ผ่าทางตันสัญญาร่วมการงานแสงสว่างปลายอุโมงค์เปิดเสรี


ผู้จัดการรายวัน(13 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บทสรุปจากการประชาพิจารณ์แผนแม่บทโทรคมนาคม สะท้อนภาพการแปรสัญญาร่วมการงานยากที่จะเกิด ในขณะที่หากจะให้อุตสาหกรรมเดินหน้า มี 3 แนวทาง ที่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมวิเคราะห์ไว้อย่างการเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับด้านเดียวเป็นผู้ให้ของทีโอที การโอนย้ายลูกค้าไปสู่บริษัทที่ได้ใบอนุญาตใหม่ตามกลไกของตลาดและการพัฒนาของเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงของส่วนแบ่งรายได้ และแนวทางแก้ปัญหา Access Charge

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่กล่าวว่าภายหลังการทำประชาพิจารณ์แผนแม่บทโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนประการแรกคือความปรารถนาของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเรื่องการแปรสัญญา เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นเพราะติดเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของโครงข่ายที่เอกชนโอนให้รัฐตามสัญญาร่วมการงานแบบ BTO

ในขณะที่ความคิดของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ว่าเงื่อนไขในใบอนุญาตน่าจะนำไปสู่การแปรสัญญาได้นั้น ก็อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหากค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับการได้รับใบอนุญาตไม่สูงมาก จนเกิดนัยสำคัญเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละปีก็ยากที่จะเกิดการแปรสัญญา

อย่างเช่น หากทีโอทีได้รับส่วนแบ่งรายได้ปีละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ใบอนุญาตใหม่มีต้นทุนภาระเพียง 2 พันล้านบาท ทีโอทีก็ต้องการรักษาสัญญาไว้จนถึงที่สุด เพราะหักกลบกันแล้วทีโอทียังเหลือเงินอีก 1.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กทช.ก็ไม่สามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่สูงได้ เพราะจะถูกโจมตีว่าเป็นการกีดกันรายใหม่

สำหรับทางออกของคู่สัญญาเดิม หลังจากวิเคราะห์แล้วทำได้ 3 แนวทาง คือแนวทางแรกเอกชนเดิมไป ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยดำเนินกิจการแบบขอเช่าใช้โครงข่ายจากบริษัทเดิมที่มีสัญญาผูกพันในราคาถูก และโอนลูกค้าไปที่บริษัทใหม่ ปล่อยให้กิจการเดิมซบเซาไปและจ่ายส่วนแบ่งลดลงจนถึงขั้นระดับการประกันรายได้ขั้นต่ำของสัญญา (Minimum Guarantee)

ตัวอย่างเช่นดีแทคตั้งบริษัทใหม่ ชื่อดีจุยซ์ ให้บริการโทรศัพท์มือถือเช่าโครงข่ายจากดีแทค และพยายามถ่ายโอนลูกค้าไปที่ดีจุยซ์ ส่วนดีแทคก็จ่ายส่วนแบ่งรายได้ลดลงตามการทำรายได้ที่ลดลงจนถึงระดับการประกันขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในแบบนี้คือทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคม อาจฟ้องยับยั้งสิทธิไม่ให้บริษัทใหม่มาเช่าใช้โครงข่ายที่ถือว่าได้โอนแล้ว ขณะเดียวกันเอกชนก็ฟ้องกลับว่า มีสิทธิในการใช้โครงข่ายไปตลอดอายุจึงน่าจะให้เช่าได้ และทีโอที กสท ยังอาจฟ้องว่าเอกชนทำให้กระทบต่อสัญญาเดิม เพราะได้รับส่วนแบ่งรายได้ลดลงซึ่งขัดกับกฎหมายที่บอกว่า "ต้องไม่กระทบสัญญาสัมปทานเดิม" เช่นเดียวกันเอกชนก็ฟ้องกลับว่าขัดต่อหลักการแข่งขันเสรี และมีการให้ใบอนุญาตใหม่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากที่บริษัทเอกชนหลายรายจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การตั้งบริษัทใหม่แบบนี้อาจทำได้ยาก เพราะต้องได้รับการยอมรับจากผู้ถือหุ้นและสร้างความวุ่นวายต่อราคาหุ้น กฎเกณฑ์ในตลาดหุ้น และในความเป็นจริงมีกฎหมายเกี่ยวกับการมีอำนาจเหนือตลาด การเช่าโครงข่ายในราคาถูกเพื่อสร้างอำนาจ ในการทำการตลาดแข่งกับคนอื่น อาจถูกร้องเรียนว่าไม่เป็นธรรมต่อรายอื่น และขัดต่อหลักการในใบอนุญาต เพราะเป็นกิจการในเครือเดียวกัน แต่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันทั้ง 2 บริษัท นอกจากนี้ความถี่ของโทรศัพท์มือถือ ในยุด 2G ไม่เหลือพอให้ประกอบธุรกิจได้อีกแล้ว

แนวทางที่ 2 เอกชนเดิมตั้งบริษัทใหม่และไปขอให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G แทนเพราะความถี่ สำหรับ 2G หมดแล้ว โดยการลงทุนทั้งหมดไม่ต้องโอนให้ใคร เอกชนทยอยลงทุนและสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งเบื้องต้นอาจมีลูกค้าน้อย แต่อนาคตอันใกล้เทคโนโลยีจะค่อยๆซึมซับลูกค้าเข้ามาบริษัทใหม่ตามลำดับ ไม่ได้โอนลูกค้าแบบกะทันหันชั่วข้ามคืน

