|
ทักษิณอุ้มซีพีไม่ทำเสียประกันไร้ทุจริตกล้ายาง
ผู้จัดการรายวัน(14 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ทักษิณ" ยืนยันไร้ทุจริตกล้ายาง โดดอุ้ม "ซีพี" ไม่เกี่ยวกล้ายางด้อยคุณภาพ โยน ส.ส.ไม่ฟัง ก.เกษตรฯ เร่งแจกก่อน เลือกตั้งเป็นเหตุให้กล้ายางตาย ส่วนคณะ กก.สอบข้อเท็จจริงทุจริตกล้ายางไร้เงาคนนอก "เนวิน" เซ็นคำสั่งมุ่งปมยางเฉาเรื่องเดียว เมินประเด็นคุณภาพกล้า-ส่งมอบล่าช้า ประธานสอบข้อเท็จจริงฯ ครวญยางเฉาตายแล้วหาหลักฐานยาก ด้านการส่งมอบปี 48 สะดุด ซีพีระบุเกษตรกรขุดหลุมไม่ทัน แต่มั่นใจส่งเกินสัญญา เผยเกษตรกรแบกรับค่าลงทุนสูญเปล่านับร้อยล้าน
วานนี้ (13 มิ.ย.) ที่โรงแรมเกทเวย์ จ.พะเยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการนำร่องปลูกยางล้านไร่ใน จ.พะเยา ว่า ไม่มีปัญหาอะไร เพราะตนได้บอกกับทางซีพีซึ่งเป็นผู้รับเหมาและเขายืนยันว่าจะดูแลไม่ยอมให้เสียชื่อ ขาดทุนไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วงเขาจะดูแลอย่างดี และตรงไหนที่มันเสียหายหรือตายก็จะเปลี่ยนหมด ฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าเกษตรกรจะเดือดร้อนเพราะเขายืนยันว่าไม่ยอมเสียชื่อแน่นอนขาดทุนเขาก็ไม่ว่า
"บังเอิญมันเกิดในช่วงหนึ่งที่ใกล้เลือกตั้ง ซึ่งผู้แทนฯ เร่งเอาไปแจกชาวบ้านโดยที่ช่วงนั้นเขาไม่แนะนำให้นำไปปลูกเพราะฝนมันไม่มีแต่ก็ยังรีบไปแจก พอแจกไปก็ตาย พอมันตายชาวบ้านก็เลยเดือดร้อน เพราะไปปลูกแล้วตาย อันนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ กับทางซีพีจะประสานกันไปแก้ไข" พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว
เมื่อถามว่าแสดงว่าความผิดอยู่ที่ผู้แทนฯ เร่งไปแจก พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า คนมันรีบเอาไปแจกกันพอดีช่วงนั้นก่อนเลือกตั้งนิดหน่อยคล้ายๆ กับคงบอกว่าประชาชนทวงแล้วถึงเวลาแล้วต้องเอาไปให้ขณะที่ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ไปเบรกว่าฝนมันไม่มีเดี๋ยวไปปลูกแล้วตาย และมันก็ตายจริงๆ แต่ทั้งหมดก็มีไม่มาก
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่าไม่เกี่ยว ถ้าเป็นเรื่องทุจริต ทางซีพีก็ไม่ต้องมารับผิดชอบหรอก ซีพีเขายืนยันเลยว่าพร้อมที่จะมาทดแทนให้โดยที่ขาดทุนเขาก็ยอม เพราะเขาไม่ยอมให้เสียชื่อ ถ้าเป็นการทุจริตเรื่องอะไรซีพีเขาจะมารับผิดชอบ
เมื่อถามว่าที่บอกว่านำไปแจกก่อนเลือกตั้งเป็นช่วงเดือนไหน พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า แถวๆ เดือนกันยายนหรืออะไรจำไม่ได้แล้ว มันเป็นช่วงนั้นช่วงก่อนเลือกตั้งที่ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งก่อนหน้าโน้นแล้ว โครงการกล้าพันธุ์ยาง 90 ล้านต้น มูลค่า 1,400 ล้านบาท ทำการประมูลในสมัยที่นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบกรมวิชาการเกษตรโดยกล้าพันธุ์ยางนำมาแจกในสมัยที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และมีการทุจริตสวมสิทธิ์เกษตรกร
ตั้งคณะ กก.สอบฯ ไร้เงาคนนอก
นายศุภชัย บานทับทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงการทุจริตโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ กล่าวว่า ได้รับคำสั่งกรอบการตรวจสอบประเด็นทุจริตในโครงการดังกล่าว ซึ่งลงนามโดย นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) โดยคำสั่งดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวได้ตีกรอบการสอบสวนกรณีปัญหายางพาราในปี 2547 กรณีที่เกษตรกรระบุว่ายางที่ได้รับมอบเป็นยางเฉาประเด็นเดียว ซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์ว่าที่เกษตรกรระบุว่ายางในโครงการตายเพราะเฉานั้น เฉาก่อนส่งมอบหรือหลังส่งมอบ ส่วนสาเหตุเกี่ยวกับคุณภาพของกล้ายาง หรือการส่งมอบล่าช้า ไม่อยู่ในกรอบของการสอบสวนดังกล่าว
