"ต้อง integrate อย่างแรง"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ(5 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- แนวคิดเรื่อง K brand ถือเป็นก้าวกระโดดไปสู่สากล

ใช่ เป็นสากล ตอนนี้มันก็ครบทุกชิ้นแล้ว ที่อยู่ในกรอบที่แผนแม่บททางการเงินอนุญาต แต่เมื่อมาประกอบกัน มันทำให้ยี่ห้อมันสมบูรณ์ ถ้าเราพูดถึงเนื้อมันยังเป็นแบงก์อยู่ เงินส่วนใหญ่ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ยังเป็นแบงก์ แต่ที่เหลือมันทำให้บริการครบเครื่อง แล้วเวลาเราเรียนเสนอตัวเองกับตลาด เราไม่เสนอว่าเราเป็น 6 บริษัท เราต้องเสนอว่าเราเป็นยี่ห้อเดียวกัน จริงๆ แล้วคือต้องการเสนอว่าเป็นยี่ห้อเดียวกัน คือยี่ห้อ K เป็น K brand แต่แน่นอนโดยนิตินัย มันมี 6 บริษัท แต่จริงๆ แล้วผู้รับการให้บริการนี่ เขาไม่สนใจว่า เขาได้รับบริการจากบริษัท นิติบุคคลใด แต่เขาได้รับบริการจาก K brand

อะไรก็ตามที่เป็นความต้องการทางการเงินของชีวิตทางการเงินของเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นคนธรรมดาหรือจะเป็นบริษัทก็ตาม เขาได้รับจาก K brand มากกว่า

เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เป็นโจทย์ ที่ภายในคือเราต้องจัด จัดอย่างไร คือเวลาเราเข้าหาลูกค้า เราเข้าเป็น K brand ไม่ใช่แบงก์กสิกรไทยทีนึง เดี๋ยว securities ไปทีนึง K-Asset ไปที อย่างนี้ลูกค้างง แล้วมันไม่ได้พลัง คุณมากันคนละที K หรือไม่ K ทำไมมาพูดซ้ำกัน ผมก็ให้ข้อมูลนี่ไปแล้ว ทำไมยังมาถามเรื่องนี้อีก

เพราะฉะนั้น ทุกสินค้าบริการที่มนุษย์ในกลุ่มตลาดนั้นควรจะได้รับเขาควรจะได้รับจากเราเป็นชุดไปเลย แล้วได้รับทุกช่องทางที่เขาสะดวกที่จะได้รับ ไม่ใช่เฉพาะจะต้องมาที่สาขา ผ่านโทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ ผ่าน call center ทุกช่อง

- เพราะฉะนั้นในแง่ operation ก็ต้องจัด

อันนี้คือโจทย์ใหญ่ ต้อง integrate อย่างแรง ลูกค้าไม่สนใจว่าคุณจะ integrate กันอีท่าไหน ขอให้ฉันได้บริการครบถ้วนอย่างที่อยากจะได้ ด้วยคุณภาพที่สม่ำเสมอ ทุกช่องทาง ทุกเวลา

- แล้วการ integrate ของ K-Group ตอนนี้ไปถึงไหน

จริงๆ แล้วเราก็เพิ่งจะประกาศตัว ในบางบริษัทเราก็เพิ่งจะตั้ง เราก็ต้องมีรูปแบบที่จะต้องมาเชื่อมต่อในเชิงของยุทธศาสตร์ ซึ่งผมก็เริ่มกระบวนการแล้ว ในการที่จะสื่อความไปถึงทุกบริษัท แล้วเราก็จะมีเหมือนกับเป็นคณะที่จะต้องมานั่งคุยกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเฉพาะธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น พวกคุณดัยนา อย่างพวกกรรมการผู้จัดการของ K-Security ก็ต้องมีเวลามานั่งคุยกัน ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะจัด package ให้ลูกค้าเห็นเป็นหีบห่อ ในกระบวนการที่ต่อเนื่อง

เป็นการเชื่อมกันโดยยุทธศาสตร์ ว่าเราแบ่งตลาด อย่างตอนนี้ลูกค้าแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ใน 7 กลุ่มนี่ แต่ละคนที่เป็น K นี่ มีบทบาทอย่างไร แล้วจะประสานกันอย่างไรให้ลูกค้าได้รับบริการครบถ้วนในกลุ่มลูกค้าต่างๆ เพราะฉะนั้นแผนการตลาด แผนการปฏิบัติการ แผนการบริการหลังการขาย พอยุทธศาสตร์เป็นอย่างนั้น มันก็นำไปสู่การจัดภายใน ในเรื่องของระบบ IT แล้วก็ตามมาด้วยระบบงานภายใน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้เงื่อนไขการดูแลพนักงานอันเดียวกันทุกบริษัทก็ตาม แต่นโยบายต้องมีความสอดคล้อง คือถ้าคนทำงานด้วยกันไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไร หรือเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ต่อกัน ก็ต้องมาจัดการ โจทย์ก็คือตรงนี้

แต่มันจะยุ่งตรงที่ว่ามันต่างวัฒนธรรมกันมา แม้กระทั่งในธนาคารกสิกรไทยนี่ มันก็มี sub-culture อยู่ตามจุดต่างๆ มันก็ยุ่งในตัวของมันเองอยู่แล้ว ในการที่จะประสานมาให้เป็นอย่างนี้ กลุ่มต่างๆ 8 สายงานมันก็ยุ่งในตัวมันเองอยู่แล้ว จะประสานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่บุญทักษ์ไปหาทีนึง เฮนดริกซ์ไปหาทีนึง อย่างนี้มันไม่ได้ มันต้องไปพร้อมๆ กันเป็นกสิกรไทย แล้วคราวนี้ยังต้องดึงเข้ามาอีก 5 บริษัท ที่จะเป็น financial service solutions นี่คือปรัชญาพูดโดยปรัชญาต้องเป็นอย่างนี้

ส่วนในทางปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องของผู้บริหาร ถ้าเอาหลักๆ ในแบงก์ก็คือคณะจัดการ ซึ่งประกอบไปด้วยผม กับ ดร.ประสาร แล้วก็อีก 5 สาย แล้วในระดับเดียวกันก็อย่าง ดร.ปิยสวัสดิ์ คุณดัยนา คุณรพี พวกนี้ก็ต้องเข้ามาเป็นคณะทำงาน

ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เพราะตอนนี้ตรามันเริ่มจะไปในทิศทางนี้ แต่ก่อนนี้ตรามันสะเปะสะปะ มันดูแล้วไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.