กูรูระดับโลกสอนมวยรัฐ


ผู้จัดการรายวัน(17 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชื่อก้อง "ดร.เอ็ดวาร์ด เพรสคอทท์" แนะรัฐบาลไม่ควรใช้นโยบายการเงิน-การคลัง ลด-แลก-แจก-แถม ด้านภาษี ทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้โต ควรหันมาเน้นความสำคัญการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต พัฒนาเทคโนโลยีแทน ระบุนโยบายคลังควรทำเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่นโยบายการเงินใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพ ค้านแยกอำนาจการกำกับดูแลสถาบันการเงินออกจากอ้อมอกแบงก์ชาติ ด้าน "หม่อมอุ๋ย" ย้ำ ธปท.จำเป็นต้องกำกับแบงก์เพื่อเป็นกลไกดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ด้าน "ทักษิณ" ระดมสมองจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทำแผนรับมือโลกาภิวัตน์

วานนี้ (16 มิ.ย.) ศ.เอ็ดวาร์ด ซี เพรสคอทท์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2547 ปาฐกถาพิเศษที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในหัวข้อ "The Role of Central Bank" โดยมีบุคคลสำคัญ อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธปท. นายเสนาะ อูนากูล นายวิจิตร สุพินิจ นายชวลิต ธนะชานันท์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์เข้าร่วมรับฟัง

ศ.เพรสคอทท์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการศึกษาวัฏจักรเศรษฐกิจ กล่าวว่า จากกรณีศึกษาบทเรียนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 2533 ที่เผชิญกับมรสุมฟองสบู่แตกเขาพบว่า การใช้นโยบายการเงิน หรือนโยบายการคลังอาจไม่สำคัญเท่ากับการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ซึ่งประเทศไทยต้องหันมามอง พร้อมทั้งพยายามบูรณาการเศรษฐกิจให้สอดคล้องกันกับภูมิภาค และเปิดกว้างให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม

ทว่ารัฐบาลจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการกู้ยืมระยะสั้น เพราะจะเสี่ยงสูงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทุนสำรองของประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการออมในหมู่ประชาชน ให้รู้จักการจัดการด้านการเงิน และช่วยเป็นตัวกลางขจัดปัญหาหนี้สินของประชาชน

ศ.เพรสคอทท์มองว่า การเพิ่มผลผลิตจะเป็นตัวนำของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเป็นไปควบคู่กับการพัฒนาฝีมือแรงงาน การจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยที่รัฐบาลไม่ควรใช้นโยบายการเงิน-การคลังเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ซึ่งการใช้นโยบายการเงิน ควรจะเป็นไปตามทิศทางของการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาทิ ปัจจัยภายในประเทศได้แก่ เงินเฟ้อ และปัจจัยภายนอกที่กดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัด เพื่อความมั่นคงของทุนสำรองของประเทศ

"นโยบายการคลังควรใช้เพื่อการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ควรใช้นโยบายทางภาษี การใช้จ่ายภาครัฐที่มากขึ้น ทุ่มเงินงบประมาณ เพื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกล่าว

สำหรับบทบาทหน้าที่ของธปท.ศ.เพรสคอทท์ เห็นว่า การแยกอำนาจการกำกับดูแลสถาบันการเงิน โดยโอนงานกำกับสถาบันการเงินมาขึ้นตรงกับกระทรวงการคลัง ขณะที่ธปท.จะดูแลเพียงนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทางที่ดีนัก

สอดคล้องกับความเห็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ซึ่งกล่าวปิดท้ายภายหลังปาฐกถาของศ.เพรสคอทท์ จบลงว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้พยายามทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจผ่านการกำกับสถาบันการเงิน เช่น เมื่อปีที่แล้วการขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาณร้อนแรงเกินไป ขณะที่ปีนี้ได้ส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินรับรู้ถึงการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน หนี้บัตรเครดิตที่เติบโตสูง ซึ่งถ้าธปท.ไม่ได้กำกับสถาบันการเงินก็อาจจะส่งสัญญาณเช่นนี้ไม่ได้เศรษฐกิจอาจเสียหายได้

ชี้ราคาน้ำมันไม่น่ากังวล

ขณะเดียวกันช่วงเย็น ศ.เพรสคอทท์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนที่จะขึ้นบรรยายในหัวข้อ อุปสรรคความร่ำรวย ที่โรงแรมดุสิตธานี ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า ในครึ่งปีหลังของปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 3% โดยมาจากการภาคการผลิต 2% และอีก 1% คือการขยายตัวด้านรายได้ประชากร ทั้งนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อไปได้