สำหรับแนวทางการสอบสวนก็ต้องดูว่ามีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดบ้าง แต่ไม่อยากให้ไปกำหนดว่าจะต้องเป็นคณะกรรมการในการส่งมอบเท่านั้น แต่จะต้องดูว่าคณะกรรมการพาดพิงไปถึงบุคคลใด อย่างไร แต่ปัญหาในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวคือ ต้นยางตายไปแล้ว จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าก่อนการส่งมอบเฉาจริงหรือไม่ หาหลักฐานยาก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพึ่งนักวิชาการด้านยางพาราจากกรมวิชาการเกษตรร่วมตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวความเสียหายของกล้ายาง จากการให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ออกแบบสอบถามเพื่อให้เกษตรกรระบุปัญหากล้ายางตาย โดยเกษตรกรระบุว่าได้รับต้นยางที่มีความสมบูรณ์ดี 10,973 ราย ในจำนวนนี้ระบุว่าต้นยางตาย 25.72% และเกษตรกรได้รับต้นยางที่มีสภาพเหี่ยวเฉา 1,201 ราย ในจำนวนนี้ต้นยางตาย 33.34% เช่นกัน
ในการแถลงข่าว นายเนวินระบุว่า ต้นยางที่ตายจากการรับมอบต้นยางที่อยู่ในสภาพเหี่ยว เฉาประมาณ 4 แสนต้น จากจำนวนยางที่ส่งมอบในปี 2547 ทั้งหมดจำนวน 16 ล้านต้น ตามสัญญา ทั้งสิ้น 18 ล้านต้น ให้ทางกรมวิชาการเกษตรเจรจากับทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ เพื่อทำการชดใช้ความเสียหาย และตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการส่งมอบดังกล่าว
ส่งมอบงวดใหม่สะดุด
นายขุนศรี ทองย้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับแผน การส่งมอบกล้ายางของงวดปี 2548 ใหม่ เนื่องจากช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ฝนตกน้อย ทำให้เกษตรกรขุดหลุมไม่ทัน จึงไม่ยอมมารับกล้ายาง
ทั้งนี้ ตามสัญญาในปี 2548 ทางบริษัทจะต้องส่งมอบกล้ายางทั้งสิ้น 27 ล้านต้น นอกจากนี้ ยังต้องส่งมอบของเดิมที่ค้างส่งมอบจากเมื่อปีที่ผ่านมาอีก 2.6 ล้านต้น ชดใช้กรณีที่ตายจากภัยแล้งอีก 8 แสนต้น ตามกำหนดการเดิมจะต้องส่งมอบในช่วงเดือน มิ.ย. 50% และเดือน ก.ค. 50% แต่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวจึงต้องปรับแผนการส่งมอบใหม่
นายขุนศรีกล่าวต่อว่า ถึงแม้จะมีปัญหาดังกล่าวทางบริษัทก็จะส่งมอบได้ครบกำหนดสัญญาแน่นอน โดยจนถึงขณะนี้บริษัทได้ส่งมอบ ยางในปีนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 8.9 ล้านต้น นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมแผนการส่งมอบนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญาด้วย โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบในปีนี้ได้ทั้งสิ้น 37 ล้านต้น
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาทางบริษัท จะแจ้งกำหนดวันให้เกษตรกรมารับกล้ายางก่อนกำหนด โดยให้ทาง สกย. จัดเกษตรกรมารับตามจุดที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้การรับมอบต้องล่าช้าออกไปจนเลยฤดูฝน ขณะเดียวกันทาง สกย. จะต้องเตรียมให้เกษตรกรขุดหลุมยางเตรียมเอาไว้เพื่อไม่ให้เสียเวลา รวมทั้งจะต้องเตรียมการอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์
แหล่งข่าว สกย. จังหวัดในภาคเหนือและอีสานกล่าวว่า ยังมีพื้นที่หลายจังหวัดที่ยังไม่ได้รับกล้ายางในปีนี้ เช่น น่าน ลำพูน กำแพงเพชร และบางพื้นที่ส่งมอบไม่ครบตามงวดสัญญาเดือน พ.ค. เช่น ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เป็นต้น
เกษตรกรแบกค่าเสียหายนับร้อยล้าน
รายงานการตรวจสอบต้นยางตายและผลดำเนินงานโครงการปลูกยางล้านไร่ เมื่อปี 2547 จาก สกย. ระบุว่า ต้นยางที่ปลูกในปี 47 จำนวน 13.4 ล้านต้น ตายเพราะกระทบแล้งกว่า 20% หรือ 2.62 ล้านต้น (90 ต้น/ไร่ รวม 29,124 ไร่) ส่วนเกษตรกรซึ่งเตรียมพื้นที่พร้อมปลูกยางแต่ไม่ได้รับยางชำถุงเมื่อปีที่แล้ว รวม 3.45 ล้านต้น (38,385 ไร่)
จากตัวเลขดังกล่าวเมื่อประมาณการค่าลงทุน เตรียมพื้นที่ปลูกและค่าต้นยางชำถุงประมาณ 1,500 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายร่วม 100 ล้านบาท ซึ่งค่าลงทุนเตรียมพื้นที่และค่าเสียโอกาสของเกษตรกรทางกระทรวงเกษตรฯ และบริษัทซีพีไม่รับผิดชอบแต่อย่างใด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|