|
"เบียร์ช้าง" ไม่เลิกเข้าตลท. ฤกษ์ยื่นกระจายหุ้นก.ค.นี้
ผู้จัดการรายวัน(14 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บล.ไทยพาณิชย์ เดินหน้าดัน 2 หุ้นยักษ์ใหญ่ "กฟผ.-เบียร์ช้าง" เข้าตลาดหุ้นไทยปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีนี้ ระบุเป็นการระดมทุนไอพีโอครั้งประวัติศาสตร์ของตลาดทุนไทย ด้วยมีสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาทซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้มาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอีก 5-10% "เบียร์ช้าง" ปรับโครงสร้างคืบหน้า 80% วงในคาดยื่นไฟลิ่งขอกระจายหุ้นเดือนกรกฎาคมนี้
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้าง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำทั้ง 2 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าขณะนี้ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 บริษัท จะสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้ภายในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปี 2548 นี้
ทั้งนี้ คาดว่าการเข้าจดทะเบียนใน ตลท.ของ กฟผ. และบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ของตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5-10% และจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศ มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น
"กฟผ.กับไทยเบฟเวอร์เรจส์ ถือเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่มาก โดยมีสินทรัพย์ของแต่ละแห่งประมาณแสนล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทจะถือเป็นการระดมทุนหุ้นไอพีโอที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ก่อตั้ง" หม่อมหลวง ชโยทิต กล่าว
ในส่วนของไทยเบฟเวอร์เรจส์นั้น ขณะนี้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรไปแล้วประมาณ 80% เช่นเดียวกับ กฟผ.ซึ่งก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในส่วนของกฟผ.นั้นถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นการกระจายหุ้นจะยึดแนวทางการกระจายในรูปแบบหุ้นรัฐวิสาหกิจคือ จะไม่มีการจัดสรรให้แก่ผู้มีอุปการคุณ และจะกระจายผ่านธนาคารพาณิชย์ไปสู่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นกระจายให้นักลงทุนอย่างทั่วถึง ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์นั้นจะเป็นผู้จัดสรรให้แก่นักลงทุนสถาบันเท่านั้น
ปัจจุบันนี้ตลาดทุนไทยมาร์เกตแคป 30% เป็นหุ้นที่มาจากกลุ่มพลังงาน ดังนั้นจึงเห็นว่าควรที่จะทำให้มีสัดส่วนที่ให้มีความสมดุลในกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่นหุ้นกลุ่มยานยนต์ ซึ่งธุรกิจมีแนวโน้มจะเติบโต และรัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อที่จะให้ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์เอเชีย ดังนั้นจึงมองว่าควรที่จะดึงบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจดังกล่าวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
หุ้นใหม่ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2547 ที่ผ่านมา จะเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กๆ ซึ่งมีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 60 บริษัท และหุ้น 2 ใน 3 ราคาปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าจอง แสดงให้เห็นว่าถึงคุณภาพของบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียน ดังนั้นจึงต้องการเตือนนักลงทุนที่จะเข้าลงทุนในหุ้นจองควรที่จะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนที่จะเข้ามาซื้อ
ขณะเดียวกัน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินก็ควรที่จะเลือกบริษัทที่มีคุณภาพเข้ามาจดทะเบียน รวมถึงผู้สอบบัญชีด้วยเช่นกัน เพราะมิฉะนั้นจะทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็จะมีปัญหาด้านงบการเงิน จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาตรวจสอบ
นายกฤช เอทเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า หุ้นกฟผ.เป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจซึ่งจะกระจายผ่านธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะสามารถดึงเงินฝากจากนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเปิดบัญชีได้ ซึ่งนักลงทุนดังกล่าวจะลงทุนในระยะยาว เพื่อหวังผลตอบแทนในแง่ของเงินปันผลเป็นหลัก ดังนั้นจึงเชื่อว่าการที่มีหุ้นขนาดใหญ่เข้ามาระดมทุนนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นแต่อย่างใด เพราะเงินที่เข้าลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จะเป็นเงินทุนของนักลงทุนหน้าใหม่เป็นส่วนใหญ่
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับธุรกิจต้องห้ามสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากมีกระแสข่าวว่ามีบริษัทที่อยู่กลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเข้ามาจดทะเบียนได้มีกลุ่มผู้คัดค้านออกมาคัดค้านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของเบียร์ช้างจำนวนมาก
ปัจจุบันจึงยังไม่มีบริษัทที่ทำธุรกิจแอลกอฮอล์ยื่นขอเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับกรณีของบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์ ยังไม่มีการยื่นเอกสารเข้ามา ดังนั้น ตลท.จึงยังไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการยื่นเรื่องดังกล่าวเข้ามา ตลท.ก็พร้อมจะพิจารณา
ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คาดว่าบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์จะสามารถปรับโครงสร้างได้เสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ และจะเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชน (ไอพีโอ) ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ก่อนหน้านี้บริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์ หรือ เบียร์ช้าง ถูกคัดค้านจากกลุ่มผู้คัดค้านการนำธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯจากเครือข่ายประชาชนจำนวนหลายองค์กร รวมทั้งเครือข่ายองค์กรเยาวชน และพระภิกษุสงฆ์ร่วมแสดงความเห็นคัดค้าน โดยมีการเดินทางมาชุมนุมคัดค้านหน้าบริเวณอาคาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประท้วงมากที่สุดในวันที่จะมีการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีวาระการพิจารณาบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจส์ จนคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องแถลงเลื่อนพิจารณาวาระดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|