างนั่นเอง
รายได้ของร้าน คือสิ่งที่ผู้บริหาร ต้องใช้เวลา 3 เดือนในการประเมินผล ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายกาแฟ ขนม ขบเคี้ยว บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สินค้าไฮเทค โทรศัพท์มือถือ ซีดี การขายการ์ดบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย หรือ Wi-Fi ที่ติดตั้งให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในร้านทั้งหมด หรือแม้แต่การเป็นจุดรับชำระค่าบริการทุกอย่างเช่นเดียวกันกับทรูช็อป อาทิ ชำระค่าบริการโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือออเร้นจ์ พีซีที และค่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
หากร้านต้นแบบแห่งนี้ประสบความ สำเร็จ แนวโน้มของการขายแฟรนไชส์ถือกลยุทธ์ถัดไปนับจากนี้ ด้วยจุดประสงค์ของ การทำให้แบรนด์ทรูขยายวงกว้างออกไปแทบทุกส่วน แม้จะบอกไม่ได้ว่ารูปแบบของ การขายแฟรนไชส์จะเป็นแบบไหน แต่ดูผู้บริหารก็มั่นใจไม่น้อยว่าผลของการเปิดร้านใหม่นี้จะเป็นที่น่าพอใจไม่น้อย
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวบ้านเก่าแก่ บรรยากาศภายในร้าน รสชาติของเครื่องดื่ม ประกอบกับความสะดวกสบาย ทำให้ลูกค้าหน้าเก่าใหม่แวะเวียนไปเยี่ยมเยือนร้านใหม่ของทรูกันแล้ววันนี้ รวมถึงลูกค้าบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง "ผู้จัดการ" ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|