Christopher Evans พ่อมดแห่งวงการไบโอเทคแดนผู้ดี


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (biotech) ในสหรัฐฯ มีมูลค่า ในตลาดหุ้นถึง 400 พันล้านดอลลาร์ หรือมีมูลค่ามากกว่าบริษัท ไบโอเทคของยุโรปถึง 7 เท่า แต่ช่องว่างอันห่างไกลนี้กำลังจะหมด ไป

ขณะนี้ยุโรปมีบริษัทไบโอเทคมากกว่าสหรัฐฯ แล้วประมาณ 300 แห่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา "ขณะนี้ยุโรปมีบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพถึง 1,570 แห่ง แต่ละแห่งกำลัง วิจัยพัฒนาโครงการอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 หรือ 4 โครงการ ซึ่งหมายถึง เรามีโครงการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทั้งหมดถึง ประมาณ 6,000 โครงการ ซึ่งต่างก็มีเป้าหมายที่จะเข้าสู่ตลาด ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า และถึงแม้ว่าอาจจะมีเพียง 10% ของ โครงการทั้งหมดที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้สำเร็จ แต่คุณก็จะได้เห็น มูลค่าของบริษัทเหล่านี้พุ่งขึ้นจากเพียง 55 พันล้านเป็น 400 พัน ล้านเท่ากับสหรัฐฯ" Sir Christopher Evans นักลงทุนด้าน เทคโนโลยีชีวภาพคนสำคัญของอังกฤษกล่าว

ท่านเซอร์ Evans วัย 44 ปีเอง เป็นกำลังสำคัญของยุโรป ที่ช่วยปิดช่องว่างดังกล่าว ด้วยการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมจาก ห้องทดลองให้กลายเป็นสินค้าในตลาด ในปี 1996 เขาได้ก่อตั้ง Merlin Biosciences บริษัทมูลค่า 375 ล้านดอลลาร์ที่เชี่ยวชาญ ด้านการค้นคว้าวิจัยยารักษามะเร็ง โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ตัวท่าน เซอร์เองเป็นนักวิทยาศาสตร์มาก่อน ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็น นักลงทุนคนสำคัญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของอังกฤษ ด้วยเรือนผม สีแดงเพลิงของท่านเซอร์ เขายังคงดูเหมือนนักวิทยาศาสตร์มากกว่า นักลงทุน แต่ขณะนี้ Evans ผู้เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ด้วยการศึกษาด้านจุลินทรีย์ ไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้อง ทดลองวิทยาศาสตร์อีกต่อไปแล้ว

ถ้าหากเขาไม่ได้เข้าประชุมกรรมการบริษัทของบริษัททั้งหมด 20 แห่งที่เขาก่อตั้งขึ้น หรือของบริษัทอีก 75 แห่งที่ให้เขาให้ทุน สนับสนุนการก่อตั้ง เขาก็จะเดินไปเดินมาอยู่ภายในสำนักงานใหญ่ ของ Merlin ในกรุงลอนดอน เที่ยวดึงชาร์ตและตัวเลขต่างๆ ออก มาตรวจสอบดู หรือไม่ก็ชงอาหารเสริมโปรตีนดื่มเพื่อเพิ่มพลังงาน ให้แก่ร่างกาย เขาไม่เคยนั่งอยู่เฉยๆ ได้เกินกว่า 5 นาที

Evans มีทายาท 4 คน เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ 6 ใบ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอังกฤษ Evans เป็น เจ้าของที่ดินทั้งหมด 80 เฮกตาร์ใน Wales และมีทรัพย์สมบัติที่ ประเมินโดยหนังสือพิมพ์ Sunday Times จำนวน 225 ล้านดอลลาร์ ชื่อของเขายังได้รับเกียรตินำไปตั้งเป็นชื่อแบคทีเรียที่ค้นพบใหม่ ตัวหนึ่งด้วย Evans เรียกตัวเองว่า "เถ้าแก่นักวิทยาศาสตร์"

