เกษตรกรจับโกหกซีพีเบี้ยวกล้ายางตรังร้อยล.


ผู้จัดการรายวัน(20 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มผู้ผลิตกล้ายางตาสอยเปิดโปงบริษัทยักษ์ใหญ่กว้านซื้อกล้ายางไม่เลือกพันธุ์ แถมมีเท่าไหร่เอาหมด นายหน้าจัดหากล้ายางส่งซีพีเดือด อัดบริษัทยักษ์ใหญ่บ่ายเบี่ยงจ่ายเงิน สาปส่งโกหกหลอกลวงไม่มีความเป็นมนุษย์ แฉซีพีค้างเงินเกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางเฉพาะ จ.ตรังนับร้อยล้าน ฝ่ายซีพีแถลงจุดยืนคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก

นายสมาน ทองดี อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62/3 ม.1 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวยอมรับกับ "ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ผู้จัดการรายวัน" ทำกล้ายางตาสอยส่งขายให้แก่นายหน้าของบริษัทซีพี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2546 และถือเป็นคนแรกๆ ในต.ลิพัง ที่บุกเบิกทำกล้ายางตาสอย จากนั้นไม่ถึงปีก็มีคนในพื้นที่ทำกันอย่างแพร่หลาย เพราะแปลงกิ่งตายางพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

"ผมไม่เชื่อว่ากล้ายางตาสอยจะเป็นพันธุ์ยางที่ไม่มีคุณภาพ ที่เรียกกันว่ายางตาสอยก็เพราะคนทำต้องสอยกิ่งตายางจากต้นยางพันธุ์ดีมันสูง จึงต้องใช้กรรไกรสอยกิ่งลงมา ในสวนที่ผมเช่าที่ดินพี่ชายปลูกก็ใช้กิ่งตายางแบบเดียวกัน ช่วงที่ปลูกไป 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีก็มีออกดอกบ้าง มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นกล้ายางตาสอยหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับเราบำรุงรักษาสวนยางของเราดีไหม ใส่ปุ๋ยตามสูตรเพียงพอหรือไม่ หากทำได้อย่างนี้แล้ว เมื่อต้นโตกรีดได้ก็จะให้น้ำยางไม่แตกต่างกันเลย" นายสมานชี้ให้ดูสวนยางของตนเองที่ปลูกด้วยกล้ายางตาสอยไปแล้วประมาณ 3-4 ปี

นายสมานกล่าวต่อว่า ตนเป็นเกษตรกรสวนยางมากว่า 20 ปีแล้ว และพิสูจน์ด้วยตัวเองมาแล้วว่าทำกล้ายางแบบนี้ได้ ทำไมต้องไปฟังแต่เสียนักวิชาการของรัฐ และที่เขาบอกว่าเมื่อนำไปปลูกจะให้น้ำยางน้อย ก็อาจเป็นเพราะคนทำบางคนไปสอยเอากิ่งตายางจากต้นที่ไม่ใช่ยางพันธุ์ดี แต่ตนจะเลือกสอยกิ่งตายางแต่เฉพาะต้นที่เป็นยางพันธุ์ดีเท่านั้น และกิ่งที่นำมาต่อตาต้องเป็นกิ่งสมบูรณ์ด้วย

ท้านักวิชาการรัฐร่วมพิสูจน์คุณภาพ

นายสมานกล่าวว่า ขณะนี้ตนมีแปลงกิ่งตายางพันธุ์ดีอยู่ประมาณ 8 ไร่ และมีแปลงต้นยางที่เปิดหน้ายางกรีดไป 2-3 ปีแล้ว รานกิ่งด้านบนออกหมดให้แตกยอดใหม่เพื่อนำมาใช้เป็นกิ่งพันธุ์ ประมาณ 37 ไร่ อายุเฉลี่ย 10 ปี การตัดกิ่งจะเหลือความสูงประมาณ 3 เมตร

"ที่ผมไม่ตัดให้เหลือ 1 เมตร ตามที่เขาแนะนำกันก็เพราะว่า หากตลาดกล้ายางเลิกบูม หรือซีพีไม่เข้ามาซื้อจำนวนมากๆ เมื่อใด ผมก็จะสามารถนำต้นกิ่งพันธุ์เหล่านี้กลับมากรีดเอาน้ำยางขายได้อีก" นายสมานกล่าว

