เซ็นทรัลงัดซัปพลายเออร์ ลอจิสติกลดสต็อก4 พันล.


ผู้จัดการรายวัน(16 กรกฎาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เซ็นทรัลรีเทล แจง ปัญหาขัดแย้งกับซัปพลายเออร์เรื่อง บริการลอจิสติกหรือ RC (Replenishment Center) พบมีเพียงกลุ่ม น้อยที่ไม่เข้าใจ และปฏิเสธการส่งสินค้ามายัง RC

เผยทำเพื่อให้การบริหารสินค้ามีประสิทธิภาพ ช่วยลดสต็อกของซัปพลายเออร์ที่มีสินค้าอยู่ในเซ็นทรัลและโรบินสันกว่า 8,000 ล้านบาทให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้เงินกลับคืนสู่ซัปพลายเออร์

และเพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่ทั้งซัปพลายเออร์ และเซ็นทรัลรีเทล นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยถึงกรณีที่มีซัปพลายเออร์บางกลุ่มออกมาให้ข้อมูล

ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับบริการลอจิสติก หรือที่เรียกว่า RC (Replenishment Center) ของเซ็นทรัลในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการขนส่งสินค้าที่แพงไปนั้น

ในความเป็นจริงระบบ RC และระบบขนส่ง เป็นส่วนหนึ่งของระบบซัปพลายเชน หรือระบบที่จะดูแลสินค้าให้ได้คุณภาพตามความต้องการของลูกค้าตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงปลายทางคือผู้บริโภค

ซึ่งเป็นวิธีการที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดทำ RC นั้นก็เพื่อเพิ่มยอดขายและสามารถให้บริการที่ดีขึ้นแก่ผู้บริโภค

เนื่องจากระบบลอจิสติก จะทำให้ซัปพลายเออร์ สามารถส่งสินค้าไปยังที่เดียวได้ทุกวัน และทาง RC ก็สามารถส่งสินค้าไปยังทุกสาขาได้ทุกวันเช่นกัน หน้าร้านก็ไม่ต้องสต็อกสินค้ามากเกินไป ทำให้ซัป-

พลายเออร์สามารถวางสินค้าที่ขายดีได้มากขึ้น โอกาส ในการขายย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนสต็อกสินค้าทั้งหมดของซัปพลายเออร์ 2,200 ราย ที่ส่งสินค้าให้แก่เซ็นทรัลรีเทล

จำนวน 30 สาขาทั่วประเทศ โดยคิดเป็นมูลค่าของสต็อกทั้งหมดกว่า 8,000 ล้านบาท หรือเท่ากับ 4 เดือน โดยทางเซ็นทรัลรีเทลจะพยายามลดลงให้เหลือ 3 เดือน 2 เดือน และ 1 เดือน ตามลำดับ หรือจาก

8,000 ล้านบาทให้เหลือเพียง 4,000 ล้านบาท โดยมูลค่าที่ลดลงได้ถึง 4,000 ล้านบาทนั้นก็จะกลับคืนไปสู่ซัปพลายเออร์นั่นเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยสาขาในกรุงเทพฯจะใช้เวลาในการจัดส่ง 24 ชั่วโมง ส่วนต่างจังหวัด 48 ชั่วโมง และสามารถส่งสินค้าให้แต่ละสาขาได้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยลดปัญหาเรื่องสินค้าขาดตลาด

หรือไม่มีสินค้าให้ลูกค้า เช่น กรณีสินค้าประเภทรองเท้า พบว่าลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้ามีประมาณ 30% ทำให้เสียโอกาสในการขายเป็นอย่างมาก

"ระบบนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ซัปพลายเออร์รายกลางและรายเล็กที่จะทำให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น อันเนื่องจากประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าดีขึ้น

รวมทั้งการบริหารสินค้าภายในก็จะเกิดการไหลเวียนสินค้าดี ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เวลาที่เหลือในการพัฒนาสินค้าใหม่ให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยที่ผ่านมาเราได้นำวิธีการจัดส่งสินค้าแบบ

นี้มาใช้กับเพาเวอร์บาย ผลปรากฏว่าสามารถลดสต็อก ลงได้ถึง 500 ล้านบาท" นายทศกล่าว อย่างไรก็ตาม จะมีซัปพลายเออร์กว่า 400 รายที่ไม่ต้องเข้ามาใช้บริการในระบบ RC ของบริษัท ได้แก่

ซัปพลายเออร์ที่ส่งสินค้าเข้ามาขายในเครือซีอาร์ซีไม่กี่สาขา เช่น 2-3 สาขา, ซัปพลายเออร์ที่ขายสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสินค้าประเภทกาละมังพลาสติก

หรือสินค้าที่ปริมาตรมากแต่ราคาน้อย และซัปพลายเออร์ที่จำหน่ายสินค้าราคาแพงมากๆ อาทิ เครื่องเพชร นาฬิกาหรู เป็นต้น นายทศกล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้เริ่มระบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.

