|
อุดม ตันติประสงค์ชัย Who is Nuts!
โดย
สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คนหนึ่งเป็นเถ้าแก่หรือ entrepreneur อย่างอุดม ตันติประสงค์ชัย เจ้าของ One-Two-Go กับอีกสองคนเป็นลูกจ้างองค์กรระดับสากลโลก Chief Executive Officer (CEO) มืออาชีพอย่าง ทัศพล แบเลเวลด์ CEO ของ Thai Air Asia และพาที สารสิน CEO แห่ง Nok Air ล้วนมียุทธวิธีแบบ Nuts! ที่แตกต่างจากการทำตลาดแบบเดิมๆ ในการรุกพื้นที่ทางการตลาดใหม่ๆ และบุกเบิกงาน operations business ที่เข้าถึงมวลชน ซึ่งทั้งสามตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้แต่ละบริษัทจะกวาดผู้โดยสารให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน
วัฒนธรรมองค์กรและบรรยากาศการทำงานทั้ง One-Two-Go, Thai Air Asia และ Nok Air ต่างขึ้นอยู่กับภูมิหลังครอบครัว การศึกษา ประสบการณ์ รวมถึงจิตวิญญาณและบุคลิกของผู้นำอย่างอุดม, ทัศพล และพาทีอยู่มาก ที่มีผลสะท้อนถึงการบริหารในโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกัน
เมื่อเข้าไปในออฟฟิศของ One-Two-Go ซึ่งตั้งอยู่ ถนนนเรศ ย่านธุรกิจเก่าของกรุงเทพฯ ใกล้สีลมและบางรัก ที่ชั้น 17 อาคารจิวเวอรี่เซนเตอร์ มีนักธุรกิจหลายคนรอคิวเข้าพบอุดม ซึ่งเป็นคนเดียวที่สามารถตัดสินใจได้ เขาทำงานหนักตามประสาคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเกิดเมื่อปี 2498 ที่คลองเตย ในธุรกิจครอบครัวที่มีกิจการโรงฟอกหนังเล็กๆ ที่ปากน้ำ โดยมีพ่อเป็นผู้นำครอบครัวที่เด็ดขาดเคร่งครัด ซึ่งคาดหวังในตัวลูกชายสูงมาก
"ในบรรดาลูกทั้งหมดคือลูกชาย 5 ผู้หญิง 2 ผมถือว่าเป็นลูกชายคนโตคนแรกที่พ่อโปรดเป็นพิเศษ ทำให้รักมากก็เกลียดมาก" ปมพิเศษตรงนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้อุดมต้องการพิสูจน์ตัวเอง
ดังนั้นเส้นทางที่อุดมเลือกเป็นขบถต่อครอบครัว จึงพาเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ แบบผจญภัยในต่างแดน เมื่อเรียน ป.6 เขาสอบตกภาษาจีนซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อคาดหวังไว้มาก พ่อจึงส่งเขาไปเรียนที่ไต้หวันตั้งแต่อายุ 13 ในโรงเรียนที่มีวินัยทหารคุม ตั้งอยู่บนภูเขาที่มีทิวทัศน์ มีน้ำตกและสนามบาสใหญ่
ชื่อจีนของอุดมขณะนั้นคือ "เฉิน สวย จิ่น" นักเรียนต้องตื่น 05.50 น. ถ้าตื่นสายโดนวิดพื้น เวลาเดินต้องแบบมาร์ชทหาร เวลากินข้าวต้องนั่งตัวตรง ตะเกียบต้องคีบตรง วินัยของโรงเรียนได้ดัดเด็กดื้อเกเรอย่างอุดมให้กลายเป็นเด็กตั้งใจเรียนดี สอบได้ที่หนึ่งและเป็นหัวหน้าชั้นที่ตัวเล็ก
