"บรรพต" ตกตะลึงยางตาสอยงัดกม.เล่นงานซีพีผิดสัญญา


ผู้จัดการรายวัน(21 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"บรรพต" ดอดลงตรังหาข้อมูลตลบหลังกรมวิชาการเกษตร ยอมรับตะลึงยางตาสอยเกลื่อนสองฟากถนนและลามทั่วประเทศ ยันเป็นยางพันธุ์ไม่ดีไม่มีน้ำยาง "คุณหญิงหน่อย" จี้ "เนวิน" เร่งสรุปปัญหากล้ายาง พร้อมพลิกกม.เล่นงานซีพีหากพบความผิดอาจถึงขั้นยกเลิกสัญญา ขณะที่ "เนวิน" โบ้ยส่งชี้แจงหมดแล้ว ยันไม่มีทุจริต ย้ำไม่ได้นอนเฝ้าแปลงซีพีจึงไม่รู้มียางตาสอยหรือไม่ ผอ.สถาบันยางยืดอกพร้อมรับผิดชอบ ทั้งโยกงานควบคุมยางออกจากสถาบันวิจัยยางยกแผนก กลุ่มผู้ผลิตยางพันธุ์ดีตรังทวงสัญญาก่อนบุกทำเนียบฯ รอบสอง

นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยอมรับว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบแปลงกล้ายางที่จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกล้ายางป้อนให้โครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่จริง และพบยางตาสอยทั้งจังหวัดเต็มสองข้างทาง โดยก่อนหน้านี้ตนได้ยินแต่เพียงข่าวเท่านั้น จึงได้ลงไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง ซึ่งจากการสอบถามเกษตรกรที่เพาะพันธุ์กล้าส่งโครงการก็ยอมรับว่าเป็นยางตาสอยจริง เพราะหากเป็นยางตาเขียวจะต้องใช้เวลาในการชำกล้านานเป็นปี แต่การทำยางตาสอยใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น และจะไม่ให้น้ำยางในอนาคต ที่น่าห่วงคือขณะนี้พบยางตาสอยระบาดไปทั่วประเทศ

"เกษตรกรผู้ผลิตบอกผมว่า ยางตาสอยก็สามารถเจริญเติบโตได้แต่เปลือกบางจะไม่ให้น้ำยางหรือให้น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกไปแล้ว และไม่มีประสบการณ์ไม่สามารถที่จะแยกระหว่างยางตาเขียวกับยางตาสอยได้ ซึ่งผมจะเร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการตรวจสอบพันธุ์ก่อนที่จะลงมือปลูก ส่วนเกษตรกรที่ซื้อไปปลูกเองจะต้องสอบถามเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรให้แน่ใจเสียก่อนในการเลือกซื้อพันธุ์ การดูแลรวมไปถึงเทคนิคการปลูก" นายบรรพตกล่าว

วานนี้ (20 มิ.ย.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศสเพื่อความร่วมมือการวิจัยยางพาราของไทยว่า ในปี 2547 ไทยและฝรั่งเศสมีข้อตกลงกรอบความร่วมมือด้านวิจัยร่วมกัน ซึ่งฝ่ายไทยคัดเลือกโครงการวิจัยยางพาราเป็นหนึ่งในหลายหัวข้อที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญครบวงจร ตั้งแต่เกษตรกรรมยางที่ฝรั่งเศสมีฐานการผลิตในแอฟริกาจนถึงผลิตภัณฑ์ยางในวิศวกรรมและยานยนต์

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก แต่ 90% เป็นการส่งออกวัตถุดิบ มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีการแปรรูป ถึงเวลาแล้วที่จะปรับโครงสร้างให้มีมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ยาง การประชุมครั้งนี้จะเป็นช่องทางให้มีการพัฒนาสู่การแปรรูปอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งยอมรับว่าโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องที่ต้องหารือกันในประเด็นของการพัฒนาคุณภาพต้นยางตั้งแต่ปลูกเพื่อให้น้ำยางที่ดีในอนาคต