2545 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีซัปพลายเออร์ที่ได้เซ็นสัญญาที่จะส่งสินค้ามายัง RC แล้ว 1,400 ราย คิดเป็น 65% ของซัปพลายเออร์ทั้งหมด และมี 4% ที่อยู่ระหว่างเจรจา ส่วนอีก 31%

สมัครใจที่จะส่งสินค้าไปยังสาขาในเวลากลางคืน ซึ่งในกลุ่มสุดท้ายนี้ คิดเป็นจำนวน 112 รายที่ปฏิเสธจะเข้าระบบ RC ของเซ็นทรัล เช่น กลุ่มไอ.ซี.ซี. ของเครือสหพัฒน์

ที่มีระบบการจัดส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยปัจจุบันสามารถลดสต็อกได้เหลือเพียง 2 เดือน และในอนาคตจะพยายามลดสต็อกลงเหลือเพียง 45 วัน

"ในรายที่มีปัญหาไม่ยอมเข้าระบบส่วนใหญ่จะเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ แต่ทางซีอาร์ซีก็ยังต้องเจรจาต่อไปเพราะเชื่อว่าการเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมดน่าจะส่งผลดีมากกว่า

เพราะในอนาคตเราจะต้องพัฒนาไปสู่ระบบซัปพลายเชน แมเนจเม้นท์ ที่สมบูรณ์แบบเพื่อให้การบริหารจัดการสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด" นายทศ กล่าวว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ก็คือ เรื่องของการเก็บค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆทั้ง 30 สาขา โดยเบื้องต้น ซีอาร์ซีได้คิดค่าเฉลี่ยในการขนส่งสินค้าจากซัปพลายเออร์ที่ 0.6-0.8%

จากราคาสินค้า ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นค่าขนส่ง แล้วซัปพลายเออร์อาจมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าขนส่งเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าซัปพลายเออร์แต่ละ

รายจะมีมาตรฐานหรือหลักในการพิจารณาต้นทุนค่าขนส่งอย่างไร เช่น มีการนำค่าเสียเวลาของพนักงานขับรถที่ต้องไปรถส่งของเข้าสาขาครั้งละ 2-3 ชั่วโมงมารวมอยู่ในต้นทุนค่าขนส่งด้วยหรือไม่

เป็นต้น "สินค้าที่จำหน่ายในห้างกว่า 2 แสนรายการ มีราคาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การคิดค่าขนส่งก็อาจ จะไม่เท่ากัน แต่จะไม่ใช้วิธีการชั่งน้ำหนักเพราะจะทำให้เสียเวลาและไม่สะดวกในทางปฏิบัติ

สิ่งที่นำมาใช้ในการคำนวณราคาก็คือ การเอาราคาสินค้าในเอกสารมาใช้คำนวณค่าขนส่งซึ่งน่าจะสะดวกกับทุกฝ่าย ทำให้การส่งสินค้าไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเสียเวลา และสินค้าไปถึงสาขาเร็วขึ้น"

นอกจากซีอาร์ซีจะให้บริการในการจัดส่งสินค้า แล้ว ยังมีบริการรับสินค้าคืนจากสาขา รวมทั้งบริการส่งสินค้าแถมเมื่อมีโปรโมชั่น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังรับประกันสินค้าที่ราคาทุน 100% นายทศ

กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างซัปพลายเออร์และบริษัทก็คือ ซัปพลายเออร์เข้าใจว่าเซ็นทรัลรีเทลตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการหากำไรจากการสร้างระบบ RC

ซึ่งในความเป็นจริงซีอาร์ซีไม่ได้ทำเพื่อผลกำไร แต่ต้องการสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นและต้องการคุมสต็อก รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมียอดขายเพิ่มขึ้น 1-15%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.