ครูพันธุ์ใหม่

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

การศึกษาแนวใหม่ซึ่งเป็นโรงเรียนในฝันของคนหลายคนจะไม่สามารถนำเด็กไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อการสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เลย หาก 'ครู' ยังมีวิธีคิดและใช้วิธีการสอนแบบเก่า

กระบวนการคัดสรรบุคลากร จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อธิบายกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"ที่นี่เราเรียกครูว่า facilitator ซึ่งไม่ใช่ครูในความหมายเดิม ที่จะต้องสอน แต่ของเราคือผู้ที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับเด็ก และที่สำคัญครูต้องเป็นคนรักเด็ก เพราะเด็กที่นี่ถูกกระตุ้นให้ถาม ให้ตั้งข้อสงสัย จะรำคาญไม่ได้ สติ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเรารับเขาเข้ามา อย่างแรกเลย ต้องส่งไปอบรมฝึกสมาธิ ฝึกสติ และระหว่างปี หากพบว่าคนไหนเครียดเกินไปก็จะให้พักไปฝึกสมาธิให้จิตสงบสบาย เพราะเราถือว่าหากครูจิตใจขุ่นมัวแล้วจะทำให้เป้าหมายของโรงเรียนบิดเบี้ยวไป"

คนที่เข้ามาเป็นครู จบสาขาวิชาใดมาก็ได้ แต่ต้องจบปริญญาตรีมาเป็นอย่างน้อย ในเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.7 มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ได้ดี

"ไม่ได้จบครู ก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นครับ เราก็ไปเอาหลักสูตรของกระทรวงศึกษามา ซึ่งมี 100 กว่ารายการ เรามาย่อยให้เหลือเพียงไม่กี่รายการ แล้วนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับโรงเรียนเรา บางอย่างเราก็ไม่เอา เหลือพวกแกนๆ เท่านั้น ที่เหลือเราก็บูรณาการเข้าไปอย่างจริยธรรรม ศีลธรรม เราไม่มีในชั่วโมงเรียนและผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สอนไม่ได้ แต่เราต้องมีวิธีการปลูกฝังได้" พารณอธิบายต่อ

ครูโครงงานของเด็กบ้านล่าง เป็นหนุ่มสาววัยประมาณ 26-28 ปี มีทั้งหมด 6 คนคือ 'ครูแวะ' สุภาพรรณ จิระอานนท์ จบปริญญาโทด้านจิตวิทยาคลินิก ทำงานเป็นนักจิตวิทยาก่อนมาร่วมงานที่นี่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อารียา ศิโรดม 'ครูกุ๊บกิ๊บ' จบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มงานที่นี่เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา 'ครูกิ๊บ' ธันยา พิทธยาพิทักษ์ จบปริญญาโทด้านวรรณกรรมเด็กจากประเทศออสเตรเลีย เริ่มสอนที่นี่ประมาณ 1 ปีเช่นกัน "ครูแจ็ค' ธันยวิช วิเชียรพันธ์ จบปริญญาโทจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มงานที่นี่มาประมาณ 4 ปี 'ครูหนุ่ม' เสนีย์ บุญพารานนท์ จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนมาประมาณ 2 ปี และสุดท้าย ครู 'เหลิม' เฉลิมพล สุลักษณาการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และกำลังต่อปริญญาโทด้าน MIT จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพิ่งมาสอนที่นี่ในปีนี้

ด้วยวัยและบุคลิกของครู ที่เป็นเสมือนเพื่อน เหมือนพี่ อาจทำให้วินัยของบ้านเด็กเล็กไม่ค่อยดีนัก แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเขาไม่ 'กลัว' หรือ 'เกรง' คำถามก็เลยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

คำว่า 'สอน' ที่ถูกบอกมาว่าให้ลืมไปเลย เพราะกลัวว่าเด็กจะหยุดขบวนการทางความคิด อาจยังใช้ไม่ได้เต็มที่นักสำหรับเด็กบ้านล่างที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่คล่อง ไม่เชี่ยวชาญเรื่องใช้เครื่องมือ และยังขาดความมั่นใจ ดังนั้นการสอนก็ไม่น่าผิด เพียงแต่ต้องเป็น การสอนในเวลาที่เขาอยากรู้ และไม่ใช่เป็นการสอนที่ให้จบตรงนั้น แต่ต้องเป็นการกระตุ้นให้เขาคิดต่อด้วย

แต่การปฏิบัติจริง ทำได้แค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับสไตล์การสอนของครู และระบบการบริหารจัดการของทางโรงเรียนเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.