จี้ "เนวิน" เร่งสรุปปัญหากล้ายาง

ผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการพัฒนาคุณภาพยางเป็นเรื่องระดับประเทศ แต่ปัญหาการปลูกยางไม่ได้คุณภาพกลับยังไม่มีการแก้ไข คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ได้กำชับผู้ที่รับผิดชอบคือนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ให้เร่งดำเนินการและสรุปความเสียหายมาให้โดยเร็ว ไม่ใช่เพียงแต่การสรุปในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะขณะนี้ประเด็นปัญหาได้ขยายผลไปมาก จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีออกมารับรองซีพีว่าได้ดำเนินการส่งมอบกล้ายางอย่างถูกต้องนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่นั้นเป็นโครงการที่ดีนายกฯ พูดในทำนองว่าต้องการให้เกษตรกรหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนไม่ได้มีเจตนาจะไปรับรองใคร

ส่วนกรณีหากภายหลังพบว่าบริษัทซีพีมีความผิดจะมีการยกเลิกสัญญาหรือไม่นั้น คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ตอนนี้รอข้อเท็จจริงและดูข้อกฎหมายอยู่ว่าจะดำเนินการได้แค่ไหน ซึ่งก็ได้ให้นายเนวินเร่งสรุปให้อยู่แล้ว

"เนวิน" ย้ำแจงหมดแล้วการันตีไม่มีทุจริต

นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาการทุจริตในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ว่า โครงการนี้ไม่มีการทุจริต ทุกอย่างได้ชี้แจงไปหมดแล้ว จึงไม่อยากพูดอะไรมาก ส่วนการตั้งกรรมการสอบตอนนี้ก็อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการ จึงต้องรอสรุปผลว่าจะออกมาอย่างไร

สำหรับกรณีที่มีการระบาดของยางตาสอยและยางธุดงค์ในพื้นที่ภาคอีสานนั้น ได้มอบหมายให้นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปตรวจจับอยู่ และก็ได้ดำเนินการแล้ว แต่การจะระบุว่ามียางตาสอยระบาดเข้ามาร่วมกับแปลงต้นยางที่ทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) หรือไม่นั้น ไม่อาจทราบได้ เนื่องจากไม่ได้นอนเฝ้าแปลงกล้ายางของซีพี

นายเนวินกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเกษตรกรออกมาระบุว่าทางบริษัทซีพีเบี้ยวเงินไม่ยอมจ่ายเรื่องค่าต้นยางที่ส่งมอบนั้นว่า เป็นเรื่องของกลไกทางธุรกิจที่ทางบริษัททำกับเกษตรกร กระทรวงฯ จะไปเกี่ยวด้วยไม่ได้ ถ้ามีปัญหาหรือโกงกันเกษตรกรควรจะไปแจ้งความฟ้องร้องตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ส.ส. นำกล้ายางไปแจกในช่วงหลังเดือนสิงหาคม ซึ่งล่วงเลยฤดูปลูกยางจนทำให้กล้ายางตายเป็นจำนวนมาก เป็นเพราะส.ส.ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากกระทรวงเกษตรฯ แต่ในเอกสารระบุชัดว่า ทางกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้เสนอขอเงื่อนไขให้ส่งมอบเอง นายเนวินกล่าวว่า ไม่มีความคิดเห็นกับเรื่องดังกล่าว

ผอ.สถาบันวิจัยยาง ยืดอกรับผิดชอบ

นายประวิตร วงศ์สุคนธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การทำยางตาสอยถ้าพูดตามหลักเหตุผลแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากติดตายาก การลงทุนสูง เมื่อไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงไม่น่าจะมีใครยอมขาดทุนเพื่อทุจริต ดังนั้นจึงไม่เชื่อว่ามีการทำยางตาสอยอยู่จริง แต่ถ้ามีการทำยางตาสอยจริง ผมในฐานะ ผอ.สถาบันวิจัยยาง ก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ดูแลด้านพันธุ์ยางโดยตรง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผอ.ได้ลงไปตรวจสอบบ้างหรือไม่ นายประวิตรกล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเป็นประจำก็ไม่พบว่ามียางตาสอยจริง แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทางเกษตรกรเขาทำของเขาเองไม่ได้ทำเพื่อการค้าทางสถาบันวิจัยยาง ก็ไม่สามารถบังคับอะไรได้