เขาบอกว่า เคยขอจดทะเบียนแปลงกิ่งพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร แต่กรมไม่จดให้ โดยอ้างว่าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงตามระเบียบและเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนดไว้ว่า ต้นที่จะใช้ทำกิ่งตาต้องสูงเพียงประมาณ 1 เมตร หากตนทำตามก็จะเสียรายได้ในอนาคตเมื่อกล้ายางตาเขียวขายไม่ได้ ตนจึงอยากเชิญนักวิชาการของรัฐมาร่วมพิสูจน์ความจริง

ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกันในกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิตกล้ายางตาเขียวในพื้นที่ โดยมีผู้เสนอว่าน่าจะมีการนำนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร หรือสถาบันวิจัยยาง หรือจากหน่วยงานไหนๆ ของรัฐก็ได้ มาล้อมวงแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้กรรมวิธีการทำต้นกล้ายางที่ถูกต้อง และมีการเสนอถึงขั้นให้ติดต่อสื่อมวลชนมาเป็นพยานด้วย โดยเฉพาะรายการทีวีดังๆ ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกร

ครวญซีพีค้างจ่ายค่ากล้ายาง

นายสมานกล่าวอีกว่า การส่งต้นกล้ายางขายให้กับบริษัทซีพีนั้น ตอนที่มีนายหน้ามาติดต่อคนในพื้นที่ให้รวบรวมให้ก็มีการพูดคุยกันว่าให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ โดยกลุ่มของตนประกอบด้วยผู้ผลิตใน ม.1, 2 และ 3 ของ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีผู้รวบรวมคือ นายวรณ์ หนูหมาด กำนันตำบลลิพัง ซึ่งกำนันวรณ์ ได้โควตามาจากนายหน้าของบริษัทซีพีอีกทอดหนึ่งให้ส่งครั้งละประมาณ 1 ล้านต้น แต่ปรากฏว่าตอนที่มีการซื้อขายจริงกลับไม่เน้นความเป็นกลุ่ม

"ผมส่งให้กำนันวรณ์ในราคาเฉลี่ย 4.30 บาท/ต้น ครั้งแรกส่งไปให้ประมาณ 5 หมื่นต้น ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้ แต่ครั้งหลังส่งไปเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา กว่า 2 แสนต้น เวลาล่วงไปกว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับเงินสักบาทเดียว ก็เคยไปถามกำนันก็บอกว่าบริษัทซีพียังไม่จ่ายเงินมา ตอนนี้ยังมีกิ่งพันธุ์และกล้าพันธุ์ที่กำลังรอทำอยู่อีกประมาณ 2.5 แสนต้น แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนแล้ว" นายสมานกล่าว

ยันนายหน้าซีพีรู้ข้อมูลแต่ยังซื้อ

ด้านนางอรพิน ทองดี ภรรยาของนายสมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้ายางที่ส่งให้บริษัทซีพีไปกว่า 2 แสนต้น ที่ยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียวนั้น ตนก็ข้องใจเหมือนกันว่าเหตุใดบริษัทซีพียังไม่จ่ายเงิน อีกทั้งข้องใจเรื่องที่มีการกล่าวหาว่ากล้ายางตาสอยไม่ได้คุณภาพ ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีใครบอกว่าผิด หรือบอกว่าไม่ได้คุณภาพ เพียงแต่ไม่ออกทะเบียนแปลงกิ่งพันธุ์ให้เท่านั้น

"สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมตอนนี้ถึงมาบอกว่ายางตาสอยไม่มีคุณภาพ และปฏิเสธว่าไม่มียางตาสอยที่ส่งไปขายภาคอีสานและเหนือ ทั้งๆ ที่มีจริงๆ และตอนที่มาซื้อเขาก็บอกว่าเอาหมด ไม่ได้คัดว่าหากเป็นยางตาสอยจะไม่เอา เราอยากให้เขากำหนดกฎเกณฑ์มาให้แน่ชัดว่า ต้นกล้ายางแบบไหนขายได้แบบไหนขายไม่ได้ แต่นี่ตอนมาซื้อก็ซื้อหมด แล้วมีการมาพูดกันทีหลังว่ากล้ายางที่ได้ไปผิดระเบียบและไม่ได้คุณภาพ เราเองก็งงเหมือนกัน" นางอรพินกล่าว