ทั้งนี้บริษัทเดิมก็จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีและกสท ตามสัญญา แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว 3 ปี สัญญาเดิมจะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนสภาพแยกออกจากกันไปเอง เมื่อกลไกการแข่งขันเกิดขึ้นตามลำดับ

ปัญหาของวิธีนี้คือ อาจมีการฟ้องร้องระหว่างเอกชนกับคู่สัญญายังมีอยู่ ตามหลักการแข่งขันเสรีเท่าเทียม ซึ่งเอกชนตั้งโจทย์ไว้อยู่แล้ว

สำหรับแนวทางที่ 3 คือทีโอที ทำบทบาทตัวเองเป็น Interconnection Clearing House อย่างชัดเจน สำหรับเอกชนตามสัญญาเดิม โดยการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ยังเดินหน้าต่อไป แต่ความเหลื่อมล้ำของแต่ละโอเปอเรเตอร์จะลดลงตามลำดับ

แนวทางนี้สนับสนุนแนวคิดของทีโอที ที่ต้องการให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายต่อผ่านโครงข่ายทีโอทีโดยให้เหตุผลว่าเป็นการอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการบล็อกสัญญาณที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะทีโอทีปัจจุบันเก็บค่าเชื่อมโยง (Access Charge) จากดีแทคและออเร้นจ์เลขหมายละ 200 บาทต่อเดือน สำหรับลูกค้าระบบโพสต์เพดและเก็บ 20% จากราคาหน้าบัตรเติมเงินในระบบพรีเพดในขณะที่เอไอเอสไม่ต้องจ่ายค่า Access Charge ให้ทีโอที

นอกจากนี้ ปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายเริ่มเข้าใกล้กันแล้ว เพราะเอไอเอสจะเริ่มจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีเป็น 30% ในระบบโพสต์เพด ในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่ DTAC จ่ายส่วนแบ่งรายได้ 20% ในระบบโพสต์เพดให้กสท แต่ในความเป็นจริงจะพบว่าฐานลูกค้าของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือจะเป็นพรีเพดเกือบทั้งหมด การที่ภาระต้นทุนของเอกชนเริ่มใกล้กัน จึงเป็นโอกาสที่ดีหากทีโอทีจะเปลี่ยนบทบาทตัวเอง และเข้าใจให้ได้ว่าทีโอทีไม่สามารถมีรายรับด้านเดียวได้ แต่ต้องจ่ายกลับคืนให้โอเปอเรเตอร์ด้วย

แนวคิด Interconnection Clearing House เช่นกรณีดีแทค อาจตั้งตัวเลขว่า 200 บาท ที่เคยจ่ายให้ทีโอทีแต่ละเดือน หมายถึงดีแทคสามารถส่งสัญญาณผ่านเข้าโครงข่ายทีโอที เพื่อส่งต่อไปโอเปอเรเตอร์ปลายทางได้ 200 นาที หากคิดการเชื่อมโยง นาทีละ 1 บาท ในขณะที่ TOT ก็สามารถส่งสัญญาณที่ได้รับจากโอเปอเรเตอร์รายอื่นเข้ามายังดีแทคได้ 200 นาทีเช่นกัน

แต่หากมีการดัมป์ราคากัน ทำให้มีการส่งสัญญาณผ่านจากรายอื่นเข้าไปดีแทคมากขึ้น เกิน 200 นาที เช่นเป็น 300 นาที เมื่อหักกลบลบกัน เท่ากับทีโอทีต้องจ่ายคืนให้ดีแทค 100 นาทีหรือ 100 บาท

"แนวคิดนี้จะทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้รับรายได้กลับไปด้วยซ้ำ ตามฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันเรื่องความเสียเปรียบเรื่อง Access Charge ที่มีอยู่"

นอกจากนั้น กทช.จะต้องให้ใบอนุญาตใหม่กับโอเปอเรเตอร์รายเดิมที่มีอยู่ทันที โดยต้องอนุญาตให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายสามารถสร้างโครงข่ายของตนเองได้ ซึ่งภายในเวลาสัก 3-5 ปี บริษัทใหม่จะมีโครงข่ายและเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติลูกค้าจากบริษัทที่ติดสัญญาร่วมการงานก็จะไหลมาบริษัทใหม่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะใช้เพื่อการปรับตัวของทั้งทีโอทีและโอเปอเรเตอร์ โดยที่ไม่ต้องไปแตะต้องสัญญาร่วมการงานเดิม ในขณะที่บริษัทใหม่ก็จะเข้าสู่ระบบใหม่ภายใต้ใบอนุญาตของกทช. คือจะต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย Interconnection Regime

"เอกชนอาจเปิดบริษัทขอทำ 3G โดยลูกค้าที่ต้องการใช้เพียง 2 หรือ 2.5G ในปัจจุบันก็อยู่กับบริษัทเก่าที่ติดสัญญาร่วมการงาน ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่สนใจก็จะเข้าไปที่แบรนด์ใหม่ทันสมัย ผ่านไประยะหนึ่งแบรนด์ใหม่ก็เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม หากทีโอทีจะเป็น Interconnection Clearing House ก็อาจมีการฟ้องร้องจากเอกชน โดยเฉพาะดีแทคและออเร้นจ์จะไม่ยอมให้คงสัญญาเดิมที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทีโอทีและกสทเพราะถือว่าเป็นคู่แข่ง นอกจากนี้ดีแทคและออเร้นจ์ จะไม่มีทางรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับเอไอเอส

"วันนี้ต้องยอมรับสัญญาร่วมการงานยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ รัฐคงต้องยอมเสียบ้างจากที่รับฝ่ายเดียว ขณะที่เอกชนก็ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องโครงข่ายแทบจะไม่มีทางออกในตอนนี้"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.