ส่วนกรณีที่มีการโอนย้ายงานทางด้านการควบคุมยางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติยาง ไปอยู่ในสังกัดสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรนั้น นายประวิตรกล่าวว่า เป็นแผนของกรมวิชาการเกษตรที่มีมาแต่เดิมแล้วไม่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องทุจริตกล้ายางพาราเป็นการย้ายสังกัดให้ถูกต้องตามหน้าที่โดยงานที่ย้ายไปเป็นการย้ายกันทั้งแผนก รวมทั้งบุคลากรอีกประมาณ 10 กว่าคนด้วย สำหรับงานที่ย้ายออกไปก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เมื่อทางสถาบันวิจัยยางต้องการข้อมูลในส่วนไหน ก็สามารถประสานตรวจสอบหรือร้องขอข้อมูลได้

ซีพีเรียก "นายหน้า" เข้าพบด่วน

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังการตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของนายเอกพล บุญเกื้อ นายหน้าที่รวบรวมกล้ายางส่งให้กับซีพี ปรากฏว่าทางผู้บริหารของซีพี ได้เรียกนายเอกพลเข้าพบเป็นการด่วนในวันนี้ (21 มิ.ย.)

ยื่น 3 ข้อเสนอร้อง "คุณหญิงหน่อย" แก้ไข

นายซุ่น แซ่เอี้ยว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ในฐานะประธานกลุ่มผู้ผลิตยางพันธุ์ดีตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 304 ราย กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักเพราะผลกระทบจากโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ของรัฐบาล โดยผลการสำรวจข้อมูลจากสมาชิกทั้งหมด มีประเด็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่ขอให้ทางรมว.กระทรวงเกษตรฯ ให้ความช่วยเหลือโดยด่วน คือ

1) ปัญหาด้านราคาและต้นทุนการผลิต ให้รัฐบาลประกันราคากล้ายางพันธุ์ดีที่จำหน่ายจากแปลงเกษตรกรในราคา 6 บาท/ต้นเป็นอย่างน้อย และอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตกล้ายางของเกษตรกร หรือไม่ก็หาทางสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงด้วย

2) ปัญหาด้านการตลาด เวลานี้มีปริมาณยางพันธุ์อยู่ในแปลงของเกษตรกรอีกจำนวนมาก สวนทางกับความต้องการของตลาดและนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการปลูกยาง แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ตอนนี้เกษตรกรต้องการขายกล้ายางเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ แต่กลับไม่มีผู้ซื้อ แถมที่จำหน่ายไปแล้วส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงินจากพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรหลายรายถูกหลอกจากนายหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยให้นำหลักฐานการขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ และเอกสารที่ดินเพาะกล้ายางไปมอบให้ แล้วบอกว่าจะมีการจัดสรรโควตาขายกล้ายางมาให้ตามความเป็นจริง แต่ปรากฏในภายหลังว่าเกษตรกรถูกสวมสิทธิ์ ส่วนกล้ายางที่ผลิตได้ก็ไม่สามารถขายได้ ดังนั้นขอให้รัฐบาลชี้แจงข้อมูลที่ชัดเจนที่เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย และหาตลาดให้กับเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

และ 3. ปัญหาด้านการขาดเงินทุนหมุนเวียน ต้องแบกรับภาระหนี้สินกล้ายางที่ผลิตออกมาจำนวนมากก็ขายไม่ได้ ส่วนที่ขายไปแล้วก็ได้ราคาต่ำมาก ซ้ำยังไม่ได้รับเงิน ทั้งนี้เกิดจากพ่อค้าคนกลางปั่นตลาดและฉวยโอกาสทำกำไร ดังนั้นขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตกล้ายางด่วน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และช่วยลดภาระหนี้สินของเกษตรกร รวมถึงเพื่อให้งานของกลุ่มขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชนได้ในที่สุด

"หากรัฐบาลจริงใจให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้แก้ไขปัญหาทันที เกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางจะไม่ต้องรวมตัวกันเดินทางบุกทำเนียบฯ ทวงถามอีกครั้ง" หนึ่งในแกนนำกลุ่มเกษตรกรฯ กล่าว โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มดังกล่าวได้เดินทางมายังทำเนียบฯ เพื่อร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.