อัดซีพีบ่ายเบี่ยงจ่ายเงินจนรายย่อยเดือดร้อน

"ผู้จัดการรายวัน" ได้สอบถามไปยังกำนันวรณ์ หนูหมาด เกี่ยวกับการค้างจ่ายค่ากล้ายางให้ผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้จริง และคิดว่าหากไม่ได้รับการชำระเงินจากนายหน้าของบริษัทซีพีอาจจะต้องขายที่ดินส่วนตัวเพื่อนำไปชดใช้ให้ เรื่องนี้อยากให้ถามไปยังนายเอกพล บุญเกื้อ ผู้เป็นนายหน้ารับโควตาจัดซื้อกล้ายางมาจากบริษัทซีพีโดยตรงที่ จ.หนองคาย ผมเป็นเพียงผู้รวบรวมในพื้นที่ส่งไปให้เท่านั้น" กำนันวรณ์กล่าว

ด้านนายเอกพล บุญเกื้อ ชี้แจงว่า พื้นเพตนเป็นชาว จ.กระบี่ แต่ได้ไปทำธุรกิจเพาะพันธุ์กล้ายางที่ จ.หนองคาย ทำให้สามารถเชื่อมกับผู้ผลิตกล้ายางตาเขียวใน จ.ตรัง และนำไปจัดส่งให้กับบริษัทซีพีตามโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ในภาคอีสานและเหนือได้ ตนเคยจัดส่งกล้ายางให้กับเกษตรกรผู้ปลูกในโครงการที่ จ.เลย จ.เชียงราย และ จ.หนองคาย ไปครั้งหนึ่งแล้ว วงเงิน 6-8 ล้านบาท ทางบริษัทซีพีก็จ่ายเงินให้ตรงตามงวด แต่ครั้งหลังส่งให้ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา วงเงิน 4-5 ล้านบาท เริ่มมีปัญหาบริษัทซีพี ไม่จ่ายเงินตามงวดที่ตกลงไว้

"มีผู้รวบรวมกล้ายางส่งให้ผมเกือบ 10 ราย เขาก็ทวงถามผมมากันตลอด ผมเองก็สอบถามไปยังบริษัทซีพีหลายครั้งและเคยไปลุยด้วยตัวเองก็มี เขาบ่ายเบี่ยงตลอดว่าเงินหมุนไม่ทันบ้าง ต้องเอาเงินไปซื้อข้าวเปลือกก่อนบ้าง มันเหมือนโหกกันชัดๆ ไม่ใช่มีแต่ผมนะที่มีปัญหา เฉพาะที่ จ.ตรัง ซีพีค้างจ่ายเป็นวงเงินนับร้อยล้านบาท เดือนร้อนกันไปหมด คิดว่าจะไม่เอาอีกแล้ว เลิกทำธุรกิจกับซีพีแล้ว เพราะเขาไม่มีความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นใจเกษตรกรรายย่อยที่ต้องเดือดร้อน" นายเอกพลกล่าว

นายเอกพลกล่าวด้วยว่า ก่อนนี้ตนจะลุยไปชนกับผู้บริหารบริษัทซีพี เพื่อทวงถามเงินค้างจ่าย ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็ได้รับชำระเงินมาแล้วบางส่วน 2.2 ล้านบาท ทำให้ปัญหาทุเลาลงไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนทำสัญญาจัดหากล้ายางส่งขายให้กับบริษัทซีพี ก็ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นวงเงินนับล้านบาทโดยเอาที่ดินไปวางประกันไว้

เผยมีนายหน้าซีพีไม่กล้าเข้าพื้นที่

แหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตกล้ายางส่งบริษัทซีพี ใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาในส่วน ของกำนันวรณ์ ยังไม่ได้รับการชำระค่ากล้ายางเป็นวงเงินกว่า 3 ล้านบาท และก็มีผู้รวบรวมกล้ายางส่งขายให้กับนายหน้าบริษัทซีพีอีกรายใน ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน ที่ยังไม่ได้รับการชำระเงิน คือ นางเล้ง แซ่โค้ว เป็นวงเงิน 7-8 ล้านบาท

นอกจากนี้จากปัญหาที่บริษัทซีพีบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงิน ส่งผลให้มีผู้รวบรวมกล้ายางในพื้นที่ ต.ลิพัง อีกรายหนึ่งที่ไม่มีเงินจ่ายให้กับผู้ผลิตรายย่อยในพื้นที่นับล้านบาท ขณะนี้ต้องหลบหน้าหนีไปอยู่ จ.เชียงใหม่แล้วด้วย

