|

ธปท.เร่งหาทางออกบง.-บค.
ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติเตรียมหาทางออกให้กับบง.-บค. ที่ยังไม่ได้ปรับฐานะเป็นธพ.-ธย. และไม่ควบรวมกับธนาคารพาณิชย์อื่น ระบุมีหลายทางเลือกขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของกิจการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน "หม่อมอุ๋ย" เผยอยากเห็น ธพ.ในอนาคตให้บริการลูกค้าต่างจังหวัดเท่าเทียมกับลูกค้าในกทม. ด้านนายปลิวเชื่อบง.ที่ยกระดับเป็นแบงก์มีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "2 ทศวรรษสมาคมบริษัทเงินทุน" เรื่อง "ทิศทางของบริษัทเงินทุนและสถาบันการเงินของไทยตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ว่า ทิศทางของสถาบันการเงินในอนาคตจะเหลือเพียงธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (ธพ.) และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) ตามแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Master Plan)
ทั้งนี้ บริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิต ฟองซิเอร์ (บค.) ส่วนใหญ่ปรับฐานะเป็น ธพ. และ ธย.เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงบริษัทเงินทุน 3 แห่ง คือ บง.ฟินันซ่า บง.กรุงเทพธนาทร และ บง.แอ๊ดวานซ์ ที่ยังไม่ปรับสถานะ ขณะที่ บค.เอเชีย บค. ยูนิโก้ เฮ้าส์ซิ่ง และ บค.สหวิริยา ยังคงสถานะเป็นบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อยู่
"บง.และ บค.ที่เหลืออยู่จะไม่สามารถดำรงสถานะเดิมได้ ธปท.จึงกำลังหาทางเลือกให้เปลี่ยนสถานะ แต่จะต้องเป็นแนวทางที่สถาบันการเงินสมัครใจด้วย และบริษัทเหล่านี้จะต้องไม่เสียผลประโยชน์ ซึ่ง ธปท.กำลังพิจารณาอยู่ในหลายแนวทางแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใช้แนวทางใด"
อย่างไรก็ตาม บง.ที่คงฐานะบริษัท บง.อยู่ในขณะนี้ สามารถควบรวมกับ ธพ. หรือ ธย.ได้ แต่หากไม่ต้องการควบรวมกิจการจะต้องคืนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเงินทุนให้แก่ธปท. และกลายสภาพเป็นบริษัทจำกัดที่ให้สินเชื่อโดยไม่รับเงินฝากจากประชาชน เพื่อลดภาระที่จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.อีก เพราะไม่จำเป็นต้องส่งแผนการปรับสถานะมายัง ธปท.
"ตอนนี้เป็นช่วงปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะเล็กลงแต่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า คงจะมีการขอเปิดตั้งแบงก์พาณิชย์ใหม่ ฉะนั้นสถาบันการเงินไหนยังไม่ได้เป็นแบงก์ก็สร้างฐานะให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมตัวที่จะขอเป็นแบงก์พาณิชย์ใหม่ได้" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า ในอนาคตต้องการให้ ธพ. และ ธย.ให้บริการแก่ลูกค้าอย่างดีเท่าที่จะสามารทำได้ ที่สำคัญคือควรให้บริการและให้โอกาสลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดเท่าเทียมกับลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยเพิ่มช่องทางเลือกในการออมแก่ลูกค้า เช่น ขายหุ้นกู้ หุ้นไอพีโอ และเปิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เป็นต้น
ส่วน บง.ที่เลือกเป็นธนาคารเพื่อรายย่อย หรือ ธย. นั้น ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ใหม่ทั้งหมด แต่ทำในส่วนที่ บง.มีประสบการณ์และมีความชำนาญ เช่น สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อการซื้อบ้าน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวย้ำให้ผู้บริหารสถาบันการเงินมีจริยธรรมในการบริหารงาน อย่าหวังผลประโยชน์เพื่อส่วนตน และให้คณะกรรมการอิสระเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของผู้บริหารสถาบันการเงิน
ด้านนายปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการสมาคมบริษัทเงินทุน กล่าวว่า หลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปสมาคมบริษัทเงินทุนจะยุติบทบาทการดำเนินงานลงหลังจากก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 เนื่องจากบริษัทเงินทุน 18 แห่ง ได้ควบรวมและยกฐานะเป็น ธพ. 6 แห่ง และยกระดับเป็น ธย. 3 แห่ง และยังสถานะ บง.อีก 3 แห่ง ดังนั้นสมาคมจึงเห็นควรที่จะยุติบทบาทลง
"ยอมรับว่าในระยะต่อไปจะเกิดภาวะการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ที่รุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่า บง.ที่ผ่านการยกระดับจะสามารถแข่งขันกับแบงก์ขนาดใหญ่ได้แน่นอน เพราะบริษัทเหล่านี้ผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ จึงแสดงว่าแข็งแกร่งดี และที่ผ่านมา พ.ร.บ.บริษัทเงินทุนก็มีการควบคุมคุณสมบัติที่เข้มงวดกว่า พ.ร.บ.แบงก์พาณิชย์ จึงเชื่อว่าเมื่อใช้กฎเดียวกัน ผู้บริหารของ บง. ยิ่งปรับตัวได้ แต่ขอเวลาให้ บง.ที่ยกระดับได้เรียนรู้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินสักระยะ" นายปลิวกล่าว
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวทางการหาทางออกให้แก่บง.และบค.ที่ยังคงสภาพอยู่ว่า คงจะมีหลายแนวทาง ซึ่งการควบรวมกับธนาคารพาณิชย์ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง และน่าจะเป็นแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อสถาบันการเงินเหล่านั้นที่ดีที่สุด ส่วนวิธีอื่นก็ขึ้นอยู่กับ บง. และ บค.จะเป็นฝ่ายตัดสินใจเอง ทาง ธปท.จะไม่จับคู่ให้
"ถามว่ามีแบงก์ที่ต้องการควบรวมเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าเป็นแบงก์ใหญ่เขาคงไม่อยากควบเพราะถือว่าแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับเขา เพราะบางแห่งอาจจะต้องการโตเร็ว ซึ่งการโตก็ต้องขยายธุรกิจ ขยายบุคลากร ซึ่งมันก็เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าเขามีทางออกอยู่แล้ว" นางธาริษากล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|