|
น้ำมันฉุดจีดีพีแล้ว1.02% สัปดาห์นี้ขึ้นราคาสองขยัก
ผู้จัดการรายวัน(27 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
รัฐบาลหืดจับผวาจีดีพีกระทบหนัก หลังน้ำมันขึ้นทุกสัปดาห์ ล่าสุดน้ำมันดิบดูไบเพิ่มจาก 40 ไปอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล ฉุดจีดีพีไปแล้ว 1.02% กระทรวงพลังงานเร่งแผนประหยัด หวังนำมาโปะลดผลกระทบจีดีพี พร้อมหวังการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกช่วย วันนี้เบนซิน-ดีเซลขึ้นอีก 40 สตางค์ต่อลิตร เหตุรัฐลดเงินอุ้มดีเซล เผยยังมีรอบ 2 ในสัปดาห์นี้ “พาณิชย์” กล่อมผู้ผลิตสินค้าตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด รฟม.ยันไม่ขึ้นราคารถไฟใต้ดิน หากยังไม่มีการเก็บค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องเร่งรณรงค์การประหยัดพลังงานแบบเข้มข้น เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินว่าหากน้ำมันดิบดูไบราคาปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 45 เหรียญต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรลจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงประมาณ 1.02% ซึ่งหากต้องการจะให้จีดีพีไม่ลดลงจะต้องมีการประหยัดพลังงานให้ได้ 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
“ยอมรับว่าขณะนี้น้ำมันดิบดูไบมีการแกว่งตัวในระดับเกินกว่า 50 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว โดยปิดตลาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 52 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลต่อการหดตัวของจีดีพีประมาณ 1.4% แต่ก็ยังหวังว่าตลอดปีนี้ระดับราคาน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล ดังนั้น การลดใช้พลังงานในประเทศ การจัดหาพลังงานทดแทน และดูแลเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออก ให้ได้ตามแผนของรัฐบาลก็จะชดเชยได้พอสมควร”แหล่งข่าวกล่าว
**รัฐลดชดเชยดันดีเซลขึ้น40สต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 มิ.ย.) เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นทั้งเบนซินและดีเซลอีกลิตรละ 40 สตางค์ ส่งผลให้น้ำมันเบนซิน 95 เป็นลิตรละ 24.54 บาท น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ลิตรละ 23.04 บาท น้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 23.74 บาท น้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตรละ 20.99 บาท/ลิตรยกเว้นปตท.ที่ดีเซลจะต่ำกว่ารายอื่นๆ ลิตรละ 40 สตางค์โดยอยู่ที่ 20.59 บาทต่อลิตร
สำหรับราคาดีเซลที่ปรับขึ้นเป็นผลจากการที่กระทรวงพลังงานได้แจ้งประกาศลดการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง 40 สตางค์ต่อลิตรมีผลตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราการชดเชยของดีเซลจาก 1.76 บาทต่อลิตร เหลือ1.36 บาทต่อลิตร มีผลให้ภาระรวมของการชดเชยราคาน้ำมันลดลงจากวันละ 90 ล้านบาท เหลือ 60-65 ล้านบาทต่อวัน และทางรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทยอยลดการชดเชยลงจนเท่ากับศูนย์ ภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าเดือนหน้า หากมีจังหวัดจะลดการชดเชยอีก 40-50 สตางค์ต่อลิตร
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลขึ้นอีก 40 สตางค์ในวันนี้นั้น เป็นเพราะราคาในน้ำมันในตลาดโลกมีราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เนื่องจากหากว่ารัฐบาลตรึงราคาไว้อีกก็จะใช้เงินอีกจำนวนมากในการตรึงราคา และยังจะทำให้ประเทศเสียหายไปด้วย
**ลุ้นดีเซลทะลุ21บาทสัปดาห์นี้
แหล่งข่าวจากวงการน้ำมันแจ้งว่า คาดว่าสัปดาห์นี้ผู้ค้าน้ำมันยังคงต้องพิจารณาปรับราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มอีกลิตรละ 40 สตางค์ทั้งเบนซินและดีเซล เพราะแม้จะมีการปรับราคาแล้ว ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลยังติดลบ 1.14 บาทต่อลิตร เบนซิน ยังติดลบ 25 สตางค์ต่อลิตร และล่าสุดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ปิดตลาดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ปรับเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ โดยดีเซลปรับขึ้น 1.02 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไปอยู่ที่ 69.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เบนซินเพิ่มขึ้น 99 เซนต์ ไปอยู่ที่ 61.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