10 ปีที่แล้วไม่เคยมีผู้ประกอบการที่มีที่มาจากนักวิทยา ศาสตร์มาก่อนเลยในยุโรปภาคพื้นทวีป ส่วนในอังกฤษก็มีอยู่เพียง ไม่กี่คนเท่านั้น แต่เสน่ห์เย้ายวนใจของความร่ำรวย ที่อยู่แค่เอื้อม จากศักยภาพทางการค้าที่มีอยู่ในผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ พวกเขา ได้ชักจูงใจให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต้องคิดเหมือนนัก ทุนนิยมมากกว่านักวิชาการ และพยายามผลักดันผลงานของตน เข้าสู่ตลาดให้ได้ บริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ ซึ่งมองหายาตัวใหม่ๆ ที่มีอนาคตอยู่ตลอดเวลา สามารถเสาะแสวงหานวัตกรรมด้าน เทคโนโลยีชีวภาพได้จากบริษัทไบโอเทคเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดยบรรดา นักธุรกิจหน้าใหม่ที่ผันตัวเองมาจากนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ บริษัท ยักษ์ใหญ่มีบทบาทสำคัญในการนำยาใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นโดยบริษัท เล็กๆ เหล่านี้ ไปดำเนินการเพื่อให้ได้การรับรองจากทางการ อัน เป็นกระบวนการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งบริษัทไบโอเทคเล็กๆ ไม่มีเงินพอที่จะทำได้

Evans เป็นผู้หนึ่งที่เจนจบในกระบวนการดำเนินการเพื่อให้ ได้มาซึ่งการอนุมัติจากรัฐบาล จากประสบการณ์ตรงที่เขาเคย ทำงานกับบริษัทไบโอเทคทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดา หลังจาก ที่เขาตัดสินใจทิ้งตำแหน่งนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัย Michigan ที่กินเงินเดือนเพียง 14,000 ดอลลาร์ต่อปีในปี 1983 มารับงาน ที่มีรายได้ 80,000 ดอลลาร์ต่อปีในบริษัท Allelix บริษัทไบโอเทค ในแคนาดา (ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนงานอีกครั้งมาร่วมงานกับบริษัท Genzyme ในรัฐ Massachusetts ในสหรัฐฯ)

สำหรับ Evans ซึ่งเติบโตมาในบ้านที่จัดสรรโดยการเคหะในเมืองผลิตเหล็กกล้า แห่งหนึ่งในแคว้น Wales ของอังกฤษ การได้สัมผัสเงินเดือนจำนวนมากขนาดนั้นเป็นครั้งแรก ทำให้เขา รู้สึกเหมือน "ได้ดื่มไวน์ รสเลิศ" เขาบอกว่าเขารักสหรัฐฯ เพราะที่นั่นมีความเป็นธุรกิจสูง แต่เขาคิดถึงเบียร์กับรักบี้ในอังกฤษ จึงตัดสินใจกลับบ้านในปี 1987

เขาขายบ้านและรถเพื่อนำเงินมาลงทุนเปิดร้านใกล้กับ มหาวิทยาลัย Cambridge และเปิดบริษัทเทคโนโลยีเล็กๆ ชื่อ ว่า Enzymatix ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งแรกๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษ Enzymatix ยังให้กำเนิดบริษัทอีกหลายแห่งซึ่ง รวมถึง Chiroscience บริษัทที่สามารถพัฒนาวิธีการรักษามะเร็ง และการอักเสบติดเชื้อแบบ isomer therapies ได้สำเร็จ และถูก ซื้อไปโดยบริษัท Celltech ในปี 1999 ด้วยราคาสูงถึง 520 ล้าน ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม Evans บอกว่า การบริหารบริษัทไม่ได้สนุก อย่างที่ใครๆ คิด "ผมได้เรียนรู้ในเวลาต่อมาว่า การลงทุนริเริ่ม ธุรกิจใหม่ควรจะทำเป็นทีมโดยใช้เงินของคนอื่น"

ดังนั้น หลังจากที่เขาก่อตั้ง Merlin เขาจึงก่อตั้งทีมงานที่ ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักการเงิน Peter Keen หนึ่ง ในทีมของเขาช่วยให้เขาสามารถยกชั้น Chiroscience เป็นบริษัท มหาชน ขณะนี้ Keen ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Merlin ใน U.K. Mark Clement เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ยุโรปภาคพื้นทวีป ร่วมก่อตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WestLB Panmure และยังช่วย Evans ดูแล Celsis บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ Evans ก่อตั้งขึ้น นอกจากนี้ Evans ยังจ้าง Sue Foden จาก Cancer Research Campaign เป็นผู้อำนวยการด้านการลงทุน ของเขา เพราะเธอเป็น "ฝันร้ายของนักเจรจาต่อรอง"