"ผมเคยเป็นหัวโจกสไตรก์โรงเรียนเรื่องตัดผม ถึงขนาดผมเคยเกเรปิดห้องไม่ให้ครูสอนก็มี" อุดมเล่า
ในช่วงปิดเทอม ขณะที่เด็กไต้หวันกลับบ้าน แต่วัยรุ่นไทย 10 คนต้องอยู่โยงในโรงเรียน พวกเขาพากันวิ่งลงภูเขาอย่างอิสระ หวีผมใส่ครีมแต่งผม "ตันโจติก" แล้วซื้อความสุขเล็กๆ ด้วยการตั้งแคมป์ และดูหนังบางครั้งถึงวันละ 6 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่อง The longest day ที่สร้างนิสัยรักการดูหนังให้อุดมจนถึงทุกวันนี้ และเริ่มเรียนภาษาอังกฤษจากหนังนี่เอง
นอกจากนี้ยังชอบชีวิตกลางแจ้ง ด้วยการเที่ยวแบบแคมปิ้งที่อิสรเสรี นึกอยากตั้งเต็นท์นอนแบบค่ำไหนนอนนั่นก็ทำ จนครั้งหนึ่งพาครอบครัวไปแคมปิ้งแล้วประสบอุบัติเหตุไฟจากตะเกียงพายุลวกหน้าไหม้ แต่ยังเที่ยวต่อก็มี
ชีวิตวัยเด็กที่ tough ในสังคมปิด อุดมอยู่ได้สองปีก็ขอกลับบ้านและยืนยันจะขอเรียนต่อภาษาอังกฤษที่อื่น โดยอ้างว่าที่ไต้หวันอ่อนภาษาอังกฤษมาก ในที่สุดพ่อก็ส่งไปอยู่มาเลเซียแต่ไม่นานเขาก็อึดอัดในบ้านเมืองที่ล้าหลัง เขาจึงหนีกลับทางรถไฟ โดยขอเงินญาติที่นั่น พ่อโกรธเขามาก ไม่ยอมพูดกับเขาและส่งเขากลับไปไต้หวัน ซึ่งเขาก็หลอกพ่อว่าจะไปแต่ในใจคิดจะหนีไปฮ่องกง เพราะเพื่อนนักเรียนไต้หวันบอกว่า ไปที่นั่นโดยไม่ต้องขอวีซ่า
"ผมจำวันที่พ่อไปส่งผมที่ดอนเมือง พ่อตบหลังแล้วบอกว่า เที่ยวนี้ตั้งใจเรียนนะลูก แล้วเดินจากไป ผมมองเห็นแผ่นหลังพ่อ แล้วนึกถึงกวีบทหนึ่งของนักปราชญ์จีนที่เก่งมากชื่อ สุยจิ้งโหมว เขาเขียนถึงการพรากจากกับพ่อแล้วเห็นเพียงแผ่นหลัง (เป่ยอิง) ผมจำได้ถึงเดี๋ยวนี้ ผมรู้สึกผิดและเสียใจถึงทุกวันนี้"
วันที่อุดมถึงเกาะฮ่องกง เป็นวันที่พายุไต้ฝุ่นกระหน่ำรุนแรง เขาโทรไปหาพ่อซึ่งทั้งโกรธทั้งผิดหวังรุนแรงจนไม่ยอมพูดกับลูกชายคนนี้ถึง 2 ปี ในสภาพชีวิตแร้นแค้น อุดมซุกหัวนอนคืนเดียวในห้องคับแคบของญาติห่างๆ ของพ่อ ซึ่งแสดงความไม่พอใจที่เขาจะมาเบียดบังที่อยู่เพิ่มอีก ขอข้าวกินยังง่ายกว่า เขาเร่ร่อนเดินบนถนนคนเดียวจนเช้า โชคดีที่เจอคนไทย และอาศัยหออยู่ด้วยกัน โดยอาศัยขนมปังวันละก้อนประทังชีวิต ขณะเรียนที่โรงเรียนช่างกลเครื่องบิน ที่อยู่ติดสนามบินไคตั๊ก ฮ่องกง โดยแม่แอบส่งเงินเดือนละ 500 เหรียญฮ่องกง ให้เขาเอาไปลงทะเบียนเรียน 150 เหรียญ ค่าเช่าบ้าน 150 เหรียญ เหลือ 200 เหรียญ ซึ่งอยู่ได้แค่ 10 วัน อีก 20 วันอดมื้อกินมื้อ และอาศัยเดินไปเรียนไปกลับวันละ 6 กิโลเมตร พอเขาอดมากๆ ก็เก็บขวดไปขาย และซุกหัวนอนในห้องแคบเท่าห้องน้ำ ร่วมกับเพื่อนอย่างพันเลิศ ใบหยก ซึ่งพ่อส่งมาเรียน