ส่วนการที่ภาครัฐบาลของไทยได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันนั้น รัฐบาลทำถูกแล้ว และนับว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้กลไกลตลาดดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเองซึ่งหากภาครัฐไม่ปล่อยลอยตัวก็อาจก่อให้เกิดภาวะวิกฤตทางด้านน้ำมันอย่างเช่นที่เคยเกิดกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1974 ได้ ทั้งนี้แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวลอะไร เพราะราคาน้ำมันจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้นจนส่งผลให้เศรษฐกิจมีอัตราการเจริญเติบโตที่ชะลอลง แต่ปัญหาดังกล่าวได้เผชิญกันทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะน้ำมันแม้ว่าจะแพงก็ต้องนำเข้าเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต

สำหรับ "อุปสรรคความรวย" นั้น ศ.เพรสคอทท์ ชี้ให้เห็นว่า ที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าอุปสรรคของความรวยเกิดจากการออม แต่แท้จริงแล้วคืออุปสรรคที่มีต่อประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่า เพราะถ้าประเทศไหนที่ต้องเผชิญปัญหาในการผลิตมาก ก็เท่ากับว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่ปัญหาความยากจน ซึ่งสินทรัพย์ทางด้านบุคคลหรืออื่นๆ เมื่อคำนวณอัตราเสี่ยงออกมาแล้วจะมีผลตอบแทนเท่าๆ กัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการตั้งสถาบันขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่ว่านี้ เพื่อให้อุปสรรคลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ด้านการทำงาน หรือกฎระเบียบที่มากเกินไป

นอกจากนี้ การที่ประเทศใดมีคู่ค้ามากก็จะเป็นการช่วยลดอุปสรรคด้านความรวยได้มาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เพราะมีการเปิดค้าขายแบบเสรี ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจแถบละตินอเมริกากลับไม่เจริญ เพราะไม่สามารถเปิดประเทศให้ค้าขายแบบเสรีได้ ส่วนประเทศจีนนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะหลังจากเปิดเสรีก็เจริญขึ้นมา ฉะนั้นการค้าขายอย่างเสรีแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน (Free Trade Club) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ตั้ง "ทนง" รับมือโลกาภิวัตน์

ในวันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟว่า จีดีพีของไทยจะต่ำกว่า 5% ว่า เป็นการคาดการณ์ ซึ่งทำได้แต่ถ้าจะให้ถึง 5% ต้องทำงานหนักมาก สมมติถ้าตนเสียเวลาโดยใช้เหตุไปสักเรื่อง ก็อาจจะไม่ถึง 5% อย่างไรก็ตาม จะพยายามทำให้ดี ทำให้เต็มที่ ไม่นอนรอโชคชะตา พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในหัวข้อ Globalization หรือ โลกาภิวัตน์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกฯ ได้มอบการบ้านให้ไปเตรียมแผนรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์ ที่จะมีต่อภาคการค้า การลงทุน ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และการค้าบริการ โดยจากนี้ไปจะไปหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนให้เสร็จภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ แผนการรับมือกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะทำขึ้นมานั้น จะต้องมีข้อเสนอออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในเรื่องของโครงสร้างภาษี มาตรฐานสินค้า การวิจัยและพัฒนา นโยบายการส่งเสริมการลงทุน นโยบายทางด้านสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งในแต่ละเรื่องจะต้องมีการเสนอแนวทางรับมือ แนวทางแก้ไข เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศให้ชัดเจนว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

สำหรับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้และมีผลต่อเศรษฐกิจของไทย เช่น การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ระบบการค้าและการลงทุนจะเป็นไปอย่างเสรี และในกรอบใหญ่อย่างองค์การการค้าโลก (WTO) ที่หากการเจรจาที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ได้ข้อยุติการเปิดเสรีที่ตกค้างมาจากการเจรจารอบโดฮา ก็จะมีผลทำให้ไทยต้องเปิดเสรีมากขึ้น

นายทนงกล่าวอีกว่า ในเรื่องการนำเข้า ได้มีการ ประเมินแล้วว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจนทำให้ไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพราะการนำเข้าน้ำมันที่มีปริมาณและราคาสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลัก แต่ก็มีการนำเข้าอื่นๆ ที่ทำให้ดุลการค้าติดลบ เช่น ทองคำที่มีการนำเข้ามาเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.