Unilever Credit Plus ทางสะดวกสำหรับธุรกิจเงินหมุน


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

รูปแบบการให้บริการบัตรเครดิตของสถาบันการเงิน ได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาอีกระดับ โดยขยายฐานลูกค้าผู้ถือบัตรจาก ผู้บริโภคทั่วไป มาถึงผู้ประกอบการ

ล่าสุดยูนิลีเวอร์ได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ออก บัตรเครดิต Unilever Credit Plus ซึ่งเป็นบัตรเครดิตเฉพาะกลุ่ม เจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นร้านค้า ซึ่งสั่งซื้อสินค้าจากศูนย์จัด จำหน่ายสินค้า (concessionaire) ของยูนิลีเวอร์ เพื่อนำมาขาย ต่อโดยเฉพาะ

รูปแบบการให้บริการของบัตรเครดิตชนิดนี้ ไม่แตกต่าง จากบัตรเครดิตที่ธนาคารออกให้กับผู้ถือบัตรทั่วไป โดยร้านค้า ที่เป็นสมาชิกบัตร Unilever Credit Plus สามารถใช้บัตรชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อจาก concessionaire ได้ แทนที่จะใช้เช็ค หรือ เงินสดเหมือนแต่ก่อน

จุดขายที่นำมาใช้ดึงดูดร้านค้าให้สมัครเป็นสมาชิกบัตร คือระยะเวลาการชำระเงินที่เพิ่มขึ้นเป็น 35 วัน หลังทำรายการ ซื้อสินค้า จากเดิมที่ concessionaire ของยูนิลีเวอร์เคยให้เครดิต กับร้านค้าสูงสุดไม่เกิน 14 วัน นอกจากนี้เมื่อครบกำหนด ยังมี เงื่อนไขที่ร้านค้าสามารถชำระค่าสินค้าขั้นต่ำสุด 30% ส่วนที่เหลือ ถือเป็นเงินกู้ที่ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR+5%

เธโอ คุนเดอร์ส ประธานยูนิลีเวอร์ ให้เหตุผลของความ ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการอำนวยความ สะดวกในการจัดการเงินสดให้กับร้านค้าที่ค้าขายอยู่กับยูนิลีเวอร์

การเปิดช่องทางให้ร้านค้าสามารถชำระค่าสินค้าด้วยบัตร เครดิต ถือเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยฝ่ายร้านค้าจะได้ระยะเวลา เครดิตที่ยาวนานขึ้น ขณะที่ยูนิลีเวอร์ก็จะได้รับเงินสดจากการ ขายสินค้าได้เร็วขึ้น และธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะได้ฐานสมาชิก บัตรเครดิตที่ขยายวงมากขึ้น และยังอาจมีรายได้จากดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น จากร้านค้าที่เลือกวิธีการชำระขั้นต่ำ 30%

ตามแผนงาน ยูนิลีเวอร์จะนำบริการนี้ออกเผยแพร่กับ ร้านค้าเครือข่ายที่มีประมาณ 2 แสนแห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่ เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วม เป็นสมาชิกประมาณ 40,000 แห่ง

แม้ความร่วมมือของยูนิลีเวอร์กับธนาคารไทยพาณิชย์ ครั้งนี้ อาจถือเป็นครั้งแรกสำหรับธุรกิจค้าปลีก แต่ก่อนหน้านี้ประมาณครึ่งปี อเมริกันเอ็กซเพรสได้เคยมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ด้วยการออกบริการ Bussiness Card ซึ่งเป็นบัตรที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) โดยเปิดโอกาสให้สามารถใช้บัตรดังกล่าว ในการชำระค่าสินค้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตจากซัปพลายเออร์ แทนที่การใช้เช็ค หรือเงินสด แต่อาจจะเป็นด้วยความใหม่ของรูปแบบการให้บริการ จึงทำให้ Bussiness Card ของอเมริกันเอ็กซเพรสยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

แต่หากบัตรเครดิต Unilever Credit Plus ประสบความ สำเร็จ น่าจะเป็นตัวอย่างให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบัน การเงินกับผู้ประกอบการ หรือซัปพลายเออร์รายอื่นๆ เพิ่มขึ้น อีกในอนาคต เพราะบัตรเครดิตถือเป็นช่องทางหมุนเงินได้ สะดวกสำหรับธุรกิจที่มีวินัย และระบบการจัดการเงินสดที่ดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.