"ผมอยู่ฮ่องกง 2 ปี มันแร้นแค้น เงินก็ไม่มีข้าวก็อด ผมเป็นนักอดข้าวที่เก่งมาก เพราะไม่มีตังค์ แต่ไม่เป็นโรคกระเพาะ" นี่หรือชีวิต
เมื่ออายุ 17 อุดมกลับเมืองไทยอย่างผู้ใหญ่ที่แก่เกินวัย และบอกพ่อว่า "ผมเป็นผู้ใหญ่แล้วจะไม่ขอเงินพ่อและจะทำงานใช้หนี้ที่พ่อเลี้ยงผมมา 17 ปี ผมทำทุกอย่างที่โรงฟอกหนัง"
จากบทเรียนชีวิตที่ผ่านการเดินทาง อุดมส่งออกหนังฟอกไปฮ่องกง โดยออร์เดอร์แรก เขาได้มาจากชายชื่อวินเซนต์ ซึ่งอุดมเคยถามเขาว่า ทำไมถึงทำธุรกิจกับเด็กแบบเขา "เขาหัวเราะก๊ากและบอกว่า ขอบอกจริงๆว่า ในชีวิตผมไม่เคยเห็นเซลส์แมนอายุ 17"
พ่อกับอุดมขัดแย้งกันตลอดระหว่างคนหัวเก่ากับคนหัวใหม่ เขาทำงานหนัก ตื่น 6 โมงเช้า ขับรถส่งของ แบกของส่งเอง "ที่ถนนพาดสาย แถวเยาวราช ผมเคยแบกหนังฟอกมัดหนึ่งหนัก 50 กิโลกรัม จำนวน 10 มัด เข้าๆ ออกๆ ผมทำได้สองปีก็ทะเลาะกับพ่อตลอด จนอยู่กับพ่อไม่ได้ ต้องหนีไปอาศัยบ้านแดง (พันเลิศ ใบหยก) ที่สีลมอยู่เป็นเดือน แล้วจึงตัดสินใจไปญี่ปุ่น เพราะหาเงินง่าย แค่ล้างจานก็ได้เงินเป็นแสนเยน หรือ 3-4 หมื่นบาทแล้ว คิดว่าจะหาเงินที่นี่ก่อนไปอเมริกา"
ก่อนไปญี่ปุ่น แม่มอบทองคำให้อุดมติดตัวไว้เผื่อต้องใช้ยามฉุกเฉิน "ในชีวิตผมไม่เคยมีทอง มีแต่สร้อยสเตนเลส ตอนอายุ 19 ไม่มีนาฬิกา วันเกิดก็ไม่เคยมีในบัตรประชาชนผมมีแต่ปีเกิด 2498"
จากคนไม่มีอะไร อุดมไปญี่ปุ่นแบบไปตายเอาดาบหน้า พูดภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ได้ เหมือนอยู่ในโลกดาวอังคารเพราะฟังไม่รู้เรื่อง ใจเริ่มฝ่อและหมดแรง เดินอย่างไร้จุดหมายถึง 4 ชั่วโมง แบบงงๆ แต่คิดออกว่าน่าจะหาร้านอาหารที่เขียนภาษาจีน พอคุยกันรู้เรื่องประเภทขอข้าวกินได้พอมีแรงก็ออกหางานทำ เป็นพนักงานบาร์เชียร์แขกเข้าร้านในกะกลางคืน แต่กลางวันเป็นพ่อบ้านคอยเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ล้างส้วมและเสิร์ฟน้ำ เขาทำงานสองกะวันละ 16 ชั่วโมง ทำอยู่ 3 เดือน รู้จักลูกค้าที่บาร์ซึ่งให้งานทำ เป็นพนักงานขับรถและเก็บเงินของบริษัททำอิฐแก้ว ทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เลิกงานแล้ว ทุ่มหนึ่งก็ไปทำงานคอฟฟี่ชอป กว่าจะปิดร้านก็ตีหนึ่ง วันหนึ่งได้นอน 4-6 ชั่วโมง จากบ๋อยก็ได้เป็นบาร์เทนเดอร์และกุ๊ก อุดมเปิดหนังสือพิมพ์หางานทุกวัน จนได้งานที่ฟูจิกรังด์ปรีซ์ แต่ทางบ้านเรียกตัวให้กลับเมืองไทย
เมื่อกลับมา เขาอายุ 19-20 กำลังห้าว และขยันขันแข็ง ทำงานหนักและมีหัวการค้าขายเก่ง เศษหนังที่ไม่มีค่า ไขมันไขวัวขายไปทำสบู่ และส่งออกน้ำมันปาล์มทำสบู่ให้กับไต้หวัน และทำถุงมือส่งออกด้วย