**แก๊สโซฮอล์ยังปั่นป่วน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กชช.) กล่าวว่า วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ประชุมกชช. ซึ่งมีนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการสรุปปัญหาราคาเอทานอลที่ผู้ผลิตได้ร้องขอให้เป็นระดับราคา 15 บาทต่อลิตร หลังจากราคารับซื้อ ที่ 12.75 บาทต่อลิตร ครบกำหนด 30 มิ.ย.นี้
แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำมันกล่าวว่า หากกชช.กำหนดให้ราคาเอทานอลอยู่ที่ลิตรละ 15 บาทจริง ทางผู้ค้าน้ำมันก็คงจะต้องให้รัฐกำหนดการช่วยเหลือจากการเก็บเงินเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอีก 10 สตางค์ต่อลิตรเพื่อทำให้ส่วนต่างแก๊สโซฮอล์ (เอทานอลผสมเบนซิน10%) อยู่ที่ 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งล่าสุดสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)กำหนดการช่วยเหลือเอทานอลไว้แค่ 14 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งหากรัฐรับปากจะช่วยเหลือก็ไม่มีปัญหาแต่หากไม่ช่วยเหลือผู้ค้าก็คงรับไม่ได้เช่นกัน
**“พาณิชย์”กล่อมตรึงราคานานที่สุด
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ (27 มิ.ย.) ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในเชิญผู้ประกอบการ และผู้ผลิตสินค้า (ซัปพลายเออร์) มาหารือ โดยจะขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้พยายามตรึงราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากปล่อยให้มีการเก็งกำไร หรือขึ้นราคาสินค้าเกินความจำเป็น ก็จะทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่สินค้าจะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น ก็จะเข้าไปดูแลในเรื่องต้นทุนเป็นหลัก โดยหากสินค้ารายการใดปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่าความจำเป็น ก็จะเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ขณะนี้ทางกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ และซูเปอร์มาร์เก็ต คอยตรวจสอบภาวะราคาสินค้าทั้งหมดที่วางจำหน่ายอยู่ว่ามีสินค้ารายการใดได้ปรับราคาจำหน่ายไปบ้างแล้ว เพราะพบว่ามีผู้ผลิตสินค้าบางราย ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ไม่ยอมแจ้งมายังกรมการค้าภายในให้รับทราบ
สำหรับสินค้าที่ขึ้นราคาทั้งๆ ที่ยังอยู่ในระยะเวลาขอความร่วมมือตรึงราคา อาทิ ผงชูรส เส้นหมี่อบแห้ง กาแฟปรุงสำเร็จ น้ำดื่มบรรจุภาชนะ น้ำยารีดผ้า ปุ๋ย ปูนซีเมนต์ ยางรถบรรทุก เป็นต้น และยังมีรายการสินค้าที่เตรียมจะขอปรับขึ้นราคาสินค้า ได้แก่ ครีมเทียม ผลิตภัณฑ์ถนอมผิว เครื่องปรุงรส อาทิ ซอสมะเขือเทศ และซอสพริก
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไล้ออน์ ประเทศไทย จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูลย์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ให้ห้างฯ ช่วยสอดส่องการปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะขณะนี้มีผู้ผลิตหลายรายไม่ยอมแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบว่ามีการปรับราคาสินค้าขึ้น
**รถไฟใต้ดินยันไม่ขึ้นค่าโดยสาร
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่ายอดผู้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มขึ้นมาก หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยมียอดผู้ใช้บริการเฉลี่ยสูงถึง 1.4 แสนคนต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับขึ้นราคาไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้าจริง ก็จะมีผลกระทบต่อการเดินรถ เพราะในรฟม. มีการใช้ไฟฟ้าทุกระบบ แต่ในเบื้องต้นขอยืนยันในหลักการว่าจะไม่มีการขึ้นราคาค่าโดยสาร แต่รัฐจะต้องให้พิจารณาในเรื่องการชดเชยให้ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|