ดรุณสิกขาลัย Shift Paradigm

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เด็กๆ ทุกคนในดรุณสิกขาลัย ได้รับโอกาสให้เรียนรู้ได้ตามความสนใจ ผ่านระบบ Project-based-learning ที่เป็นหัวใจสำคัญ ในขณะที่ผู้ปกครองต้องคิดนอกกรอบ และต้องปฏิวัติตัวเองจากระบบการเรียนเก่าๆ ที่เคยรับรู้มาตลอดชีวิต

ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า อาจเกิดคำถามขึ้นในใจ ของผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสกับโรงเรียนแห่งนี้ว่า เอ๊ะ! เด็กกลุ่มนั้นกำลังทำอะไรอยู่? เขากำลังเล่นหรือเรียน? แล้ว นั่นคือห้องเรียนหรือเปล่า? เพราะหน้าห้องไม่มีกระดานดำ ไม่มีโต๊ะครู อาจารย์ แล้วโต๊ะนักเรียนที่ควรวางอยู่เป็นแถว แน่นเอี๊ยดล่ะ หายไปไหนหมด?

ห้องเรียนที่ชินตามาตลอดชีวิตของบางคน ไม่มีให้เห็นที่นี่ เด็กหญิง-ชายทั้งหมดในห้องนั้นมีประมาณ 13 คน อายุประมาณ 7-9 ขวบ แยกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนั่งล้อมโต๊ะเป็นวงกลมกำลังคุยเรื่องการทำจรวด อีกกลุ่มหนึ่งกำลังหาข้อมูลเรื่องพยาธิจากอินเทอร์เน็ต และอีกกลุ่มหนึ่งมีเพียง 3 คนกำลังวางแผนเรื่องการเลี้ยง หนูแฮมเตอร์

ทั้งหมดคือนักเรียนบ้านล่าง (ระดับ ป.1-ป.3) ของโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งมีนักเรียนทั้งโรงเรียน 28 คน คุณครูอีก 30 คน ไม่ได้แบ่งนักเรียนเป็นระดับชั้นปี แต่แบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามอายุและความสามารถ คือนักเรียนบ้านล่าง นักเรียนบ้านบน (ป.4-ป.6) จำนวน 8 คน และนักเรียนบ้านมัธยมอีก 7 คน

ดรุณสิกขาลัย เกิดขึ้นในปี 2544 โดยความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The Media Lab of Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแนวใหม่ตามวิธีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ที่ตรงตาม พ.ร.บ.การศึกษา แห่งชาติ พ.ศ.2542 คือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้บูรณาการด้วยเทคโนโลยี เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเรียนการสอนของดรุณสิกขาลัย จึงอยู่ภายใต้ แนวความคิดหลัก 3 ด้านคือ สอนตามวิธี Constructionism ของ Prof.Seymour Papert รากฐานของแนวความคิดนี้มีจุดเริ่มต้นจากทฤษฎี Constructionism หรือ การเรียนรู้แบบคิดเองทำเองที่นำเสนอโดย Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ.1960 โดย Seymour

2. การบริหารการจัดการโรงเรียนตามวิธี Learning Organization ของ Peter M.Senge แห่ง MIT และ 3. การพัฒนาสติตามวิถีพุทธ ลดอัตตาให้ต่ำ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

ความแตกต่างที่ชัดเจนของดรุณสิกขาลัยคือการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในเรื่องที่ตนเองสนใจ และบูรณาการวิชาการต่างๆ ไปพร้อมๆ กับพัฒนาทักษะ 5 ด้านคือ IQ (Intelligence Quotient) ทักษะในเรื่อง กระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้ EQ (Emotion) การ พัฒนาทางด้านอารมณ์ AQ (Adversity) พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา และทำงานภายใต้สภาวะความกดดัน TQ (Technology) รู้จักการเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้ เหมาะสมกับความต้องการ และ MQ (Morality) การปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม

"ผู้จัดการ" ไปสังเกตการเรียนการสอนเฉพาะกลุ่มเด็กบ้านล่างอยู่หลายครั้ง ที่โฟกัสไปยังกลุ่มเด็กเล็ก เพราะมีความเห็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญที่สุด ที่ต้องเข้าใจระบบการศึกษาแบบนี้ เพราะหากผู้ปกครอง ไม่เข้าใจไม่ส่งลูกเข้ามาเรียน 'มนุษย์พันธุ์ใหม่' ตามแนวคิดนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ในบ้านเด็กเล็กเด็กทั้ง 13 คนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อทำงานปีละ 4 โปรเจ็กต์ แต่ละโปรเจ็กต์ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในระดับนี้ครูผู้สอนพยายามเน้นเนื้อหา ไปในเรื่องธรรมชาติใกล้ตัวมากที่สุดโดยมีแผนอยู่ในใจแล้วว่า องค์ความรู้ที่นักเรียนควรได้เป็นเรื่องอะไรบ้าง ดังนั้น หัวข้อที่เด็กสนใจและเป็นผู้กำหนดเอง ก็ต้องอยู่ในเนื้อหาที่มีครูคอยคุมทิศทาง และที่สำคัญจะพยายามแนะนำให้หัวข้อนั้นมีประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม สำหรับ โครงงานที่เด็กเลือกเรียนในเทอมแรกมีทั้งหมด 3 เรื่อง คือ การเลี้ยงหนูแฮมเตอร์ จรวด และเรื่องพยาธิ

