ตั้งแต่ปลายปี 2544 ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเคยเป็นมือไม้ ที่ไว้วางใจได้ของคุณหญิงชฎา
วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทยอยลาออกจากการเป็นพนักงาน
ของธนาคารอย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่เกรียง เกียรติเฟื่องฟู รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม งานธุรกิจต่างประเทศและตลาดเงินตลาดทุน
สถาพร ชินะจิตร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารความเสี่ยงและสนับสนุนองค์กร
และวิชิต ญาณอมร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและ ปฏิบัติการ
ทั้ง 3 คน มีอายุงานในธนาคารแห่งนี้มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 15 ปี เริ่มทำงานไต่เต้าตั้งแต่เป็นผู้บริหารระดับกลาง
จนสามารถ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับรองผู้จัดการใหญ่
ล่าสุดภาวะสมองไหลในธนาคารแห่งนี้ยังมีไม่สิ้นสุด เมื่อ อดุลย์ จันทนะจุลกะ
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลงานด้านกิจการ สาขา ได้ยื่นใบลาออกเพิ่มขึ้นอีกคนเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยให้เหตุผลส่วนตัวว่าต้องการเวลาพักผ่อน หลังจากที่ได้ทำงาน ในธนาคารอย่างหนักมาเป็นเวลานาน
มีการวิเคราะห์กันว่าภายหลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
แนวโน้ม ที่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งนี้จะทยอยลาออก ยังคงจะมีอีกเรื่อยๆ
โดยเฉพาะคนเก่าแก่ที่อยู่กับธนาคารมานาน
โครงสร้างใหม่ดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอของบริษัท แมคเคนซี่ ซึ่งวิชิต
สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ที่เพิ่ง เข้ามาร่วมงานในธนาคารแห่งนี้ได้ไม่ถึง
3 ปี เป็นผู้ว่าจ้างให้เข้า มาเป็นที่ปรึกษา
โครงสร้างนี้ได้ประกาศออกมาเมื่อปลายเดือนมกราคม โดยวางเป้าหมายในการปรับปรุงธนาคารไว้
8 ด้าน เช่น รูปแบบ สาขา กระบวนการให้บริการลูกค้า การให้สินเชื่อ รวมถึงปรับปรุง
ระบบเทคโนโลยี และการแก้ไขหนี้ที่มีปัญหา ฯลฯ
ลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างใหม่ ประกอบ กับการมีผู้บริหารใหม่ซึ่งเป็นคนนอก
ที่วิชิตเป็นผู้ดึงเข้ามาเพิ่มขึ้น อีก 2-3 คน ทำให้พนักงานเก่าหลายคนไม่สามารถรับได้
ว่ากันว่า แม้กระทั่งตัวคุณหญิงชฎาเอง ก็ยังอึดอัด
เมื่อต้นปี เคยมีข่าวลือออกมาเป็นระยะว่า คุณหญิงชฎา มีความขัดแย้งกับวิชิตอย่างหนัก
และอาจจะไม่ได้รับการต่ออายุ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ หลังทำงานมาจนครบวาระ
แต่การประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้มี ความพยายามที่จะลบล้างภาพความขัดแย้ง
และกระแสข่าวลือ ดังกล่าว ด้วยการต่ออายุการทำงานให้คุณหญิงชฎาออกไปอีก โดยเป็นไปตามข้อเสนอของวิชิต
แต่การทำงานของคุณหญิงชฎา หลังได้รับการต่ออายุ ก็ต้องพบกับอุปสรรคเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ
เนื่องจากมือรองๆ ที่เคย ไว้วางใจได้ ต่างทยอยกันลาออก
ภาระในการฟื้นฟูธนาคารไทยพาณิชย์ของคุณหญิงชฎา ในฐานะกรรมการผู้จัดการ
ที่ต้องกระทำร่วมกับวิชิต ประธาน กรรมการบริหาร ดูจะเป็นภาระที่หนักหน่วงยิ่งนัก