"พอถึงอายุ 20 ผมทำกับพ่อไม่ได้อีกแล้ว ผมโดนพ่อหวด เพราะเราไม่ยอมทำตามวิธีของเขา ผมจำได้วันนั้นผมตัดสินใจเดินออกมาด้วยตัวเปล่า เนื้อตัวสกปรกจากการทำงานโรงฟอกหนัง ผมใส่รองเท้าแตะ และเสื้อเก่าๆ ผมเดินออกจากบ้านแบบนั้น โดยยึดรถมาคันหนึ่งเป็นโคโรล่า ซึ่งผมถือว่าผมมีส่วน ผมขับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ของตัวเอง" อุดมเล่าให้ฟัง
ความเข้มข้นของชีวิตอุดมเพิ่งเริ่มต้น เมื่อเขาตั้งบริษัทเทรดดิ้งส่งออกของตัวเองชื่อ Fuldaa ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในเยอรมนี เริ่มแรกส่งออกหนังฟอกไปต่างประเทศ ขณะนั้นวัตถุดิบหนังเริ่มขาดแคลนในไทย อุดมจึงเสาะแสวงหาไปซื้อจากพม่า ซึ่งซื้อเป็น big lot นอกจากนั้นยังเป็นนายหน้าเอเย่นต์ของบริษัทต่างๆ เช่น จีอีซี จอหน์บาวเอ็นจิเนียริ่ง ในโครงการเหมืองแร่ โรงปูนซีเมนต์ ซึ่งได้เงินมหาศาลจากค่า success fee ในการบริหารจัดการราคาต้นทุนกำไรเอง ต่อมาธุรกิจของเขาต้องเลิกไปในปี 2524 เพราะการเมืองในพม่าเปลี่ยนแปลง
"เชื่อไหมว่า สมัยผมอยู่พม่า มีผู้ช่วยคนหนึ่งเป็นชาวพม่าชื่อ อู เทียน ทุน เคยช่วยหิ้วกระเป๋าผม วันนี้เขาเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของพม่าแล้ว เป็นเจ้าของแบงก์ และตัวแทนจำหน่ายเป๊ปซี่โคลา เพราะส่วนหนึ่งมาจากคอนเนกชั่นที่ผมสร้างมา"
จากนั้นอุดมก็ขยายไปที่เวียดนาม ระหว่างปี 2527-2528 ถือว่าเขาเป็นพ่อค้าไทยกลุ่มแรกที่เข้าอินโดจีน เขาซื้อทุกอย่าง เช่น หนัง ขนเป็ดจำนวนมาก และตั้งโรงงานผลิตถุงมือ
เมื่อกัมพูชาเปิดประเทศในปี 2531 อุดมเข้าไปเป็นพ่อค้ารายแรก จากธุรกิจค้าหนัง สิ่งทอ ซึ่งขณะนั้นอุดมมีโรงงานทอผ้าที่เมืองไทยถึง 10 แห่ง เช่น มิตรภาพการทอ และมีโรงงานทำถุงมือยาง และเปิดธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ ชื่อ Orient Express มีเรือหนึ่งลำวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ เพื่อลดค่าใช้จ่ายสูงที่ต้องให้กับนายหน้าสิงคโปร์ที่กินหัวคิวอยู่
"ผมเข้าไปลงทุนในเขมร ผมใช้วิธีเหมือนในพม่าคือหาผู้ช่วยที่มีหน่วยก้านดี เป็นคนจีนที่พูดภาษาเขมรได้ดีมาก เป็นคนที่ซื่อสัตย์มาก เขาใส่รองเท้าแตะ ทำงานกับผม 4 วัน ใส่เสื้อผ้าชุดเดียว น่าสงสารมาก ผมให้เขาเขียนเล่าบอกผมว่า รัฐบาลนี้มีใครเป็นใคร ชื่ออะไร นี่คือวิธีทำการบ้านของผม ผมให้ผู้ช่วยผมไปเจาะข้อมูลกระทรวงวางแผน ขอนัดพบรัฐมนตรี คนอื่นอาจจะใช้วิธีวิ่งเต้นเพราะเร็วดี แต่ผมไม่วิ่งเต้น ผมไปตามช่องตามทางว่าผมต้องการลงทุน ผมไม่เคยคิดขายเลย ผมมีแต่ซื้ออย่างเดียว ทฤษฎีผมมีอยู่ว่า ประเทศจน เราจะไปขายอะไรเขา? ซื้อสิครับ... เมื่อเรามีเงิน เราซื้อ เรามีกำไรแน่"