ทุกๆ ปี มีโครงการวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพถึง ประมาณ 1,000 โครงการ ที่ส่งมาให้ทีมงานของ Merlin ตรวจ สอบพิจารณา แต่จะมีเพียง 15 ถึง 20 โครงการเท่านั้นที่จะผ่าน การพิจารณา

Evans บอกว่าเขาเป็นคนที่สนใจการเข้าประชุมกรรมการ บริษัทน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาต้องจับตาดูคือสิ่งสำคัญ ที่สามารถจะเพิ่มมูลค่าให้แก่การลงทุนของเขา "สิ่งที่ทำให้บริษัท มูลค่า 20 ล้านของเรากลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 80 ล้าน"

ในฐานะนักลงทุน Evans จับตาดูอยู่เพียง 2 สิ่งเท่านั้น ได้แก่ ความก้าวหน้าของการวิจัย และความสำเร็จในการยื่นขอจด สิทธิบัตร หากมีใครบอกว่า "คำขอจดสิทธิบัตรของเราถูกสำนัก งานสิทธิบัตรของเยอรมนีปฏิเสธ ธงแดงจะถูกยกขึ้นสำหรับ โครงการวิจัยนั้น แล้ว Merlin จะรีบส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจดสิทธิ บัตรไปทันที เพื่อหาสาเหตุให้ได้ว่า ทำไมคำขอจดสิทธิบัตรนั้นจึง ถูกตีกลับพร้อมทั้งหาทางแก้ไข เพราะหากจดสิทธิบัตรไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย หรืออเมริกา ก็หมายถึงอวสานของ เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นนั้น และย่อมหมายถึงอวสานของ การลงทุนของ Merlin ด้วย

Evans ชี้ว่า บริษัทไบโอเทคที่เพิ่งอยู่ในระยะตั้งไข่ใหม่ๆ มักจะทำความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่น คือ เงินหมดลงกลางคันเสียก่อนที่จะคิดค้นนวัตกรรมได้สำเร็จ เทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นธุรกิจที่ขึ้นเร็วลงเร็ว บทจะมาก็มาเป็น พายุ บทจะไปก็ไปเหมือนพายุเช่นเดียวกัน และจะเกิดเป็นวงจร อย่างนี้ทุกๆ 2-3 ปี ทำให้บรรดานักธุรกิจหน้าใหม่ในวงการ เทคโนโลยีชีวภาพต่างต้องเจ็บตัวไปตามๆ กัน

Evans ชี้ให้เห็นต่อไปถึงสภาพตลาดเทคโนโลยีชีวภาพ ในยุโรปและอังกฤษว่า มูลค่าของบริษัทไบโอเทคเมื่อ 2 ปีก่อน อยู่ในสภาพที่ผันผวนอย่างมากและควบคุมไม่ได้ ดัชนี U.K. Biotech index ของ Bloomberg ร่วงลงถึง 70% นับตั้งแต่แตะระดับสูงสุด ในเดือนมีนาคม ปี 2000 มีเพียงบริษัทไบโอเทคใหม่ๆ ที่ดีที่สุด เท่านั้น ที่สามารถระดมทุนได้สำเร็จ "ในสหรัฐฯ อุตสาหกรรม ไบโอเทคเคยพบกับสภาพร้อนแรงสุดขีดแล้วกลับตกต่ำอย่าง กะทันหันมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 รอบแล้ว ส่วนในอังกฤษเจอ มา 1 หรือ 2 รอบ แต่ในยุโรปภาคพื้นทวีปเพิ่งจะเคยเจอกับสภาพ มาเร็วไปเร็วของอุตสาหกรรมนี้เป็นครั้งแรก"

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Evans เริ่มการระดมทุนอีกครั้ง นับเป็นการฉวยโอกาสอย่างฉลาดในฐานะนักลงทุนผู้พิสมัย การริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ตัวเขาเองยังไม่เคยเจ็บตัวกับการลงทุนใน อุตสาหกรรมไบโอเทคเลยแม้แต่ครั้งเดียว นับเป็นสถิติที่น่าทึ่งอย่าง ยิ่ง ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมีอัตราความล้มเหลว ของธุรกิจสูงมาก