ช่วงแรกของการทำโปรเจ็กต์เป็นการวางแผน รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งในอินเทอร์เน็ต การออกนอกสถานที่ไปหาความรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง และทำกิจกรรม ส่วนสัปดาห์ที่ 5 หรือ 6 จะเป็นการทำผลงาน เพื่อนำเสนอในสัปดาห์ที่ 8 ซึ่งมีครอบครัวและคุณครูเข้าร่วมฟังด้วย

ความรู้ที่ได้จากการทำโครงงานอาจไม่ลึกซึ้งนักในระดับเด็กบ้านล่าง แต่สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้ได้รับคือ น่าจะเป็นความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานมากกว่า

ทุกวัน เด็กที่เรียนโครงงานจะต้องสรุปความรู้ที่เรียนทั้งหมดเก็บเป็น mind map ซึ่งเป็นแผนผังทางความคิดเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นหรือ show & share ความคิดกับเพื่อนในกลุ่ม แต่ทุกอย่างต้องทำเป็น mind map ในวันพฤหัสบดี เพื่อเตรียม show & share ให้กับเพื่อน กลุ่มอื่นๆ ได้รับรู้ไปด้วยกันในวันศุกร์

กลุ่มที่เรียนเรื่องพยาธิไม่ต้องเรียนเรื่องแฮมเตอร์ หรือเรื่องจรวด แต่เขาจะต้องฟังเพื่อน มา show & share ทุกวันศุกร์และต้องจดบันทึกความรู้ที่ได้ไว้ด้วย รวมทั้งมี การซักถามเพิ่มเติมหากไม่เข้าใจวิธีนี้ เป็นการฝึกให้นักเรียนทุกคนเคยชินกับการพูดต่อหน้าผู้อื่น ฝึกสรุปใจความ ในประเด็นสำคัญของเรื่อง และสามารถอธิบาย ให้คนอื่นฟังได้ด้วย

ช่วงบ่ายของแต่ละวันในเด็กบ้านล่างเป็นเวลาของ learning guide คือการเรียนรู้วิชาการ ซึ่งมีเพียงวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ส่วนกีฬากับ reading time จะสลับวันเรียน นักเรียนแต่ละคนมีตารางเรียนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับครูที่ปรึกษาจะจัดให้ว่า ใครควรเรียนอย่างไร ภาษาอังกฤษและเลขจะเรียนประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนภาษาไทยนั้นจำนวน ชั่วโมงเรียนมากน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน

ในวิชาหลัก แบ่งเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 4-7 คน โดยมีครู 2 คนช่วยกันสอน ดรุณสิกขาลัยไม่ได้วางตัวเอง เป็นโรงเรียนที่เรียนสองภาษา แต่เด็กเล็กหรือเด็กบ้านล่างนั้นจะถูกสอนภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยในการทำโครงงานหรือในชั่วโมงวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเรียนด้วยตำราจากประเทศสิงคโปร์

ด้วยวิธีการเรียนอย่างนี้ทำให้ครูผู้สอนแทบจะไม่ได้ใช้กระดานเลย เด็กลงมือทำโดยมีครูคอยแนะอย่างใกล้ชิดเป็นคนๆ ไปในลักษณะเดียวกับการเรียนพิเศษ

ดร.นิตยา หวังวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการอธิบายเพิ่มเติมว่า

"ในอนาคตเราจะปรับวิธีการสอนเลขคือให้เด็กเขาลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น แทนที่จะให้เด็กทำแบบฝึกหัดอย่างเดียว อาจมีเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ให้เด็กเข้าใจเรื่องบวกลบคูณหาร ซึ่งตรงนั้นจะทำให้เด็กเข้าใจได้มากกว่า"

คำถามหนึ่งที่ผู้ปกครองอาจต้องการคำอธิบายคือ เมื่อทางโรงเรียนรับเด็กตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป เด็กวัยนี้ ยังอ่านไม่ออก เขียนยังไม่คล่อง จะมีปัญหาในการทำโครงงานกับกลุ่มเพื่อนที่มีความพร้อมมากกว่าหรือไม่

"เด็กคนนี้อาจจะไม่รู้ลึก แต่เขาจะเข้าใจกระบวน การเรียนรู้ learning process โดยการผ่านโครงงานตอนแรกเราก็คุยกับทางผู้ปกครองนะคะ ว่าเด็กยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาต้องการให้ลูกได้เรื่องอะไรก่อน ถ้าต้องการให้รู้ถึงเรื่องกระบวนการคิด เรื่องอ่านออกเขียน ได้ก็ต้องใจเย็นหน่อย" ดร.นิตยาอธิบายเพิ่มเติม

