KBank Group's Showcase

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บทบาทของ บลจ.กสิกรไทยในวันนี้ ไม่เพียงแค่การบริหารสินทรัพย์ของผู้ถือหน่วยลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ยังจะเป็นองค์กรตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการ integrate ธุรกิจของ KBANK ว่ามีมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

โดยปกติ ดัยนา บุนนาค ต้องเดินทางไปร่วมประชุมกับผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทั้งที่สำนักงานใหญ่ ราษฎร์บูรณะ และสำนักพหลโยธิน เป็นประจำอยู่แล้วในฐานะกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย (K-Asset) ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำที่เธอทำต่อเนื่องมา 13 ปีเต็ม เนื่องจาก K-Asset ถือเป็น 1 ในบริษัทในเครือของธนาคารกสิกรไทย

แต่หากเปรียบเทียบความรู้สึกในช่วงก่อนหน้ากับภายหลังการประกาศผนวกธุรกรรมของกิจการในเครือทุกแห่งเข้ามาเป็น K-Group เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว กลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

"ก่อนหน้านั้น เนื่องจากเราถือว่าธนาคารเป็นช่องทางการจำหน่ายหน่วยลงทุนขนาดใหญ่ของเรา เวลาไปก็คุยกันเรื่องการที่จะให้เขามาช่วยสนับสนุนการขาย หรือไปฝึกอบรมให้กับพนักงานของสาขา เปรียบไปก็เหมือนกับการที่เราต้องไปพบลูกค้า แต่หลังจากการประกาศตัวเป็น K-Group เป็นต้นมา ความรู้สึกเวลาไปถึงก็คือเราเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกสิกรไทย" เธอบอก

ความรู้สึกนี้ยิ่งถูกตอกย้ำมากขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้ ดัยนาต้องไปประชุมร่วมกับกรรมการผู้จัดการบริษัทในกลุ่ม K-Group อีก 4 แห่งทุก 2 สัปดาห์ เพื่อความใกล้ชิดของการทำงานร่วมกัน ตลอด จนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่จะทำให้แบรนด์ K-Group มีความแข็งแกร่งขึ้น

"จริงๆ เราก็คิดว่าเราเป็นกสิกรไทยมาตลอด แล้วเราภูมิใจมากว่าเป็นบริษัทในเครือแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อกสิกรไทยตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว"

ถึงแม้จะเป็นบริษัทในเครือ แต่การดำเนินงานของ K-Asset จะมีความเป็นอิสระจาก KBANK มากกว่ากิจการอื่น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะหน้าที่ของ K-Asset ที่ต้องบริหารเงินของประชาชน จึงต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย

K-Asset เป็นกิจการใน KBank Group ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานานเป็นรองเพียง K-Factoring และเพิ่งมีอายุครบ 13 ปี ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีจุดกำเนิดในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ที่ต้องการเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบันในประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่มีบลจ.เอ็มเอฟซี (ชื่อเดิมคือ บล.กองทุนรวม) เป็นบริษัทจัดการลงทุนเพียงแห่งเดียว จึงได้เปิดให้สถาบันการเงินที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตและจากที่ยื่นขอทั้งหมด 14 กลุ่มได้รับการอนุมัติจำนวน 7 กลุ่ม โดยมี K-Asset เป็นหนึ่งในนั้น

ผู้ถือหุ้นของ K-Asset ในระยะเริ่มต้นประกอบด้วย KBANK และบงล.ภัทรธนกิจ (ชื่อในขณะนั้น) ในสัดส่วนรายละ 25% ส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นของกิจการในเครือธนาคาร เช่น บงล.ศรีมิตร เมืองไทยประกันชีวิต บงล.บางกอกอินเวสท์เม้นท์ รวมทั้ง Mercury Asset Management ที่เป็นพันธมิตรต่างชาติ

ดัยนาถูกดึงตัวมาจากผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บงล.ภัทรธนกิจ เพื่อให้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่ K-Asset

วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น K-Asset หลายราย บางรายก็ถูก ปิดกิจการไป เช่น บงล.ศรีมิตร บางรายก็ถูกเปลี่ยนมือไปจากเครือกสิกรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บงล.ภัทรธนกิจ ที่ถูกแยกออกเป็นบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งในส่วนของบริษัทเงินทุนได้ขอคืนใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนบริษัทหลักทรัพย์มีเมอร์ริล ลินช์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกลายเป็น บล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร

