จากเนห์รู สู่มหาธีร์ และทักษิณ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวคิดการรวมกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียเคยเกิดขึ้น มาแล้ว อย่างน้อย 2 ครั้ง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และอังกฤษเริ่มปลดปล่อยประเทศที่เคยยึดครองไว้เป็น อาณานิคมให้เป็นอิสระ

ในครั้งแรก ยาวาฮาลาล เนห์รู อดีตนายกรัฐมนตรี ของอินเดีย เคยเป็นต้นคิดในระหว่างปี ค.ศ.1948-1952 มีการเชิญผู้นำประเทศต่างๆ ไปร่วมประชุมกันที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีแกนนำคนสำคัญคือนายกรัฐมนตรี เนห์รู นายพลนัสเซอร์ จากประเทศอียิปต์ และประธานาธิบดี ซูการ์โน ของอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทย มีพระองค์เจ้า วรรณไวทยากรณ์ ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประชุมด้วย

แนวคิดของนายกรัฐมนตรีเนห์รู ในการประชุมที่บันดุง กลายเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement : NAM) ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะประเทศในเอเชียเท่านั้น

หากเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นท่ามกลางการแบ่งแยกเป็น 2 ขั้วระหว่างสังคมนิยมแบบโซเวียต และเสรีนิยมแบบสหรัฐ อเมริกา บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ดำเนิน ไปอย่างหนักหน่วงในเวลาดังกล่าว และเป็น แนวคิดที่ทรงอิทธิพลและมีบทบาทไม่น้อยต่อประเทศเอกราชใหม่ และประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ก่อนที่จะคลี่คลายบทบาทลงในเวลา ต่อมา

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย เคยมีความคิดจะรวมกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก (EAEC : East Asia Economic Caucus) แต่แนวคิดนี้ ถูกต่อต้านจากสหรัฐ อเมริกา โดยการกดดันอย่างลับๆ ผ่านทางประเทศญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แนวคิดที่จะจัดตั้ง EAEC ของมหาธีร์ จึงต้องล้มเหลว

คำถามที่ตามมาคือแนวคิดในการรวมกลุ่ม ACD ของประเทศไทยครั้งนี้ จะต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างที่เคย เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งหรือไม่

นักการทูตผู้หนึ่ง บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าการรวมกลุ่ม ACD เมื่อเทียบกับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีเนห์รู และมหาธีร์ แล้ว จะมีปัจจัยที่แตกต่างกันอยู่ 2-3 ประการ

ประการแรก สถานการณ์ที่ประเทศในทวีปเอเชียกำลัง เผชิญอยู่ขณะนี้ สุกงอมจนถึงขั้นที่ทุกคนต่างมีแนวคิดที่ตรงกัน แล้วว่าควรมีความร่วมมือเกิดขึ้น เพียงแต่รออยู่ว่า ใครจะเป็น ผู้เริ่มต้นก่อน

ประการต่อมา การที่ประเทศไทยซึ่งเป็นแกนนำใน การเสนอแนวคิดการรวมกลุ่ม ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ เบื้องหลัง จึงได้รับความร่วมมือจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ อย่างเต็มที่

ประการสุดท้าย การดำเนินการเรื่องนี้ กระทำโดย เปิดเผย มีการนำเสนอแนวคิดนี้อย่างเป็นขั้นตอน ทั้งภายใน เอเชียด้วยกันเอง รวมถึงประเทศทางฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่มีความระแวงเกิดขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.