ชาวสวนใต้ขยาดยางตาสอยตรัง

ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนเคยเดินทางไปซื้อกล้ายางที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อนำมาปลูกใหม่ในแปลงที่มีการโค่นต้นยางเก่าไปแล้ว ซึ่งในการไปซื้อกล้ายางดังกล่าวตนต้องไปหาผู้กว้างขวางในพื้นที่ให้มารับประกันว่าจะได้ต้นกล้ายางพันธุ์ดีจากแปลงต้นกล้ามาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อนยางตาสอย ซึ่งหากคนนอกพื้นที่เข้าไปซื้อกล้ายางที่นั่นอาจจะมีการปนยางตาสอยได้ เพราะตอนนี้กำลังระบาดหนัก

"การทำกล้ายางตาสอยเพิ่งจะบูมเมื่อ 1-2 ปีมานี้ เพราะมีความต้องการนำส่งไปภาคเหนือและภาคอีสานจำนวนมาก ยางตาสอยใช้เงินลงทุนต่ำ จึงขายตามราคาที่นายหน้าต้องการได้ กล้ายางพวกนี้ส่วนใหญ่ถูกส่งไปภาคเหนือและภาคอีสานเกือบทั้งหมด ถามว่าทำไมนายหน้าถึงเอาทั้งที่รู้ว่าเป็นยางตาสอย ก็เพราะกล้ายางมาตรฐานมีไม่เพียงพอต่อการส่งมอบ กล้ายางตาสอยยังเล็ดลอดเข้ามาสู่ตลาดกล้ายางพันธุ์ดีด้วย คนใต้รู้ดีว่ายางตาสอยเป็นยางพันธุ์เลว ต้นยางโตช้า ให้น้ำยางน้อย ต้องรอ 10 ปีถึงจะเปิดกรีดได้ ไม่มีใครอยากเอาไปปลูก" แหล่งข่าวกล่าว

ซีพีแถลงยึดเกษตรกรเป็นหลัก

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพี ส่งแถลงข่าวเรื่องต้นกล้ายางคุณภาพดีจากซีพี โดยนายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีมีชื่อเสียงและประสบการณ์วิจัยพัฒนาพันธุ์พืชจนประสบความสำเร็จมานานนับสิบปีจนเป็นที่เชื่อถือของเกษตรกร ด้วยการยึดหลัก "เกษตรกรอยู่ได้ เราจึงจะอยู่ได้" ต้องคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก และคงไม่คิดฆ่าตัวตายด้วยเรื่องนี้เพราะอนาคตซีพีต้องสานต่อการผลิตยางพาราครบวงจร

นายมนตรียังรับประกันว่า ยางชำถุงทุกถุงมีคุณภาพดีตามมาตรฐานกรมวิชาการฯ กำหนด เพราะผ่านการตรวจสอบจากกรมฯ ทั้ง 4 ขั้นตอน คือ มาตรฐานต้นกล้ายาง มาตรฐานกิ่งตายาง มาตรฐานต้นตอ ตายาง และมาตรฐานการบำรุงรักษาต้นยางชำถุง

นายมนตรีกล่าวอีกว่า ในช่วงเดือน ก.ย.2547-เม.ย.2548 เป็นที่รู้กันว่าภัยแล้งส่งผลเดือดร้อนไปทั่วเพราะสถิติปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่า มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมีค่าติดลบซึ่งถือได้ว่าเกิดภาวะแห้งแล้งที่สุดในรอบ 30 ปี นอกจากนั้นยังมีภัยพิบัติจากสึนามิทางภาคใต้ เมื่อเกิดภัยแล้งจึงเกิดความเสียหายบ้างแต่ไม่ได้ตายเกือบหมดโครงการ

(อนึ่ง โครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้ว่าจ้างบริษัทซีพี ผลิตต้นยางชำถุง จำนวน 90 ล้านต้น คำว่า ยางชำถุง หมายถึงต้นกล้ายางหรือที่เรียกกันในหมู่ผู้ปลูกยางว่าต้นตอตายาง (budded stump) ซึ่งผลิตจากต้นตอยาง (stock) ติดตาด้วยตายางพันธุ์ดี (scion) แล้วบำรุงรักษาจนแตกยอดใหม่เกิดกลุ่มใบเรียกว่าวงฉัตรไม่น้อยกว่า 1 วง ส่วนคำว่า กล้ายางตาสอย** คือ การติดตาต้นตอยางด้วยตายางที่สอยลงมาจากต้นยางแก่ที่เปิดกรีดแล้ว ซึ่งไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามที่กรมวิชาการฯกำหนด ทำให้ออกดอก เติบโตช้า ได้น้ำยางน้อย)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.