|

ผู้ผลิตกล้ายางยืนยันทำยางตาสอยส่งซีพี
ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มผู้ผลิตยางพันธุ์ดีตรังยืนยันมีการผลิตกล้ายางตาสอยส่งขายให้โครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ภาคเหนือ-อีสาน ฟันธงมีมากถึง 60% ที่ถูกส่งขายให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ ประสานเสียงยกเลิกสัญญาผูกขาดเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตพันธุ์ยางและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
กรณี "ผู้จัดการรายวัน" นำเสนอข่าวเรื่อง "ยางปักกลด" หรือยางธุดงค์ วางขายเกลื่อนภาคอีสานและเหนือ อันเป็นผลมาจากโครงการส่งเสริมปลูกยางล้านไร่ของรัฐบาลที่ทำให้เกิดกระแส "ตื่นปลูกยาง" กระทั่งกิ่งยางพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอและเกิดการนำกิ่งพันธุ์ยางจากต้นยางแก่เปิดกรีดแล้วที่เรียกว่า "ยางตาสอย" มาติดตาและชำถุงขายทั่วไปทั้งนอกโครงการฯ และบางส่วนปะปนเข้ามาในโครงการส่งเสริมฯ ของรัฐบาล
สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวลจากหลายฝ่ายว่าอนาคตยางพาราไทยจะพังทั้งระบบ เพราะต้นยางชำถุงที่นำไปปลูกมาจากกิ่งพันธุ์ที่ไม่ได้รับรองคุณภาพตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร ทำให้ได้น้ำยางต่ำ และก่อนหน้านี้ ทีมงานของนายเนวิน ชิดชอบ รมช.กระทรวงเกษตรฯ ขอให้พิสูจน์ว่ามีการทำยางตาสอยส่งเข้าโครงการฯ หากเป็นดังที่มีข่าวจริงจะให้กรมวิชาการเกษตรยกเลิกสัญญากับซีพี
จากเรื่องข้างต้น "ทีมข่าวจากศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ผู้จัดการรายวัน" ลงพื้นที่จังหวัดตรังแหล่งขยายพันธุ์ยางอันดับหนึ่งของประเทศอีกครั้ง และได้รับการยืนยันจากแกนนำประมาณ 10 คนของกลุ่มผู้ผลิตยางพันธุ์ (ยางตาเขียว) ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ว่า ในพื้นที่ ต. ลิพัง มีเกษตรกรที่ทำการผลิตกล้ายางที่มีการสอยกิ่งตายางจากต้นยางที่มีการเปิดหน้ายางกรีดเอาน้ำยางแล้วจริง โดยสอยเอาตายางจากต้นยางที่มีอายุเฉลี่ยเกิน 10 ปีขึ้นไป และสามารถยืนยันได้ว่า มีเกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางตาสอยในพื้นที่หลายรายที่ส่งกล้ายางขายให้แก่บริษัทซีพีเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่ผู้ปลูกยางในภาคอีสานและเหนือในโครงการส่งเสริมปลูกยาง 1 ล้านไร่ของรัฐบาลด้วย
สำหรับแกนนำกลุ่มผู้ผลิตยางตาเขียว ต. ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง อาทิ นายซุ่น แซ่เอี้ยว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลลิพัง ในฐานะประธานกลุ่ม นายอุกฤษฏ์ กระจายโภชน์ เป็นเลขานุการ กรรมการ ได้แก่ นายสุนทรรัตน์ พูลภิรมย์ นายธวัฒชัย ไกรเทพ เป็นต้น โดยกลุ่มนี้เพิ่งจะตั้งขึ้นไม่นานและเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางจำนวน 304 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่มีนายหน้าของบริษัทซีพีเข้าไปกว้านซื้อกล้ายางในพื้นที่ ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา
หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ผลิตยางตาเขียวให้ข้อมูลว่า การเข้าไปกว้านซื้อพันธุ์ยางของซีพีส่งผลให้เกิดการปั่นป่วนตลาด มีการกดราคารับซื้อจากเกษตรกร แถมหลายรายผลิตกล้ายางจำนวนมากตามคำชวนของนายหน้าบริษัทซีพีแต่กลับไม่มีการรับซื้อจริง อีกทั้งมีเกษตรกรหลายรายที่ส่งกล้ายางขายให้แก่นายหน้าซีพีไปแล้วแต่กลับยังไม่ได้รับการจ่ายเงินนานหลายเดือน ประกอบกับต้นทุนที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญหลายตัวมีราคาสูงขึ้น ขาดเงินทุนหมุนเวียน จนเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา เกษตรกรกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันหลายสิบคนเดินทางไปร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล
นอกจากนั้น ผู้ผลิตกล้ายางหลายรายในภาคใต้ยังให้ข้อมูลตรงกันว่า กล้ายางที่ผลิตและกระจายไปทั่วประเทศไทยในแต่ละปี ประมาณการได้ว่าได้จากแหล่งผลิตใน จ.ตรัง ถึงประมาณ 40% และในจำนวนที่ผลิตได้ใน จ.ตรัง เป็นของผู้ผลิตใน อ.ปะเหลียน ถึงประมาณ 60%
หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ผลิตยางตาเขียวตำบลลิพังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ ต.ลิพัง ถือเป็นแหล่งผลิตกล้ายางใหญ่ที่สุดของ อ.ปะเหลียน และอาจจะประมาณการได้ว่าในช่วง 1 ปีมานี้ กล้ายางที่เกษตรกรในพื้นที่ส่งขายให้แก่นายหน้าซีพีนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกล้ายางตาสอยสูงถึงประมาณ 60%
อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มผู้ผลิตยางตาเขียว ต.ลิพัง ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้รัฐบาลมีการยกเลิกสัญญาผูกขาดซื้อกล้ายาง 90 ล้านต้นจากบริษัทซีพี ตามโครงการส่งเสริมการปลูกยาง 1 ล้านไร่ในภาคอีสานและเหนือ เนื่องจากเวลานี้ได้สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในวงการผู้ผลิตกล้ายางอย่างหนัก และถ้ามีการยกเลิกสัญญาจริงประโยชน์ต่างๆ จะได้ตกถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนยักษ์ใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
สับสนคุณภาพยางตาสอย
แกนนำกลุ่มผู้ผลิตยางตาเขียว ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ยังระบุด้วยว่า การทำยางตาสอยในพื้นที่เพิ่งจะบูมขึ้นมาในช่วง 1-2 ปีมานี้ หลังจากที่มีนายหน้าของบริษัทซีพีเข้าไปกว้านซื้อกล้ายางเพื่อส่งให้แก่โครงการขยายพื้นที่ปลูกยางล้านไร่ในภาคอีสานและเหนือ โดยยืนยันได้จากมีเกษตรกรในพื้นที่หลายรายนำสวนยางที่เปิดกรีดเอาน้ำยางไปแล้ว ใช้วิธีรานกิ่งต้นยางแล้วเปลี่ยนเป็นแปลงกิ่งตายาง เพื่อสอยเอากิ่งที่แตกใหม่มาติดตากับต้นกล้าทำเป็นยางตาเขียวส่งขาย
อย่างไรก็ตาม ในความคิดของเกษตรกรผู้ผลิตยางตาเขียวจำนวนมากนั้น ต่างยังมีความเชื่อมั่นว่า กรรมวิธีการทำกล้ายางตาสอยเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำกันได้ และผลที่ได้ก็มั่นใจว่ายังเป็นต้นยางพันธุ์ที่มีคุณภาพ เมื่อเติบโตจนสามารถกรีดได้แล้วก็จะให้น้ำยางในปริมาณที่ไม่แตกต่างจากการปลูกด้วยกล้ายางพันธุ์ดีอื่นๆ ซึ่งปริมาณน้ำยางที่ได้ขึ้นอยู่กับการดูแลบำรุงรักษา รวมถึงใส่ปุ๋ยได้ถึงในปริมาณที่กำหนด มากกว่าที่จะระบุว่าเป็นการปลูกจากกล้ายางตาสอยหรือไม่
ทั้งนี้ ความคิดและความเชื่อของเกษตรกรผู้ผลิตกล้ายางดังกล่าวกลับเป็นตรงกันข้ามกับนักวิชาการภาครัฐ โดยเฉพาะจากกรมวิชาการเกษตร รวมถึงจากสถาบันวิจัยยางสงขลา ที่ยืนยันว่าการทำยางตาสอยจะทำให้ได้กล้ายางที่ด้อยคุณภาพ เมื่อนำไปปลูกแล้วจะส่งผลให้ปริมาณน้ำยางที่ได้ลดลงถึงประมาณ 30-40% เมื่อเทียบกับการปลูกด้วยกล้ายางพันธุ์ดีที่ไม่ใช่กล้ายางตาสอย
โครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และทำสัญญาผูกขาด ซื้อกล้ายาง 90 ล้านต้น จากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในระหว่าง 3 ปีที่ดำเนินโครงการ คือ 2547-2549
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|