โครงสร้างการถือหุ้นใน K-Asset เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้เอง โดย KBANK เข้าซื้อหุ้น K-Asset คืนมาจากบริษัทในเครือบางราย ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ KBANK เพิ่มขึ้น

แต่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อ KBANK บล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร และ K-Asset ได้ข้อสรุปที่จะรวมธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล จากเดิมที่ทั้ง 3 แห่งต่างคนต่างทำ ให้มาอยู่ที่ K-Asset เพียงแห่งเดียว เพื่อที่ไม่ต้องแข่งขันกันเองและไม่สร้างความสับสนให้กับลูกค้า โดยเมื่อรวมกิจการกันแล้วก็มีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ทำให้ KBANK เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 71.42% เมอร์ริล ลินช์ อินเวสเม้นต์ แมเนเจอร์ 15.31% เมืองไทยประกันชีวิต 12.28% และ เมืองไทยโฮลดิ้ง 0.99%

ซึ่งปีนี้เองเป็นปีที่ KBANK เริ่มต้นกระบวนการการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังจากบัณฑูร ล่ำซำ ได้ประกาศ 8 โปรแกรมยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวออกมาในเดือนตุลาคม ปี 2543 (รายละเอียดอ่านนิตยสาร "ผู้จัดการ" เดือนพฤศจิกายน 2543 และสิงหาคม 2544 หรือ www.gotomanager. com)

แนวคิดเรื่อง Universal Banking จึงน่าจะอยู่ในความตั้งใจของบัณฑูรอยู่แล้ว เพียงแต่เขายังไม่ระบุออกมาอย่างเด่นชัด

นอกจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นแล้ว การรวมธุรกิจครั้งนั้นยังทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของ K-Asset โตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 7.7 หมื่นล้านบาท เป็น 1.4 แสนล้านบาท และมีพนักงานที่รับการโอนย้ายมาทำให้จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน

K-Asset น่าจะเป็นหน่วยงานใน KBank Group ที่จะเป็นตัวสะท้อนถึงความสำเร็จของการ integrate การทำงานร่วมกันในลักษณะของ Universal Banking ได้ดีและรวดเร็วที่สุด เพราะความเกี่ยวเนื่องของธุรกิจที่สามารถเชื่อมโยงได้กับแทบจะทุกกิจการในกรุ๊ป โดยในส่วนของ KBANK นั้นนอกจากจะเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนแล้ว K-Asset ยังมีโอกาสที่จะลงทุนในตราสารหนี้ที่ธนาคารเป็นผู้จัดจำหน่าย รวมถึงประโยชน์จากการใช้ฐานข้อมูลลูกค้าของธนาคาร ทั้งที่เป็นลูกค้าทั่วไปและลูกค้าที่มีฐานะดีในกลุ่ม Platinum ที่มีอยู่ถึง 14,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริการกองทุนรวมและกองทุน ส่วนบุคคลไปจนถึงลูกค้าองค์กรสำหรับบริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เดิม K-Asset เป็นผู้ทำตลาดเอง

ในส่วนของ K-Securities ก็สามารถ integrate กันได้ทั้งฐานลูกค้าและบริการทั้งในฝั่งของโบรกเกอร์และวาณิชธนกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งคำสั่งซื้อขาย การจองซื้อหลักทรัพย์ที่ K-Securities เป็นผู้จัดจำหน่าย รวมถึงบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว ขณะที่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคและรายอุตสาหกรรม จะได้จาก K-Research ที่มีชื่อเสียงและความชำนาญในด้านนี้ สำหรับ K-Factoring และ K-Leasing ก็จะมีฐานลูกค้าที่สามารถแนะนำให้มาใช้บริการของ K-Asset ได้

การ integrate การทำงานเช่นนี้ ทำให้ผลการดำเนินงานของ K-Asset ในปีนี้เป็นที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะเดิมที่การ integrate ยังไม่เข้มข้นเท่านี้ K-Asset ก็ประสบความสำเร็จในฐานะบริษัทจัดการกองทุนที่มีมูลค่าการระดมเงินสูงสุดในปี 2546 และ 2547 ซึ่งเฉพาะในปีที่ผ่านมามียอดการระดมเงินได้กว่า 2.9 หมื่นล้านบาท จากยอดรวมทั้งอุตสาหกรรมที่ระดมได้ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีกองทุนที่บริหาร ณ สิ้นปี 2547 จำนวน 377 กองทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานของ K-Asset ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากรายได้ 430 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 488 และ 767 ล้านบาทในปี 2546 และ 2547 เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจาก 91 ล้านบาท เป็น 100 และ 208 ล้านบาทตามลำดับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.