เด็กกลุ่มนี้จะเป็นภาระสำคัญของครูที่ต้องเพิ่มชั่วโมงการเรียนภาษาไทยมากกว่าคนอื่น และต้องหาวิธีการกระตุ้นให้รู้จักรักการอ่านเขียน เพื่อให้ทันพวกพี่ๆ

เสน่ห์ ศรีสุวรรณ บิดาของลูกสาวฝาแฝด ไมกี้กับ มินนี่ นักเรียนชั้นบ้านล่าง เคยเล่าประสบการณ์เรื่องนี้ กับสุทธิชัย หยุ่น ว่า ในปีแรกที่ลูกสาวทั้งคู่ไม่สามารถอ่านเขียนได้คล่อง ทำให้เขากังวลอย่างมากว่าลูกจะอ่าน เขียนช้ากว่าคนอื่นหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าเป็นการกังวลเกินกว่าเหตุ เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องอ่านเขียนไปพร้อมๆ กับเพื่อน ซึ่งถือว่าเป็นครูที่จะให้เขาเลียนแบบเหมือนกัน

การพัฒนาเห็นได้ชัดเจนขึ้นในนักเรียนเด็กบ้านบนที่มีเพียง 7 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ขอบข่ายของการเรียนเน้นไปในเรื่องเทคโนโลยี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สงครามโลก โดยเรียนปีละ 2 โปรเจ็กต์เท่านั้น ในปีนี้พวกเขาได้เลือกหัวข้อโครงงานเทอมแรก คือประวัติศาสตร์ชาติไทย และเรื่องร่างกายมนุษย์

"ผู้จัดการ" มีโอกาสขึ้นไปดูเด็กบ้านบน Show & Share และพบว่าเด็กสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้คล่องบางคนใช้โปรแกรม power point และทุกคนสามารถพูดและสรุปความคิดและเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ

ในช่วงบ่าย เด็กบ้านบนมีเรียนอังกฤษกับเลขเท่านั้น ส่วนวิชาภาษาไทยที่ต้องอธิบายให้เป็นถูกบูรณาการอยู่ในการทำโปรเจ็กต์

ส่วนเด็กมัธยมทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทางโรงเรียนได้ตั้งเป้าหมายหลักไว้ว่า เด็กต้องเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกคน

การวัดผลในแต่ละปีที่นี่ไม่มีการสอบวัดผลเหมือน ระบบปกติ ครูจะต้องประเมินผลว่าระยะเวลา 2 เดือนเรียนโปรเจ็กต์นี้ไปได้ความรู้อะไรไปบ้าง แล้วจะมีการให้คะแนนว่าผ่านไม่ผ่านหรือต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง การให้คะแนนค่อนข้างละเอียด หลังจากนั้นก็นำเข้าไปเก็บเป็นดาต้าเบส แล้วโชว์ผลออกมา ผู้ปกครองสามารถ คลิกเข้าไปดูผลงานของลูก และดูผลคะแนนของลูกได้เช่นกัน ผลงานของเด็กทุกชิ้นจะถูกเก็บไว้เป็นข้อมูล ทั้งหมด และต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโรงเรียนแห่งนี้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" เพิ่มเติมว่า มูลนิธิไทยคมสนับสนุนทุนประเดิมตั้งแต่แรกเริ่มสร้างโรงเรียนเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วจำนวน 30 ล้านบาท ปัจจุบันกำหนดค่าเล่าเรียน 1.8 แสนบาทต่อปี ทางโรงเรียนต้องซัปพอร์ตเด็กต่อคนอีกประมาณ 1 แสนบาท และคาดว่าเมื่อมีนักเรียนเพิ่มขึ้นโรงเรียนก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องหวังผลกำไร เป็นการลงทุนสร้างครู สร้างเด็ก ที่ผลที่ได้ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้

ในวัย 78 ปี ดูหมือนว่าพารณยังคงเต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ และยังให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาแนวใหม่ ที่เขาสนใจทำมานานตั้งแต่เมื่อเขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารกิจการในเครือซิเมนต์ไทย

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าด้วยวิธีคิด และวัฒนธรรมองค์กรที่กำลังสร้างอยู่ที่ดรุณสิกขาลัยตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนหรือครูที่เข้ามาแล้ว ต้องออกไปเพราะไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง เป็นสัดส่วนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะเดียวกันในแต่ละเดือน ก็มีนักการศึกษานำเอาวิธีคิดนี้ไปปรับปรุงให้เข้ากับโรงเรียนของตนเองในหลายโรงเรียน โดยเฉพาะที่โรงเรียน บ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันมีครูจากมูลนิธิ ไทยคมอยู่ที่นั่น 32 คน ช่วง 4 ปีแรกได้ทดลองสอนในจำนวน 10 ห้องเรียน แต่ปีนี้สามารถเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่ได้หมดทั้ง 34 ห้อง

ชื่อดรุณสิกขาลัยจึงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.