คำแนะนำของ Evans สำหรับนักวิทยาศาสตร์ในสาย เทคโนโลยีชีวภาพคือ "จงทำงานวิทยาศาสตร์ของคุณต่อไป ถึง ไบโอเทคจะยังเหมือนน้ำขึ้นน้ำลงแต่ก็ไม่ใช่แฟชั่น ตราบใดที่คน ยังต้องการยาตัวใหม่ๆ เพื่อมาพิชิตโรค คนก็ยังต้องการเทคโนโลยี ชีวภาพอยู่เสมอ"

ในยุโรป ธุรกิจไบโอเทคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มักจะชุมนุมกัน อยู่รอบๆ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่ง Evans ขอเรียก ว่า "biovalleys" อย่างเช่นที่เมือง Cambridge ในอังกฤษเป็น ที่ตั้งของสถาบันวิจัย Wellcome Trust Sanger Institute ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยแผนที่รหัสพันธุกรรมมนุษย์ Evans บอกว่า Finland เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการวิจัยเกี่ยวกับระบบหัวใจ และหลอดเลือด ส่วนเยอรมนี ซึ่งเมื่อ 7 ปีก่อนยังไม่มีบริษัท ไบโอเทค เลยแม้แต่แห่งเดียว แต่ขณะนี้มีเป็นร้อยๆ แห่ง อย่างไร ก็ตาม Evans ชี้ว่า บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตั้งไข่เท่านั้น และยังไม่สามารถวิจัยพัฒนาจนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ดีๆ ออกสู่ ตลาดได้เลย

กระนั้นก็ตาม Evans ก็เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใน ทางที่ดีขึ้น เมื่อมองจากจำนวนคำขอจดสิทธิบัตร แม้ว่าสหรัฐฯ อาจจะมีคำขอจดสิทธิบัตรในจำนวนที่มากกว่า แต่ยุโรปกลับ นำหน้าในด้านการขอจดสิทธิบัตรยาและสารเคมี ซึ่งเป็น 2 สาขา ของเทคโนโลยีชีวภาพที่นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมักจะพบกับความ ล้มเหลวมากที่สุด

นอกจากนี้ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังแสดงท่าทีที่จะ สั่งห้ามการวิจัยตัวอ่อนมนุษย์อยู่ในขณะนี้ ก็เป็นโอกาสที่ยุโรป อาจจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้อีกสาขาหนึ่ง คือการวิจัยด้าน พันธุกรรม Evans ยังชี้ว่า ยุโรปมีกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการ โคลนนิง และเซลล์ตั้งต้นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในมุมมองของ นักวิทยาศาสตร์ โดยเป็นกฎหมายที่เอื้อโอกาสให้แก่นักวิทยาศาสตร์ ทางด้านนี้เป็นอย่างมาก

Evans ยังรู้สึกภูมิใจในการที่เขาและผู้ประกอบการคนอื่นๆ สามารถร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ภาษีได้สำเร็จ "ตอนนี้คุณสามารถมาที่อังกฤษ เปิดบริษัทและจ่ายภาษีน้อยกว่าในสหรัฐฯ และหลังจากดำเนินงานเพียง 2 ปี เท่านั้น คุณจะสามารถคืนทุนและได้กำไรจากการลงทุนถึง 90%" Evans อวดอย่างภูมิใจ

ตลอดเวลาที่ผ่านมายุโรปมีแต่สูญเสียนักวิทยาศาสตร์ ให้แก่สหรัฐฯ แต่ขณะนี้ สมองกำลังไหลกลับ "นักวิทยาศาสตร์ ยุโรปกำลังกลับบ้านเพื่อมาทำงานที่บ้าน ยุโรปตื่นขึ้นแล้วพร้อม กับฝันดีแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ เคยพบเมื่อ 15 ปีก่อน" นั่นคือ ข้อสรุปฟันธงถึงอนาคตอันสดใสของเทคโนโลยีชีวภาพในยุโรป จากนักวิทยาศาสตร์ผู้พลิกผันชีวิตมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความ สำเร็จอย่างสูงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของแดนผู้ดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.