|

ธปท.เฮรับคุมนอนแบงก์รอเวลาอีก 2-3 วัน พร้อมแจกแจงเกณฑ์คุมสินเชื่อบุคคล
ผู้จัดการรายวัน(14 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.คาดประกาศใช้มาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลของนอนแบงก์ภายใน 2- 3 วันนี้ หลังประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ด้านรองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ "ธาริษา วัฒนเกส" เผยเตรียมเรียกผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการนอนแบงก์หารือ และทำความเข้าใจให้นอนแบงก์ต้องส่งข้อมูลให้ ธปท. ตามกำหนดของแบงก์ชาติ ส่วนกรณีที่แบงก์พาณิชย์ถือหุ้นบริษัทในเครือลงเกิน 10% ธปท.ผ่อนปรนให้ถือเกินได้ เหตุเป็นธุรกิจที่สนับสนุนด้านการเงินของแบงก์เอง
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกาศใช้มาตรการเพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ว่า ขณะนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างรอลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา และคาดว่าธปท.จะสามารถออกประกาศรายละเอียดให้สถาบันการเงินรับทราบได้ภายใน 2-3 วันนี้
หลังจากที่ออกประกาศแล้ว ธปท.จะเรียกผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์มาหารือ เพื่อชี้แจงในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจตามกฎเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อส่วนบุคคลที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
กระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องไปแล้ว ซึ่งธปท.ต้องรอก่อน อีกไม่กี่วันก็คงบังคับใช้ได้ หลังจากออกประกาศแล้วก็ต้องเชิญแบงก์พาณิชย์ และนอนแบงก์มาฟังรายละเอียดให้เข้าใจ ซึ่งนอนแบงก์จะต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานมายัง ธปท.เป็นข้อมูลเริ่มต้น และต่อไปจะต้องส่งรายงานเป็นประจำตามระยะเวลาที่ ธปท.กำหนด ตอนนี้สถาบันการเงินคงอึดอัดว่าเกณฑ์จะออกมาเป็นอย่างไร รออีกไม่นานก็จะเห็น" นางธาริษากล่าว
สำหรับสาระสำคัญในร่างที่ ธปท.ส่งไปยังกระทรวงการคลังและได้รับการอนุมัติแล้ว และเป็นไปตามแนวทางที่ธปท.ส่งไป ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้ระบุว่า ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าได้ไม่เกิน 28% ต่อปี และวงเงินที่ให้กู้ต้องไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งผู้ประกอบที่เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด จะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน บาท
นางธาริษากล่าวต่อถึงการที่กระทรวงการคลังมีแนวทางจะให้ธนาคารพาณิชย์ลดสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทในเครือลงไม่เกิน 10% โดยจะแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินที่กำลังจะร่างขึ้นมาใหม่ว่า ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 10% ได้ เนื่องจากได้มาขออนุญาตจาก ธปท.ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม เพราะเป็นธุรกิจที่สนับสนุนด้านการเงิน
"พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ มาตรา 10 กำหนดเกณฑ์ว่าต้องถือไม่เกิน 10% อยู่แล้วก็จริง แต่ตอนนี้ธนาคารส่วนใหญ่ต่างถือหุ้นบริษัทในเครือ เกิน 10% ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจด้านการเงินที่สนับสนุนธุรกิจของแบงก์ เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์, บริษัทหลักทรัพย์, แฟกเตอริ่ง ลีสซิ่ง ธปท.ก็ผ่อนผันให้ได้ เพราะเขาต้องให้บริการลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่ง ธปท. ก็เข้าใจ แต่ต้องแยกออกจากตัวแบงก์ให้ชัด" นางธาริษา กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการที่กระทรวงการคลังต้องการจำกัดการถือหุ้นไม่ให้เกิด 10% นั้น คงมีสาเหตุมาจากต้องการจำกัดหุ้นของบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินก็ได้ทยอยขายหุ้นในบริษัทเหล่านี้ออกมาบ้างแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|