ACD มิติใหม่ของนโยบายต่างประเทศ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทยในหลายยุคที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินนโยบายเชิงตั้งรับ น้อยครั้งมากที่จะเห็น นโยบายเชิงรุกที่เป็นรูปธรรม

แต่การเป็นแกนนำในการเชิญผู้นำระดับรัฐมนตรีของ ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียมาพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการ ที่เรียกว่า "Asia Cooperation Dialogue : ACD" ถือเป็น การดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกครั้งสำคัญที่สุด ที่ปรากฏ ออกมาภายใต้การนำของรัฐบาลชุดนี้

ACD เป็นแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ยัง ไม่ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อได้เป็นรัฐบาล แนวคิด นี้ได้ถูกบรรจุเป็นนโยบาย และได้รับการสานต่ออย่างจริงจังจาก สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนสามารถจัดการประชุมครั้งแรก โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีรัฐมนตรีจาก 16 ประเทศในเอเชียมาร่วมประชุมกันได้ เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายนที่ผ่านมา

การประชุมครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย อย่างน้อยก็ทำให้รัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ ที่มาร่วมประชุม ยอมรับแนวคิดเบื้องต้นที่ว่าหากทุกประเทศในเอเชียมีความร่วมมือ ซึ่งกันและกัน จะเป็นหนทางที่ทำให้ปัญหาความยากจนที่หลาย ประเทศกำลังประสบอยู่ ถูกขจัดลงไปได้

สาระสำคัญที่ทุกคนยอมรับ คือโครงสร้างพื้นฐานของ ทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมผืนแผ่นดินประมาณ 30% ของโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3 พันล้านคน มากกว่าครึ่ง หนึ่งของประชากรโลก จุดนี้ทำให้ทวีปเอเชียเป็นตลาดการค้า ที่ใหญ่ที่สุด

ด้านเศรษฐกิจ การส่งออกและผลิตภัณฑ์มวลรวมของ เอเชีย เป็น 1 ใน 4 ของการส่งออก และผลิตภัณฑ์มวลรวมของ โลก และทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อรวมกันมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของทุนสำรองของทุกประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้แต่ละประเทศในเอเชีย มีความหลากหลายทาง ด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว

แนวคิดนี้ยังมีความต่อเนื่อง มีการนัดประชุมกันอีกครั้ง ในเดือนมิถุนายนปีหน้า โดยประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็น เจ้าภาพเช่นเดิม

ปัจจุบันยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยจะได้รับ ผลประโยชน์อะไร จากการเป็นแกนนำจัดประชุม ACD ครั้งนี้ นอกเหนือจากภาพลักษณ์

คำว่าภาพลักษณ์ คนทั่วไปฟังดูเสมือนเป็นเพียงนามธรรม แต่ในกิจกรรมระหว่างประเทศแล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นในการตัด สินใจนำเงินเข้ามาลงทุน และมีผลต่อความเชื่อถือ และยังสามารถ เพิ่มน้ำหนักของคำพูดได้ เวลาที่ประเทศไทยต้องออกไปเจรจา ความระหว่างประเทศ

ดังนั้นหากประเทศไทย ประสบความสำเร็จกับการเป็น ผู้ริเริ่ม ทำให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียสามารถหันหน้ามาจับมือ ร่วมกันได้ จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างยิ่ง

เป็นผลดีที่เกิดขึ้น ในช่วงที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน กำลัง จะเผชิญกับสถานการณ์ภาวะสุญญากาศทางการนำ ในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า เมื่อมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะล้างมือทางการเมือง และโก๊ะ จก ตง ผู้นำสิงคโปร์ กำลังเตรียมถ่ายอำนาจการปกครองให้บุตรชายของ อดีตประธานาธิบดีลี กวน ยู หากสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ของประเทศได้สำเร็จ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.