จากพ่อค้า เขาเริ่มใกล้ชิดกับรัฐมนตรีพาณิชย์ และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ที่ได้ช่องทางรับรู้ข่าวสารโลกภายนอกกัมพูชาส่วนหนึ่งจากอุดม จนกระทั่งไทยมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้ายุคพลเอกชาติชาย ขุณหะวัณ อุดมก็มีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวของทีมรัฐมนตรีกัมพูชา และช่วยจัดตั้งสำนักงานในเมืองไทยที่อ่อนนุช เพื่อการเจรจากับทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก
"สมัยก่อนเขามาแบบธรรมดาๆ ไปไหนก็ไม่ได้ อยู่แต่โรงแรม Princess ทีมบ้านพิษณุโลกเรียกพบก็มาพบ หลังจากนั้นห้ามไปไหน ผมก็อยู่เป็นเพื่อน เขาก็คุยกับผมตลอด ผมจะวิเคราะห์ เขาก็จะเล่า เราก็ช่วยคิด เริ่มจาก JIM 1, JIM 2, พัทยา 1, พัทยา 2 ก็เป็นอย่างนี้มาประมาณครึ่งปีกว่า ทางบ้านพิษณุโลกก็ขอดูตัวผม ผมก็ได้พบพลเอกชาติชาย ก็เรียนท่านว่า อย่าเสียโอกาส ควรสั่งให้การบินไทยบิน ท่านนายกฯ ก็บอกว่า ทำไมไม่เปิดเองล่ะ ถ้าไม่เปิดก็หุบปากสิ แกก็ท้า เราก็มีนิสัยไม่ชอบให้ใครท้า ผมก็ไปคิดอยู่ 2 เดือน เพื่อศึกษา ในที่สุดผมก็ YES!" อุดมเล่าให้ฟัง
ในเดือนตุลาคม 2533 อุดมเริ่มสายการบิน Cambodia International Airline (CIA) ในนามของบริษัท Fuldaa ที่ได้รับสัมปทานตามขั้นตอนผ่านมติคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ข่าวนี้กระจายไปทั่วโลกโดยสำนักข่าวต่างประเทศ เช่นเกียวโด บริษัทต้องลงทุนไปในโปรเจ็กต์นี้เบื้องต้น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เริ่มเปิดบินเที่ยวแรกในวันพฤษภาทมิฬ 2535 บินระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ ส่วนเสียมราฐเพิ่งเปิดสนามบินเมื่อปี 2540
แต่แล้วกระแสการเมืองก็เปลี่ยนทิศทางลมเจ้าจักรพงศ์ น้องเจ้ารณฤทธิ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยพึ่งพาอาศัยอุดมได้รับการแต่งตั้งจากนายกฯ ฮุนเซนให้ดูแลด้านคมนาคม ได้กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจการบิน CIA ต้องขัดข้อง
"เราเปิดบินในช่วงหนึ่งปีถูกแกล้งหมดทุกอย่าง โดยไม่ยอม honour สัญญาของผม ทำให้สัญญาผมแท้ง พอเลือกตั้งใหม่พวกนี้โดนปลดไล่ออกวันแรก ฮุนเซนเรียกพบที่บ้าน ตบไหล่ผมและบอกว่า ผมต้องขอโทษ หนึ่งปีที่ผ่านมาผมทะเลาะกับเมียทุกวัน ที่ทำให้คุณลำบาก แต่ดีใจที่อุดมสามารถผ่านอุปสรรคมาได้ โอกาสมาแล้ววันนี้ เพราะรณฤทธิ์รับปากผมแล้วว่า จะให้คุณทำตามสัญญา เราก็คิดว่าเจ้ารณฤทธิ์คงไม่เล่นเรา และนายกฯ ฮุนเซนก็เชียร์เรา นายกฯ จะไปจีน ลาว เวียดนามใช้เครื่องบินเราหมด เพราะเราเป็นสายการบินแห่งชาติ แต่พอปี 1994 เจ้ารณฤทธิ์ก็เริ่มเปรยว่า จะตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่ โดยเอาสิงคโปร์มาร่วม ผมก็งง ตอนนั้นผมสละโรงงานทั้งหมด ขายทิ้งหมด เบนเข็มมาทางนี้ ผมก็ไม่ไหวแล้วเพราะนายกฯ ฮุนเซนมีข้ออ้างว่า เขาแบ่งหน้าที่ให้เจ้ารณฤทธิ์ดูแลด้านเศรษฐกิจ ผมก็เลยคอตก" อุดมเล่าให้ฟัง
อุดมต้องปิดสายการบิน CIA ในวันคริสต์มาสเมื่อปี 2537 เพราะเกิดสายการบินใหม่ Royal Air Combod ซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว โดยครั้งแรกมีการประกาศสัญญาร่วมกับสิงคโปร์แอร์ไลน์ แต่อุดมต่อสู้โดยแจกเอกสารที่เรียกว่า "สัญญาปล้นชาติ" ไปทั่วโลก ทำให้ดีลนี้ไม่สำเร็จ แต่ในที่สุดได้มีการเซ็นสัญญาเงียบๆกับกลุ่มเจ้าของเดิมของมาเลเซียนแอร์ไลน์ ซึ่งจ่ายไป 5 ล้านเหรียญ และเปิดบินในต้นปี 2538
"สังเกตไหมว่า ชีวิตผมต้องต่อสู้กับมาเลเซียตลอด แต่สุดท้ายก็เจ๊งเพราะบริษัททาจุดินไปเทกโอเวอร์สองรายคือ เขมรและมัลดีฟ ซึ่งต่อมามีหนี้ 60 ล้านเหรียญ ที่มัลดีฟและที่เขมร 30 ล้านเหรียญ เรื่องก็ฟ้องร้องกันไป" อุดมเล่าให้ฟัง
อุดมออกจากกัมพูชาเหมือนนกปีกหัก เขามีเครื่องบิน 3 ลำที่ต้องกลับมาตั้งหลักในมาตุภูมิ แต่ไม่มีใบอนุญาต!
"ผมไม่มีที่ไป ผมต้องเอาเครื่องมาจอดที่อุบลฯ และขอใบอนุญาตจาก รมว.คมนาคม ซึ่งขณะนั้นเป็น ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ท่านก็เห็นใจแต่บอกให้รออีกปีหนึ่ง เพราะจะมีการเปิดเสรีการบินในปี 2538 แต่ผมบอกว่ารอไม่ไหว อย่างไรก็เปิดให้ผมก่อนได้ไหม บินตรงไหนก็ได้ ที่ไม่ทับเส้นการบินไทย แต่ระหว่างที่แกเซ็นให้ ดร.วิชิต ก็โดนปลด แต่ปรากฏว่าผมกลายเป็นสายการบินแห่งแรกในประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกคือ เงื่อนไขที่ให้กับผมเพิ่มเติมจากอายุใบอนุญาต 5 ปี คือ ระหว่างนี้อาจจะยุติได้ หากรัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งสายการบินที่สองในภายหลัง ตลกไหม? เจตนาคือเขาต้องการให้ผมถอย? แต่ผมต่อสู้เรื่องนี้ตลอดและเพิ่งปลดล็อกได้ในปี 2543 นี่เอง"
แต่ระหว่างที่รอใบอนุญาตในปี 2537 นั้น อุดมก็ได้รับการติดต่อจาก William Gatchalian ซึ่งเป็นเจ้าพ่อโรงงานพลาสติกของฟิลิปปินส์ ให้ร่วมหุ้น 60-40% ทำสายการบินใหม่ หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเสรีการบินในปี 2537 นั้นเอง
