|
"ฮุนได" เลือก "สิทธิผล" ลุยตลาดรถเล็กในไทย
ผู้จัดการรายวัน(24 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ฮุนไดเลือกกลุ่มสิทธิผล "ร่วมทุน-ทำตลาดรถในไทย" เผยจุดแข็ง "วัชระ พรรณเชษฐ์" เอาแผนผลิตรถอีโคคาร์ ที่ปั้นมากับมือให้เป็นนโยบายรัฐบาลขายให้เกาหลีจนชนะ 2 คู่แข่ง คือธนบุรีประกอบรถยนต์และไซม์ ดาร์บี้ แต่ยังติดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นที่ทางฮุนไดยังไม่อยากผูกพันเต็มตัว ขอเวลาดูผลงาน 5 ปี
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงความคืบหน้าในการหาผู้ร่วมลงทุน และทำตลาดรถยนต์ฮุนไดในไทยของ บริษัทฮุนได มอเตอร์ จากเกาหลีใต้ว่า มีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า ฮุนไดจะเลือกกลุ่มสิทธิผลเป็นผู้ร่วมลงทุน
กลุ่มสิทธิผล เป็น 1 ใน 3 กลุ่มที่เสนอตัวร่วมทุนกับฮุนได อีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ และไซม์ ดาร์บี้ จากมาเลเซีย กลุ่มสิทธิผลภายใต้การนำของ นายวัชระ พรรณเชษฐ์ เคยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ในไทย ก่อนที่บริษัทมิตซูบิชิ จากญี่ปุ่นจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ
เหตุผลสำคัญที่ฮุนไดเลือกกลุ่มสิทธิผล ก็คือ กลุ่มสิทธิผลฯ ได้เสนอแผนการผลิตและทำตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก แทนแผนเดิมของฮุนได ที่จะประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือเอสยูวี ในไทยครั้งแรก แต่ต่อมามีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ทำให้รถเอสยูวี มีราคาสูงขึ้นมากไม่คุ้มต่อการลงทุน
สำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก หรืออีโคคาร์ เป็นโครงการที่นายวัชระริเริ่มและผลักดันมาตั้งแต่สมัยที่เป็นดำรงผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลชุดก่อน โดยมีแนวคิดสนับสนุนทางด้านภาษี เพื่อจูงใจให้บริษัทรถยนต์มาลงทุนผลิตรถประเภทนี้ในไทย แม้ปัจจุบันนายวัชระจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว โครงการดังกล่าวก็ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลชุดนี้ โดยเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น เอสคาร์ (ACES Car) เท่านั้น
กลุ่มสิทธิผลจึงได้เปรียบ เพราะอยู่ในฐานะ "อินไซเดอร์" หรือผู้รู้ข้อมูลวงในว่า โครงการรถยนต์ขนาดเล็กจะเดินไปในทิศทางใด สามารถแบ่งปันข้อมูลให้ฮุนได เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลได้
ขณะเดียวกันรถยนต์ขนาดเล็กถือเป็นรถยนต์ที่ฮุนไดมีความชำนาญ โดยเฉพาะที่ประเทศอินเดียฮุนไดประสบความสำเร็จมาก ยิ่งปัจจุบันไทยเปิดเขตเสรีการค้ากับอินเดีย ทำให้การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ระหว่างสองประเทศไม่มีกำแพงภาษี ข้อเสนอของกลุ่มสิทธิผลฯ จึงได้รับความสนใจมากกว่าอีกสองบริษัทที่เหลือ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จุดอ่อนของกลุ่มสิทธิผลฯ อยู่ที่ไม่มีโรงงานประกอบรถยนต์เป็นของตนเอง แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหานัก เพราะมีโรงงานหลายแห่งที่มีไลน์ผลิตว่างอยู่ พร้อมรับจ้างประกอบรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นโรงานบางชันฯ ของกลุ่มพระนคร อดีตผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดในไทย โรงงานแห่งที่สามของมิตซูบิชิ โรงงานของวอลโว่ หรือแม้แต่โรงงานของกลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ ซึ่งพร้อมที่จะรับจ้างประกอบรถยนต์ทุกยี่ห้อ รวมถึงฮุนไดแม้จะไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายก็ตาม ประเด็นสำคัญที่กำลังเจรจากันอยู่ขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องโรงงานประกอบรถยนต์ แต่เป็นสัดส่วนการถือหุ้น ระหว่างฮุนได มอเตอร์ กับกลุ่มสิทธิผลฯ
"ฝ่ายฮุนไดขอร่วมลงทุนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทางกลุ่มสิทธิผลฯ ต้องการให้ฮุนไดถือหุ้นใกล้เคียงกัน" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับเงื่อนไขเกี่ยวกับการร่วมลงทุน ฮุนไดกำหนดรูปแบบให้ผู้ประกอบการไทยเลือก 2 แบบ คือ แบบแรกถือหุ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่หลังจากนั้นเมื่อครบ 5 ปี จึงค่อยมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ส่วนแบบที่สองฮุนไดจะไม่ถือหุ้นด้วย โดยให้ฝ่ายไทยเป็นดิสทริบิวเตอร์ เมื่อครบ 5 ปี ฮุนไดจะเป็นผู้พิจารณาอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเงื่อนไขนี้ กลุ่มสิทธิผลจะเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้ ทำให้กลุ่มสิทธิผลฯ ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จึงกลายเป็นประเด็นหลักในการเจรจากันในขณะนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|