บุญรอดฯ ชงยื่นเก็บภาษีน้ำเมา ชูโครงร่างใหม่รัฐได้เพิ่ม 50 สต.


ผู้จัดการรายวัน(16 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บุญรอดฯ ชงเรื่องยื่นร่างการจัดเก็บภาษีน้ำเมาตามปริมาณดีกรี 550 บาทต่อลิตร แห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เสนอรัฐชูโครงร่างใหม่ ภาครัฐเก็บภาษีได้เพิ่มเกือบ 50 สตางค์ต่อขวด ยันคำนวณตามดีกรีมีแต่ได้ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมน้ำเมาสู่กติกาเดียวกัน และเทียบชั้นสากล แถมมีสิทธิ์ดันการส่งออกฉลุยเจริญรอยตามญี่ปุ่น ล่าสุดควานหาผู้ประกอบการน้ำเมาเป็นแนวร่วม

นายสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ ไทเบียร์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีแนวทางที่จะจัดเก็บภาษีโดยคำนวณปริมาณดีกรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ หนึ่งในผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ออกมาแสดงความเห็นด้วยเกี่ยวกับวิธีการปรับโครงสร้างภาษีโดยคำนวณจากปริมาณดีกรีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากปัจจุบันโครงการอัตราการจัดเก็บภาษีจะคิดตามมูลค่ามาตลอด

ล่าสุด บริษัทบุญรอดฯ ได้ร่างโครงสร้างการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีเพื่อให้ภาครัฐพิจารณา โดยให้คิดตามปริมาณดีกรี 550 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือภาษี 1 ลิตร 100 ดีกรีเท่ากับ 550 บาท ดังนั้น 1 ลิตรมี 6 ดีกรี เท่ากับ 33 บาท แต่ถ้า 0.630 ลิตร 6 ดีกรี เท่ากับรัฐจะเก็บภาษีตามปริมาณดีกรี ได้ภาษีขวดละ 20.79 บาท

จากก่อนนี้รูปแบบการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีซึ่งประเทศไทยมีแต่ภาครัฐไม่ได้นำมาใช้ เนื่องจากเป็นวิธีการจัดเก็บภาษีได้ในปริมาณที่ต่ำคือ แค่ 3.78 บาท โดยคิดอัตราภาษี 1 ลิตร 100 ดีกรี เท่ากับ 100 บาท ดังนั้น 1 ลิตร 6 ดีกรี เท่ากับ 6 บาท ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐเลือกจัดเก็บภาษีตามมูลค่า ร้อยละ 55 ดังนั้นภาษีสุราขวดละ 36.95 X 0.55 เท่ากับ 20.3225 บาท คือภาษีที่ภาครัฐได้เมื่อคิดตามมูลค่าในปัจจุบัน

โครงสร้างจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีที่บริษัทนำเสนอเป็นโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีในอัตราที่บริษัทเสนอ ภาครัฐจะจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 20.79 บาท ส่วนหากคิดอัตราภาษีตามมูลค่า หรือระบบในปัจจุบันจะได้เพียง 20.3325 บาท นอกจากนี้ โครงสร้างที่บริษัทเสนอไปนั้นยังไม่ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับขึ้น แต่อาจจะได้กำไรลดลงบ้าง จากเดิมบริษัทจะมีรายได้เบียร์ 14 บาทต่อขวด โดยขณะนี้บริษัทกำลังหาแนวร่วมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างภาษีโดยคิดตามปริมาณดีกรี

ปัจจุบันวิธีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีของแอลกอฮอล์ เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ทั่วโลกใช้กัน อาทิ ในประเทศญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งหากประเทศไทยนำมาใช้ นอกจากจะช่วยสร้างการแข่งขันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ซึ่งรวมทั้งเบียร์อยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันหมดแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าที่ดีกรีต่ำขึ้นมาแข่งขัน รวมทั้งยังสามารถขยายตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากในตลาดเบียร์ต่างประเทศโดยมากปริมาณ ดีกรีจะต่ำ แต่ที่ผ่านมาเบียร์ไทยมีดีกรีถึง 5.7-6% ทำให้เข้าไปทำตลาดได้ยาก เพราะต้องเจอภาษีในราคาที่สูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

"หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยคิดตามปริมาณดีกรี ตั้งแต่ ปี 2533 ขณะนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก ญี่ปุ่น อาทิ อาซาฮี, ซันโตรี่ และกิริน สามารถขยายตลาดต่างประเทศได้ทั่วโลกแล้ว ทั้งนี้หากแนวทางปรับโครงสร้างภาษีตามปริมาณดีกรีเกิดขึ้น คาดว่าจะผลักดันให้บุญรอดฯ ขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปัจจุบัน 4% โดยมีตลาดหลัก สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเพื่อนบ้าน"

นายสันติกล่าวถึงปัญหาโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน โดยการเลือกใช้วิธีเก็บภาษีแบบไม่คงที่ เหล้าราคาถูกในตลาดระดับล่างจะคิดตามความแรงดีกรี เหล้าราคาแพงในตลาดระดับบนจะคิดตามราคาขาย ส่งผลให้คนไทยที่เคยดื่มสุราราคาแพง หันไปดื่มสุราราคาถูกเพิ่มมากขึ้น จากในปี 2540 คนไทยมีการบริโภคเหล้าในตลาดล่างและกลางประมาณ 5.2 ล้านลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หลังจากมีการขึ้นภาษีปี 2546 การบริโภคเหล้าระดับล่างและกลางของคนไทยเพิ่มขึ้นมาถึง 3.36 เท่า

สำหรับผลจากการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ ผู้ประกอบการรวมทั้งบุญรอดฯ ด้วย จะได้รับผลกระทบในเรื่องยอดขายที่ลดลงแน่ ส่วนในเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ผ่านมาการตัดสินใจซื้อเบียร์หลักๆไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ แต่ขึ้นอยู่กับราคาเป็นปัจจัยหลักมากกว่า ทำให้แม้ว่าโครงสร้างตลาดผู้ประกอบการจะหันมาผลิตเบียร์ดีกรีต่ำลงสู่ตลาดมากขึ้นก็ไม่ส่งผลกระทบ นอกจากนี้คนไทยยังได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในดีกรีที่ต่ำลงด้วย ทั้งนี้บริษัทอยากให้การปรับโครงสร้างภาษีมีความชัดเจนว่า จะจัดเก็บอย่างไรภายในปีนี้ ขณะเดียวกันยังได้วางแผนที่จะผลิตเบียร์ดีกรี 2-3% ออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ หากมีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรี

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการจัดภาษีในลักษณะดังกล่าวจะเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า นายสันติกล่าวว่า การจัดเก็บดังกล่าวไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการนำเข้ามากนัก เพราะมีกำแพงภาษีศุลกากรสกัดสินค้านำเข้าอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับกับการแข่งขันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบการวงการเบียร์ ประกอบด้วย 3 รายหลัก ได้แก่ กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยมีสินค้า เบียร์ช้าง อาชา มีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 50% ส่วนบุญรอด บริวเวอรี่ ประกอบด้วย เบียร์สิงห์ ไทเบียร์ ลีโอ กว่า 40% และบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิก บริวเวอรี่ จำกัด มีสินค้า ไฮเนเก้น ไทเกอร์ 6%

"สำหรับเป้าหมายของการปรับโครงสร้างภาษีจากทางภาครัฐในครั้งนี้ นอกเหนือจากต้องการรณรงค์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยให้ลดลง รวมทั้งลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ อาจเกิดจากการที่ภาครัฐต้องการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยการนำเข้าน้ำมัน" นายสันติกล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.