"เงื่อนไขคือผมเอาเครื่องบินสองลำไปโน่น แล้วเขาลงในส่วนที่เหลือ ผมทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ความยากของธุรกิจการบินอยู่ที่การเขียนคู่มือต่างๆ นี่ยากที่สุด เป็นงานร้อยๆ เล่ม เป็นเรื่องการฝึก การจัดหาคน ระหว่างทำ William เปลี่ยนใจเรื่องตัวเลขถือหุ้นของผมทุกวัน บางที 25-28-32% แต่ผมมุ่งมั่นต้องทำให้เสร็จใน 60 วัน และก็พร้อมจะบิน แต่พอถึงเวลามันเบี้ยว ผมบินกลับ มันขอร้องว่าจะให้ผม 38% ผมบอกว่า Go to hell" ภายในหนึ่งปี เขาก็เปิดแอร์ฟิลิปปินส์และขายให้ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ ได้กำไรหลายร้อยล้าน
จากประสบการณ์ที่เขาเล่า นับว่าอุดมร่วมก่อตั้งสายการบินไปถึง 3 สายแล้วคือ CIA, แอร์ฟิลิปปินส์ และ Orient Thai Airlines ซึ่งปัจจุบันดำเนินธุรกิจอยู่ จากจุดเริ่มต้นที่เริ่มบินจากอุบล-เชียงใหม่, ขอนแก่น ตั้งแต่ในปี 2540 แต่ไม่สามารถเข้ากรุงเทพฯ ได้ ซึ่งอุดมก็ต่อสู้เสนอเรื่องร้องเรียนรัฐสภาเรื่องใบอนุญาตว่าเป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม
"ผมบินแค่ละวันเที่ยว ไม่ขาดทุนแต่เริ่มดีขึ้นเราเริ่มมีใจจะเข้ากรุงเทพฯ ให้ได้ แม้กติกาจะเขียนว่า ห้ามบินตรง เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ผมก็ทำเป็นเส้นทาง เชียงใหม่-อู่ตะเภา-กรุงเทพฯ ผมเรียนตรงๆ การบินไม่ได้เกลียดคนแบบผมหรอก แต่เขาไม่ต้องการให้เอกชนเกิดขณะนั้น เพราะจะเกิดการเปรียบเทียบ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถ้าผมทำสำเร็จ ผมประกาศเลยว่าจะซื้อโบอิ้ง 747 อีก 1 ลำ ราคา 140 ล้านเหรียญ ขณะที่การบินไทยซื้อด้วยงบ 188 ล้านเหรียญ ซึ่งจะตอบสังคมอย่างไรขณะนั้น?" อุดมเล่าให้ฟัง
แต่การเมืองยังไม่เคยเปลี่ยน เมื่ออุดมเปิดสายการบินราคาประหยัด One-Two-Go บินเที่ยวแรกในธันวาคม 2546 เขาได้พบกับเหตุการณ์บลัฟจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการบินไทย ที่พยายามบอกว่า เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะหยุดธุรกิจนี้ของอุดมให้ได้
"ผมรับคำท้า แต่เตือนนิดหนึ่งว่า เงินสายป่านที่การบินไทยจะดัมป์ราคานั้นเป็นเงินภาษีของผมด้วย เตี่ยผมสอนไว้ว่า ค้าขายเขาไม่ใช้สายป่าน เขาใช้สมองและปัญญา" อุดมเล่าให้ฟัง
ไม่มีวันไหนที่อุดมจะได้พักสมองและกาย เมื่อการต่อสู้กับระบบการเมือง นอกเหนือจากการสู้กับตัวเองให้สามารถแข่งขันได้และสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองให้ได้ นี่เป็นกระบวนทัศน์ทางธุรกิจที่เริ่มขัดแย้งกัน ที่ต้องหาจุดสมดุลให้ได้เร็วที่สุด ก่อนวิกฤติใหม่จะมาท้าทายอีกครั้งให้พิสูจน์ว่าจะเป็น "ผู้ชนะ" หรือ "looser"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|